xs
xsm
sm
md
lg

ล้าหลังจีน-รัสเซีย-เกาหลีเหนือ! สหรัฐฯ ล้มเหลวทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เที่ยวบินทดสอบของระบบขีปนาวุธไฮเปอร์โนซิกในฮาวาย จบลงด้วยความล้มเหลว สืบเนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นหลังการจุดระเบิด กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (30 มิ.ย.) ก่อความผิดหวังรอบใหม่แก่โครงการนี้ที่ก้าวสะดุดมาแล้วหลายครั้ง สวนทางกับความสำเร็จของบรรดาประเทศคู่อริทั้งหลาย ทั้งจีน รัสเซียและเกาหลีเหนือ

เพนตากอนไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าเกิดอะไรขึ้นกับการทดสอบเมื่อวันพุธ (29 มิ.ย.) แต่ในถ้อยแถลงที่ส่งผ่านอีเมลไปยังสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยังคงมั่นใจว่าพวกเขายังคงอยู่บนเส้นทางของการประจำการแสนยานุภาพไฮเปอร์โซนิกทั้งด้านการโจมตีและป้องกันตนเอง ตามวันเวลาที่วางเป้าหมายเอาไว้ในช่วงต้นๆ ของทศวรรษ 2020

"ความผิดปกติเกิดขึ้นตามหลังการจุดระเบิด" นาวาโททิม กอร์แมน โฆษกของเพนตากอนกล่าว "บรรดาเจ้าหน้าที่ของโครงการได้เริ่มตรวจสอบเพื่อสรุปหาสาเหตุ และเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการทดสอบครั้งต่อๆ ไปในอนาคตแล้ว" เขาระบุ "แม้ทางกระทรวงไม่สามารถรวบรวมข้อมูลทั้งหมดของภาวะการณ์การบินตามแผนที่วางเอาไว้ แต่ข้อมูลที่รวบรวมได้จากเหตุการณ์นี้จะมอบข้อมูลเชิงลึกที่มีความสำคัญ"

ผลการทดสอบครั้งนี้ถือเป็นความล้มเหลวครั้งที่ 2 ของการทดสอบเที่ยวบินอาวุธต้นแบบ ซึ่งเรียกว่าอาวุธโจมตีอย่างฉับพลันที่ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์ (Conventional Prompt Strike) หลังจากก่อนหน้านี้เคยประสบเหตุขัดข้องกับจรวดบูสเตอร์ในการทดสอบเที่ยวบินครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน ซึ่งเหนี่ยงรั้งไมให้ขีปนาวุธพุ่งออกจากแท่นยิง

หากการทดสอบประสบความสำเร็จ ระบบอาวุธ Conventional Prompt Strike สามารถติดตั้งได้กับทั้งบนเรือพิฆาตซูมวอลต์ และกองเรือดำน้ำชั้นเวอร์จิเนีย และเวลานี้ทางกองทัพสหรัฐฯ กำลังพัฒนาเวอร์ชันยิงจากพื้นดิน โดยมีล็อคฮีด มาร์ติน คอร์ป และ นอร์ทธรอป กรัมแมน เป็นหนึ่งในคู่สัญญา

เพนตากอนรู้สึกถึงแรงกดดันให้ต้องเร่งประจำการระบบไฮเปอร์โซนิก หลังจากบรรดาคู่ปรับทั้งหลาย ในนั้นรวมถึงรัสเซีย จีนและเกาหลีเหนือ กำลังนำหน้าในระบบอาวุธนี้ที่ออกแบบมาเพื่อหลีกเลี่ยงการสกัดกั้น ด้วยการบินด้วยความเร็งเหนือเสียง 5 เท่าขึ้นไป มีความคล่องตัวและสามารถเปลี่ยนวิถีระหว่างการบิน ไปจนถึงติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์

จีนทุ่มทุนอย่างหนักในอาวุธไฮเปอร์โซนิก และเคยส่งขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกลูกหนึ่งขึ้นสู่วงโคจรในเดือนกรกฎาคมปีก่อน บินเป็นระยะทาง 40,000 กิโลเมตร เป็นเวลามากกว่า 100 นาที และในเดือนมกราคม เกาหลีเหนือ ทำการระบบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก 2 ครั้งแยกกัน ซึ่งแต่ละลูกพุ่งไปเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร ส่วน รัสเซีย เปิดตัวขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกยิงจากอากาศสู่ภาคพื้น ในปฏิบัติการโจมตียูเครน

ความล่าช้ากว่าคู่ริ ในโครงการไฮเปอร์โซนิกของสหรัฐฯ เคยกระตุ้นการโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อน ครั้งที่ ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมเข้าให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการด้านการทหารของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน

"ใช่หรือไม่ ที่เมื่อเร็วๆ นี้คุณได้เรียกประชาคมอุตสาหกรรมกลาโหมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาไฮเปอร์โซนิกเข้าพบ เพื่อสอบถามความเป็นไปได้ที่เราจะสามารถเร่งรัดให้เร็วขึ้น" ไมค์ เทอร์เนอร์ ส.ส.จากโอไฮโอของรีพับลิกันกล่าว "เรากำลังล้าหลังพวกศัตรู"

(ที่มา : บลูมเบิร์ก)


กำลังโหลดความคิดเห็น