xs
xsm
sm
md
lg

โลกระอุหมดยุคปลดอาวุธนิวเคลียร์ คาดศึกยูเครนยิ่งผลักดันมหาอำนาจขยายคลังแสง สถาบันวิจัยชื่อดังชี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพจากแฟ้ม) เมฆรูปดอกเห็ดลอยอยู่เหนือท้องฟ้า ระหว่างการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ บนหมู่เกาะปะการัง “บิกินี” ในหมู่เกาะมาร์แชลส์ เมื่อปี 1946 ในภาพซึ่งเผยแพร่โดยหอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ (U.S.Library of Congress)
จำนวนอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลกได้รับการคาดหมายว่าจะเพิ่มขึ้นในทศวรรษหน้า หลังจากลดลงต่อเนื่องมา 35 ปี ขณะที่ระดับความเสี่ยงซึ่งอาวุธมหาประลัยนี้จะถูกนำมาใช้งานก็สูงที่สุดในรอบหลายสิบปี ทั้งนี้เป็นผลการศึกษาของสถาบันวิจัยด้านความขัดแย้งและอาวุธยุทโธปกรณ์ชื่อดังซึ่งนำออกเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (13 มิ.ย.)

คณะนักวิจัยของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) ประเมินว่า 9 ชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์เวลานี้ อันได้แก่ อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส อินเดีย อิสราเอล เกาหลีเหนือ ปากีสถาน อเมริกา และรัสเซีย มีหัวรบนิวเคลียร์รวมกัน 12,705 ลูก ณ ต้นปี 2022 น้อยกว่าต้นปีที่แล้ว 375 ลูก และลดลงจากจำนวนกว่า 70,000 ลูกในปี 1986 ภายหลังทั้งอเมริกาและรัสเซียค่อยๆ ลดจำนวนหัวรบ “นุก” ในคลังแสงที่มีการสะสมเอาไว้ในช่วงสงครามเย็น

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ของ SIPRI ตั้งข้อสังเกตว่า ยุคแห่งการปลดอาวุธนิวเคลียร์กำลังจะสิ้นสุดลง และความเสี่ยงที่จะมีการเพิ่มจำนวนหรือยกระดับแสนยานุภาพหัวรบนิวเคลียร์ขณะนี้ถึงจุดสูงสุดทีเดียวสำหรับยุคหลังสงครามเย็น

แมตต์ คอร์ดา หนึ่งในผู้จัดทำรายงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า อีกไม่นาน โลกจะไปถึงจุดที่เริ่มมีการเพิ่มจำนวนอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งแรกนับจากสิ้นสุดสงครามเย็น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ร้ายแรงอย่างแท้จริง

รายงานนี้ยังระบุว่า หลังจากลดลงเล็กน้อยเมื่อปีที่แล้ว คาดว่า จำนวนหัวรบนิวเคลียร์กำลังจะเพิ่มขึ้นในทศวรรษต่อไป ทั้งนี้ ระหว่างสงครามในยูเครน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย เกริ่นหลายครั้งว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์

ขณะเดียวกัน หลายประเทศที่รวมถึงจีนและอังกฤษ ต่างปรับปรุงหรือเพิ่มสมรรถนะคลังแสงของตัวเอง ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

คอร์ดาสำทับว่า การดำเนินการเพื่อให้มีการปลดอาวุธในปีต่อๆ ไปจะยากขึ้นเนื่องจากสงครามยูเครน และจากการที่ปูตินพูดเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย ซึ่งทำให้มหาอำนาจนิวเคลียร์ชาติอื่นๆ ต้องทบทวนยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ของตนเอง

SIPRI ระบุว่า แม้สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี 2021 และมีการขยายสนธิสัญญา “นิวสตาร์ท” ระหว่างอเมริกากับรัสเซียออกไปอีก 5 ปี ทว่า สถานการณ์กลับเลวร้ายลงในบางขณะ

โครงการอาวุธนิวเคลียร์และการพัฒนาขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกอันล้ำยุคของอิหร่านเป็นประเด็นหนึ่งที่เพิ่มความกังวล

SIPRI ตั้งข้อสังเกตว่า จำนวนอาวุธที่ลดลงโดยรวมเป็นผลจาก “การปลดระวางหัวรบที่หมดอายุ” ของอเมริกาและรัสเซีย ขณะที่จำนวนอาวุธที่ใช้การได้ยังคง “ค่อนข้างเสถียร”
เฉพาะมอสโกและวอชิงตันครอบครองหัวรบนิวเคลียร์รวมกันถึง 90% ของทั่วโลก

รัสเซียยังคงเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ใหญ่ที่สุด ด้วยจำนวนหัวรบ 5,977 ลูกเมื่อต้นปีนี้ ลดลง 280 ลูกจากปีที่แล้ว ทั้งนี้ เป็นจำนวนรวมของหัวรบที่ติดตั้งประจำการ, ที่เก็บอยู่ในคลังแสง, และที่รอการปลดระวาง SIPRI ยังเชื่อว่า รัสเซียมีหัวรบกว่า 1,600 ลูกที่พร้อมใช้งานได้ทันที

ส่วนอเมริกาขณะนี้มีหัวรบ 5,428 ลูก น้อยกว่าปีที่แล้ว 120 ลูก แต่มีหัวรบที่ติดตั้งประจำการมากกว่ารัสเซียคือ 1,750 ลูก

ในแง่จำนวนรวมนั้น จีนมีหัวรบสูงสุดอันดับ 3 คือ 350 ลูก ตามด้วยฝรั่งเศส 290 ลูก, อังกฤษ 225 ลูก, ปากีสถาน 165 ลูก, อินเดีย 160 ลูก และอิสราเอล 90 ลูก โดยอิสราเอลเป็นเพียงชาติเดียวใน 9 ชาติที่ไม่ยอมรับอย่างเป็นทางการว่า มีอาวุธนิวเคลียร์ สำหรับเกาหลีเหนือ SIPRI ระบุเป็นครั้งแรกว่า ระบอบคอมมิวนิสต์ของคิม จองอึนมีหัวรบนิวเคลียร์ 20 ลูกในขณะนี้ อีกทั้งเชื่อว่า มีวัสดุในการผลิตหัวรบราว 50 ลูก

ต้นปีนี้ สมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็น ได้แก่ อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย และอเมริกา ซึ่งต่างเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ ออกแถลงการณ์ระบุว่า สงครามนิวเคลียร์จะไม่มีผู้ชนะและต้องไม่เกิดขึ้น” กระนั้น SIPRI ตั้งข้อสังเกตว่า ทั้ง 5 ชาติดังกล่าวยังคงขยายหรือปรับปรุงคลังแสงนิวเคลียร์ของตนให้ทันสมัย และดูเหมือนให้ความสำคัญกับอาวุธนิวเคลียร์ในยุทธศาสตร์ทางทหารของตนมากขึ้น

รายงานเสริมว่า จีนกำลังขยายคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์จำนวนมาก ซึ่งภาพถ่ายดาวเทียมบ่งชี้ว่า รวมถึงการสร้างคลังเก็บอาวุธนิวเคลียร์ใต้ดินใหม่กว่า 300 แห่ง จากข้อมูลของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ปักกิ่งอาจมีหัวรบถึง 700 ลูกภายในปี 2027

ส่วนอังกฤษประกาศเมื่อปีที่แล้วว่า จะเพิ่มเพดานสต็อกหัวรบทั้งหมด และจะไม่เปิดเผยจำนวนนิวเคลียร์ที่พร้อมใช้งานอีกต่อไป

(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น