xs
xsm
sm
md
lg

โฆษกจีนเหน็บ G7! โพสต์ภาพเทียบกลุ่ม BRICS ใครกันแน่คือสังคมโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ท่ามกลางการประชุมที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางของบรรดาผู้นำกลุ่มจี 7 และนาโต้ ทาง จ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน โพสต์ภาพๆ หนึ่งในวันอังคาร (28 มิ.ย.) เหน็บแนมกลุ่มจี 7 ที่มักถูกอ้างถึงในฐานะ "สังคมโลก" ว่าแท้จริงแล้วมีสัดส่วนแค่เพียงเล็กน้อยของประชากรโลกเท่านั้น

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนโพสต์ภาพลงบนทวิตเตอร์ส่วนตัว ตัดต่อภาพของบรรดาผู้นำกลุ่มประเทศจี 7 เทียบกับพวกผู้นำกลุ่ม BRICS โดยเขียนคำบรรยายด้านข้างว่า จี 7 มีจำนวนประชากรรวมกันที่ 777 ล้านคน ส่วนกลุ่ม BRICS เป็นถิ่นพักอาศัยของประชากร 3,200 ล้านคน

"ในครั้งถัดๆ ไป เมื่อพวกเขาพูดถึงสังคมระหว่างประเทศ คุณควรรู้ว่าพวกเขาหมายถึงอะไร" จ้าวเขียน

หลังการประชุมซัมมิตในเยอรมนีเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ พวกผู้นำจี 7 ได้ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่กรุงมาดริด เพื่อร่วมประชุมพันธมิตรนาโต้ที่นำโดยสหรัฐฯ เพื่อร่างกรอบยุทธศาสตร์ใหม่ ทั้งนี้ในการอัปเดตทางยุทธศาสตร์ใหม่ครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2010 ร่างดังกล่าวจะเพ่งเล็งจีนในฐานะ "ผู้ท้าทาย"

ขณะเดียวกัน ทางเยน สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต้ ระบุว่า "มันจะช่วยสร้างความชัดเจนแก่พันธมิตรในการมองรัสเซียในฐานะภัยคุกคามสำคัญที่สุดและโดยตรงที่สุดต่อความมั่นคงของเรา"



ไม่กี่วันก่อนการประชุมจี 7 ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน รวมถึงผู้นำบราซิล อินเดียและแอฟริกาใต้ ได้ประชุุมทางไกลซัมมิตกลุ่ม BRICS ที่เป็นข่าวน้อยกว่าจี 7 โดยทางกลุ่มตั้งชื่อตามอักษรตัวแรกของแต่ละประเทศ ในนั้น 4 ชาติติดท็อป 10 เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก และมีจำนวนประชากรมากกว่า 40% ของโลก และมีจีดีพีรวมกันคิดเป็น 30% ของโลก

แม้กลุ่ม BRICS ไม่ใช่พันธมิตรอย่างเป็นทางการในเหตุผลด้านการทหารและเศรษฐกิจ แต่บ่อยครั้งชาติสมาชิกแสดงจุดยืนเป็นหนึ่งเดียวกันคัดค้านฉันทมติของตะวันตก ยกตัวอย่างเช่นไม่มีใครในกลุ่ม BRICS ที่โหวตร่วมกับสหรัฐฯ และพันธมิตรลงมติประณามปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน ณ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในเดือนมีนาคม แถมนับตั้งแต่นั้นจีน และอินเดียยังได้ยกระดับความเชื่อมโยงทางการค้าของพวกเขากับรัสเซียมากยิ่งขึ้น

ทางกลุ่มอาจขยายขอบเขตกว้างขวางขึ้น ด้วยอาร์เจนตินา และอิหร่านสมัครเข้าเป็นสมาชิกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านให้คำจำกัดความ BRICS ว่า "เป็นกลไกที่สร้างสรรค์อย่างมาก พร้อมด้วยมีมุมมองต่างๆ ที่กว้างขวาง"

ระหว่างการประชุมร่วมพวกผู้นำกลุ่ม BRICS เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปูตินเผยว่าสมาชิกทั้ง 5 ชาติกำลังดำเนินการจัดตั้งทุนสำรองระหว่างประเทศใหม่บนพื้นฐานระบบตะกร้าเงินของประเทศสมาชิก ลดการพึ่งพิงระบบการเงินตะวันตก

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีรัสเซีย ยังเผยว่ารัฐสมาชิกของ BRICS อยู่ระหว่างการพัฒนากลไกทางเลือกที่มีความน่าเชื่อถือสำหรับการชำระเงินระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน

อีกด้านหนึ่งเว็บไซต์ Global Times ของทางการจีน รายงานว่า บรรดาผู้ค้าทั้งหลายในกลุ่ม BRICS ต่างมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะใช้เงินสกุลท้องถิ่นในกลุ่มประเทศของตนเอง โดยเฉพาะเงินหยวน เป็นอีกหนึ่งสกุลหลักในการเจรจาทำธุรกรรมทางการค้าข้ามพรมแดนระหว่างกัน โดยเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามมองหาทางเลือกอื่นนอกจากสกุลเงินดอลลาร์ ที่จะนำมาใช้เป็นตัวกลางชำระหนี้ระหว่างประเทศภายในกลุ่ม BRICS

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น