xs
xsm
sm
md
lg

ยูเครนเซ็ง! สหรัฐฯ โลเลแผนขายโดรนติดอาวุธ ผวาเทคโนโลยีตกไปอยู่ในมือรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แผนขายโดรนติดอาวุธขนาดใหญ่ 4 ลำแก่ยูเครน ของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ มีอันต้องสะดุดลง ท่ามกลางความกังวลว่ายุทโธปกรณ์ลาดตระเวนล้ำสมัยนี้อาจตกเป็นอยู่ในมือของฝ่ายศัตรู สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าว 2 คนที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้

การคัดค้านทางเทคนิคต่อการขายโดรนดังกล่าว ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันระหว่างการพิจารณาทบทวนแบบเจาะลึกของสำนักงานความมั่นคงทางเทคโนโลยีกลาโหมแห่งกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบรักษาเทคโนโลยีอันมีค่าให้อยู่รอดปลอดภัยพ้นจากเงื้อมมือศัตรู แม้ก่อนหน้านี้แผนดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากทำเนียบขาวแล้วก็ตาม

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเป็นแห่งแรกในเดือนมิถุนายน ว่าสหรัฐฯ มีแผนขายโดรน MQ-1C Gray Eagle จำนวน 4 ลำให้ยูเครน ในขณะที่มันมีศักยภาพติดตั้งจรวดเฮลไฟร์ ที่สามารถใช้โจมตีรัสเซียในสมรภูมิรบ

อย่างไรก็ตาม เสียงคัดค้านการส่งออกโดรนดังกล่าวโหมกระพือขึ้น สืบเนื่องจากความกังวลว่าอุปกรณ์เรดาร์และลาดตระเวนที่ติดตั้งอยู่บนโดรนเหล่านี้ อาจก่อความเสี่ยงด้านความมั่นคงแก่สหรัฐฯ เอง หากว่ามันตกไปอยู่ในมือของรัสเซีย

แหล่งข่าวเปิดเผยว่าความกังวลนี้ถูกมองข้ามไปในการทบทวนเบื้องต้น แต่มันถูกหยิบยกมาพูดถึงในประชุมของเพนตากอน เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว

"การพิจารณาทบทวนด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยี เป็นแนวทางปฏิบัติมาตรฐานสำหรับการถ่ายโอนเครื่องไม้เครื่องมือกลาโหมแก่พันธมิตรนานาชาติ แต่ละเคสจะถูกทบทวนข้อดีข้อเสียผ่านกระบวนการที่กำหนดไว้ เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้ความสำคัญระดับสูงกับความกังวลด้านความปลอดภัยของประทศ" โฆษกเพนตากอนระบุ

เวลานี้การตัดสินใจว่าจะเดินหน้าหรือระงับข้อตกลงดังกล่าวกำลังถูกพิจารณาทบทวนโดยขั้นที่สูงขึ้น นั่นคือสายการบังคับบัญชาของเพนตากอน อย่างไรก็ตาม กรอบเวลาตัดสินใจยังไม่มีความแน่นอน

หนึ่งในทางออกคือเดินหน้าขายให้ยูเครนต่อไป แต่เป็นการสลับระบบเรดาร์และเซ็นเซอร์ที่มีอยู่กับบางอย่างที่มีความล้ำสมัยน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ในแนวทางนี้อาจต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะแล้วเสร็จ

ในกรณีที่กระทรวงกลาโหมตัดสินใจเดินหน้าอนุมัติขายโดรนเหล่านี้ ทางสภาคองเกรสก็ยังสามารถขัดขวางแผนดังกล่าวได้ แต่ดูเหมือนว่าทางสภาคองเกรสจะไม่มีความตั้งใจทำเช่นนั้น

ที่ผ่านมา ยูเครนใช้ระบบอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็กและพิสัยใกล้กว่านี้หลายรุ่น ในการรับมือกับกองกำลังรัสเซีย ที่รุกรานประเทศของพวกเขาในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ในนั้นรวมถึงโดรน AeroVironment AVAV.O RQ-20 Puma AE และโดรน Turkish Bayraktar-TB2

แต่ MQ-1C Gray Eagle เป็นตัวแทนของการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี เพราะว่ามันสามารถบินได้สูงสุด 30 ชั่วโมง หรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับภารกิจ และสามารถรวบรวมข้อมูลได้มหาศาลสำหรับวัตถุประสงค์ข่าวกรอง นอกจากนี้ Gray Eagle ยังสามารถติดตั้งจรวดเฮลไฟร์ทรงพลังได้สูงสุดถึง 8 ลูก

ทั้งนี้จากเอกสารงบประมาณของกองทัพสหรัฐฯ พบว่า Gray Eagle มีราคาลำละ 10 ล้านดอลลาร์

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น