อะไรกัน! เจ้าพ่อนักบริหารระบบระดับโลกอย่างสหรัฐอเมริกาต้องประสบกับปัญหาสินค้าขาดตลาดอีกแล้ว แต่เดิมคือ กระดาษชำระ ต่อมาเป็นนมผงเลี้ยงทารก ตอนนี้วิกฤตลามไปถึงผ้าอนามัยแบบสอดที่เรียกกันว่า แทมพอน (Tampon) ซึ่งคอยแต่จะหายหน้าไปจากหิ้งสินค้าในร้านทั้งปวงทั่วสหรัฐฯ โดยมีสาเหตุจากการที่ต้องประสบกับบรรดาตัวแสบบ่อนทำลายเศรษฐกิจครบเครื่องทั้ง 3 ตัว แบบว่า Perfect Storm กันเลยทีเดียว
ตัวแรก ต้นทุนวัตถุดิบและน้ำมันเพื่อการขนส่งพากันพุ่งแพงกระฉูด
ตัวที่สอง แรงงานขาดแคลน เพราะผ้าอนามัยเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนมากพอใช้ได้เลย
และเหนืออื่นใดคือ ตัวที่สาม การขาดแคลนสิ่งของที่ต้องส่งเข้าไปในแต่ละขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่ก่อนถึงโรงงานไปจดจนที่หน้าร้าน ซึ่งเรียกกันว่า “ห่วงโซ่อุปทานโลก” (Global Supply Chain) นั้น มากมายด้วยอุปสรรคที่แก้ไขไม่ได้นับจากที่สงครามรัสเซียบุกยูเครนลุกลามและยืดเยื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาคอขวดภายในเส้นทางการขนย้ายสินค้าส่งออก เช่น ฝ้าย
ทั้งนี้ ภายในแวดล้อมของพายุสมบูรณ์แบบ Perfect Storm อันเต็มไปด้วยเคราะห์ซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น มองไม่เห็นที่ซึ่งจะพึ่งพานี้ ผู้ประกอบการในทุกจุดของห่วงโซ่จำต้องดิ้นรนดั้นด้นกันไป เผื่ออะไรๆ จะดีขึ้น
กระนั้นก็ตาม กูรูผู้เชี่ยวชาญเตือนไม่ให้ละเมอเพ้อหวัง เพราะสถานการณ์ห่วงโซ่อุปทานที่อเมริกาเผชิญอยู่ได้เข้าสู่ภาวะเดี้ยงหนัก เป็นสิ่งปกติในวิถีใหม่แห่งรอบเดือน New Normal แทบจะไม่เห็นตัวช่วยใดๆ ทั้งสิ้น
ขณะที่ผ้าอนามัยติดกลุ่มของใช้จำเป็นยิ่งยวดสำหรับวันนั้นของเดือนสำหรับสตรี แต่ความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ไม่เคยครอบคลุมถึงของใช้ไอเท็มนี้ และรัฐส่วนใหญ่ในอเมริกาไม่ได้ยกเว้นภาษีให้แก่ค่าใช้จ่ายหมวดผ้าอนามัย ยิ่งกว่านั้น ราคาผ้าอนามัยทั้งแบบสอด (เข้าภายในร่างกาย) และแบบแผ่น ล้วนแต่พุ่งแพงขึ้นมาภายในวันคืนซึ่งผู้คนต้องประหยัดกันสุดๆ เพราะเงินเฟ้อทะยานสูง และค่าใช้จ่ายทุกอย่างเขยิบแพงกันระยิบระยับทั้งเชื้อเพลิง ทั้งของกินของใช้และทั้งของจำเป็นอื่นๆ วอชิงตันโพสต์รายงาน
แทมพอนขาดตลาด หนักหนาเพียงนี้เลย
“เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ดิฉันแวะดูในร้านต่างๆ ที่นิวยอร์ก แมสซาชูเซตส์ และแคลิฟอร์เนีย - ไม่มีแทมพอนให้ซื้อค่ะ” อาลานา เซมูเอลส์ แห่งนิตยสารไทม์ นำเสนอปัญหาผ้าอนามัยขาดตลาด โดยเป็นสื่อเจ้าแรกๆ ที่เจาะลึกเรื่องนี้ไว้ในสกู๊ปเมื่อ 7 มิถุนายน 2022 โดยชี้ความผิดปกติว่าสินค้าจำเป็นต่างๆ ที่เคยขาดตลาดหนักหนาในช่วงวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ล้วนกลับมาคับคั่งบนชั้นโชว์สินค้าในซูเปอร์มาร์เกตแล้ว ไม่ว่าจะกระดาษชำระ ยีสต์ แป้งทำอาหาร แต่แทมพอนยังขาดแคลนไม่จบไม่สิ้น
อาลานา เซมูเอลส์ มิได้เป็นผู้เดียวที่ตระหนักถึงปัญหานี้
แคริน เลียต ประธานกรรมการองค์กรสาธารณกุศล Interfaith Food Pantry of the Oranges (IFPO - อิฟโป) ซึ่งบริจาคอาหารกับสิ่งของจำเป็นเพื่อดำรงชีพให้แก่ครัวเรือนต่างๆ 600 ครัวเรือนต่อสัปดาห์ โดยบริจาคผ้าอนามัยให้ด้วย เดือนละ 2 ครั้ง ได้ให้ข้อมูลยืนยันกับวอชิงตันโพสต์ ถึงปัญหาผ้าอนามัยขาดแคลนร้ายแรง
“มีสมาชิกมาหาเรา น้ำตานองหน้า บอกว่ามีรอบเดือนอยู่ ไม่มีปัญญาหาซื้อผ้าอนามัยมาใช้ อิฟโปพอจะกรุณาช่วยเหลือได้ไหมคะ” ประธานแคริน เล่าอย่างนั้น และบอกว่าอยากให้ประชาชนที่มีเงินเหลือใช้และร่วมแบ่งปันบริจาคโน่นนี่เป็นครั้งคราว ได้โปรดเห็นความสำคัญของปัญหาผ้าอนามัยด้วย การมีประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติ ผ้าอนามัยจึงเป็นของจำเป็นที่ควรจะวางบริจาคในที่ต่างๆ
เอลลิส จอย ผู้อำนวยการบริหารองค์กรผู้หญิงช่วยเพื่อนหญิงมีประจำเดือน หรือ Girls Helping Girls. Period (GHGP) ซึ่งเป็นองค์กรทำงานช่วยเหลือด้านผ้าอนามัยให้แก่สตรียากไร้ เล่าว่า เริ่มเห็นวี่แววปัญหาการขาดตลาดมาตั้งแต่ต้นฤดูใบไม้ผลิ (ราวปลายเดือนมีนาคม) กล่าวคือ มีหน่วยงานหลายแห่งทีเดียวติดต่อมาถามว่าพอจะช่วยแบ่งผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัยให้บ้างได้ไหม พอเข้าสู่เดือนเมษายน คำร้องขอทั้งแบบโทรศัพท์และอีเมลจากองค์กรช่วยเหลือด้านผ้าอนามัยอื่นๆ กระหน่ำเข้าไปมากมาย บอกว่าพวกเขามีของในคลังน้อยเหลือเกิน ไม่พอให้บริการได้ทั่วถึง
ผ.อ.เอลลิส แบ่งผ้าอนามัยให้ทุกองค์กรที่ร้องขอมาครบทุกเจ้า โดยที่ไม่มีความมั่นใจว่าองค์กรของเธอเองจะมีของไปช่วยเหลือสมาชิก GHGP ได้นานเพียงใด เพราะบริษัทที่เป็นหุ้นส่วนการกุศลนี้ต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อจะมีสินค้าป้อนร้านค้าทั้งปวงตามคำสั่งซื้อได้ครบถ้วน
“ดิฉันเห็นปริมาณผ้าอนามัยในคลังร่อยหรอลงเรื่อยๆ ค่ะ” ท่านผู้อำนวยการบอกวอชิงตันโพสต์ และกล่าวว่า “สำหรับตอนนี้ เรายังโอเคอยู่ และสำหรับ 2 เดือนข้างหน้าก็คงจะบริหารได้ หากของในคลังยังอยู่ในระดับนี้ แต่ดิฉันไม่ทราบค่ะว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงในปลายเดือนกันยายน”
ภาพสถานการณ์ผ้าอนามัยขาดแคลนในสหรัฐฯ ข้างต้นที่รายงานกันนั้นมิได้เกินจริงเลย โดยเครือข่ายร้านขายยาค่าย CVS เจ้าพ่อเบอร์สองของตลาดยาค้าปลีกอเมริกันยอมรับว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์หลายครั้งที่ผู้ผลิตหลายบริษัทไม่สามารถส่งผลิตภัณฑ์อนามัยสำหรับสตรีมาให้ได้ครบตามคำสั่งซื้อ ขณะที่ค่ายวอลกรีนส์ (Walgreens) ให้ข้อมูลแก่วอชิงตัสโพสต์ว่าโดนเหมือนกันกับสถานการณ์ที่ผลิตภัณฑ์บางยี่ห้อขาดตลาดชั่วคราวในบางรัฐบางพื้นที่
แทมพอนขาดตลาด ด้วยเหตุใหม่ในยุคโควิด-19 : กลัวจะขาดตลาดจึงตุนของ & วัตถุดิบถูกแย่งไปผลิตหน้ากาก
“ความต้องการผลิตภัณฑ์พุ่งเพิ่มขึ้นในระยะหลายเดือนนี้ เพราะว่าเมื่อผู้บริโภคเห็นผ้าอนามัยบางแบรนด์ขาดตลาด จึงตื่นกลัวว่าจะต้องเผชิญปัญหาเข้าเอง และตัดสินใจซื้อตุนไว้ เผื่อจะไม่มีของให้ซื้อในอนาคตอันใกล้” แพทริก เพนฟิลด์ ผู้เชี่ยวชาญการบริหารห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งประจำอยู่กับมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ กล่าวกับเอเอฟพี โดยหมายถึงแทมพอน ยี่ห้อ ‘แทมแพกซ์’ ของค่ายพรอคเตอร์แอนด์แกมเบิล
ผู้เชี่ยวชาญเพนฟิลด์บอกให้เทียบกับสถานการณ์ตื่นกลัวเมื่อช่วงต้นๆ ของโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ครัวเรือนต่างๆ เร่งซื้อกระดาษชำระกักตุนไว้ใช้ในบ้านอย่างมหาศาล
แต่ในส่วนของการขาดแคลนวัตถุดิบ มีสาเหตุใหม่ๆ หลายตัวที่ซ้ำเติมสาเหตุ 3 ตัวหลักข้างต้น ทั้งนี้ ในยุคที่ทุกประเทศต้องผลิต หน้ากากผ้า เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่เข้าสู่ร่างกาย วัตถุดิบจำพวกฝ้ายและพลาสติกจึงถูกดูดเข้าสู่ระบบการผลิตหน้ากากและบรรดาอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล
“ปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้วครับที่ความต้องการใช้ฝ้ายภายในสหรัฐฯ สูงเกินกว่าปริมาณผลิตภัณฑ์ที่บริษัทสามารถผลิตออกมาได้” เพนฟิลด์กล่าว
สาเหตุใหม่แห่งยุครัสเซียบุกยูเครน : วัตถุดิบติดคอขวด ขนส่งออกมาไม่ได้ แถมยังมีการเรียกสินค้ากลับโรงงาน
ในรายงานข่าวของยาฮูนิวส์ต่อปัญหาผ้าอนามัยขาดตลาดบ่อยครั้ง คราวละนานๆ ได้มีการระบุสาเหตุที่โยงไปถึงความขัดแย้งและสู้รบในศึกรัสเซียบุกยูเครน ซึ่งยืดเยื้อนานกว่า 4 เดือนแล้ว และยังมองไม่เห็นวี่แววที่จะยุติ ยาฮูนิวส์ระบุว่า ทั้ง 2 ประเทศเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบรายใหญ่กันทั้งคู่ เช่น วัตถุดิบในส่วนของฝ้าย ขณะที่สภาพอากาศแห้งแล้งในรัฐเทกซัสทำให้ผลผลิตฝ้ายภายในสหรัฐฯ มีไม่พอใช้ เว็บไซต์อินไซเดอร์รายงานอย่างนั้น ทั้งนี้ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตอยู่ในระดับไม่ถึง 21 ล้านเบลล์ต่อปี (เบลล์คือหนึ่งมัดที่น้ำหนัก 480 ปอนด์ต่อมัด) ส่วนที่สร้างปัญหามากคือ ในปี 2020 ผลิตได้เพียง 14.6 ล้านเบลล์เท่านั้น
ศึกสงครามที่รัสเซียรุกรานเข้าไปในยูเครน ทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์จากยูเครนถูกตัดขาด ไม่สามารถนำส่งไปป้อนเข้าสู่ระบบการผลิตของนานาประเทศได้ ขณะเดียวกัน ธุรกิจของรัสเซียก็ถูกคว่ำบาตร สภาพการณ์เหล่านี้สร้างปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานต่างๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ละม้ายกับที่เคยอุบัติเมื่อยุคโควิดระบาดภายในจีน ซึ่งจีนทำการล็อกดาวน์หลายหลากภูมิภาค ส่งผลให้ภาคส่งออกชะงักงัน ดังนั้น ระบบการผลิตของโลกก็พากันระส่ำไปทั่ว ซีเอ็นเอ็น บิสซิเนส วิเคราะห์ไว้อย่างนั้น
วิกฤตแบบนี้จะไม่เหมือนภาวะชะงักงันด้วยสาเหตุจากไฟไหม้วายวอด หรือสภาพอากาศแปรปรวนร้ายแรง หรือภัยธรรมชาติจำพวกน้ำท่วมมหาวิบัติในไทยที่เคยทำให้เกิดวิกฤตชิปคอมพิวเตอร์ขาดแคลนทั่วโลก เพราะเหล่านั้นเป็นปัญหาชั่วคราวที่สามารถเห็นกรอบเวลาได้บ้างว่าจะพ้นขวากหนามชีวิตได้ภายในเมื่อนั้นเมื่อนี้ ทั้งนี้ ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นอะไรที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะทำนายกรอบเวลา และดังนั้น สถานการณ์สินค้าขาดตลาดจึงน่าจะเป็นหนังม้วนยาวสไตล์เดียวกับที่ได้เห็นจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19
ขณะที่ระบบการผลิตต้องประสบสารพัดปัญหาดาหน้าเข้าไป ยังมีปัญหาความผิดพลาดในคุณภาพมาตรฐานการผลิตเพิ่มเข้าไปซ้ำเติม ทำให้มีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัยกลับเข้าโรงงาน
ในกรณีของนมผงเลี้ยงทารก ซึ่งเริ่มแรกเป็นปัญหาจากห่วงโซ่อุปทานกับแรงงานขาดแคลน และแล้ววิกฤตการณ์สินค้าขาดตลาดก็แผลงฤทธิ์รุนแรง คุณพ่อคุณแม่ทั่วสหรัฐฯ ไม่สามารถหาซื้อนมผงเลี้ยงทารกได้เลย เด็กๆ พากันป่วยน่าสงสาร กระทั่งเกิดกลายเป็นดรามาระดับประเทศ ทั้งนี้ สาเหตุมาจากการที่บริษัทแอบบอตต์ ผู้ผลิตนมผงเลี้ยงทารกรายยักษ์ของสหรัฐฯ ปิดโรงงานในมิชิแกนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ อีกทั้งยังเรียกคืนผลิตภัณฑ์ทั้งหมด หลังจากมีเด็กทารก 2 รายเสียชีวิตและจึงเกรงกันว่ามีสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์
โดยกรณีของผ้าอนามัยขาดตลาดมีสาเหตุจากการเรียกคืนผลิตภัณฑ์กลับเข้าโรงงานเช่นกัน วอชิงตันโพสต์รายงานว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 ผู้ผลิตเรียกคืนผลิตภัณฑ์กลับออกจากสต๊อกของร้านค้าปลีกถี่ๆ รัวๆ พอใช้ได้เลย กระทั่งว่าปริมาณผ้าอนามัยที่ถูกเรียกกลับโรงงานนั้นมหาศาล ทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปีกันเลยทีเดียว กล่าวคือมากกว่า 900 ล้านยูนิต!!
สาวแปลงเพศแย่งซื้อผ้าอนามัย ข้อกล่าวหาสุดเพี้ยนจาก ส.ส.สาวกอดีต ปธน.ทรัมป์
ขณะที่ฝ่ายต่างๆ ระดมสมองวิเคราะห์สาเหตุเบื้องหลังปัญหาผ้าอนามัยขาดตลาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรครีพับลิกัน รัฐจอร์เจีย นามว่ามาร์จอรี เทย์เลอร์ กรีน กล่าวโทษว่าสาวแปลงเพศแล้วเป็นต้นเหตุทำให้แทมพอนขาดตลาดในสหรัฐฯ
ทั้งนี้ มาร์จอรี กรีน ส.ส.สาวใหญ่วัย 48 ปี มีข้อมูลปรากฏบนวิกีพีเดียว่า เป็นนักธุรกิจสตรี นักการเมือง นักทฤษฎีสมคบคิดแนวขวาสุดโต่ง และเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกัน ตลอดจนเป็นผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างเข้มแข็ง นอกจากนั้น เธอไม่โอเคอย่างยิ่งกับเรื่องเกย์ไบทอมดี้และการแปลงเพศ โดยเชื่อมั่นว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์ให้มี 2 เพศเท่านั้น คือเพศชายกับเพศหญิง
ส.ส. กรีน ผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ในระดับแนวหน้า บอกว่าผ้าอนามัยขาดแคลนอาจเป็นเพราะพวกผู้ชายมาซื้อแทมพอน วอชิงตัน เอ็กซ์แซมไมเนอร์ รายงาน และรายงานด้วยว่า ส.ส.รีพับลิกันรายนี้บอกให้ไปดูเลยในห้องน้ำชายมีแทมพอนวางไว้ให้ใช้
“ดิฉันพูดจริงๆ ค่ะ คุณไปเช็กดูข้อมูลนะคะ ไปเช็กข้อมูลบนอินเทอร์เน็นดูค่ะ ทุกสิ่งเป็นเรื่องจริงบนอินเทอร์เน็ต” มาร์จอรี กรีน พูดกับพิธีกรขณะออกรายการสนทนาของ Right Side Broadcasting Network เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2022
ด้านยาฮูนิวส์ก็รายงานตรงกับวอชิงตัน เอ็กซ์แซมไมเนอร์ ว่า ส.ส.จากรัฐจอร์เจียกล่าวว่า การขาดตลาดเป็นเพราะมีการซื้อแทมพอนไปวางในห้องน้ำผู้ชายเพื่อให้ผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศได้ใช้
คำชี้แจงของค่ายยักษ์ผู้ผลิต : ‘แทมแพกซ์’ ของพีแอนด์จี และ ‘โอ.บี.’ ของเอจแวลล์ คือหนักหนาสาหัส
ผู้ที่เป็นจำเลยสังคมและมีหน้าที่ชี้แจงอย่างยิ่ง คือ บริษัทผู้ผลิต โดยในสหรัฐฯ มีค่ายใหญ่ยักษ์ด้านผ้าอนามัย 3-4 ราย
ค่ายพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล หรือพีแอนด์จี ผู้ผลิตแทมพอนยี่ห้อยอดนิยมอันดับ 1 ของประเทศ นามว่า แทมแพกซ์ ออกเอกสารแถลงข่าวแจกสื่อมวลชนบอกว่าได้เพิ่มกำลังการผลิตสู่ระดับสูงสุดและเดินเครื่องกันวันละ 24 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 7 วันกันแล้วเพื่อให้ร้านค้าปลีกได้รับผลิตภัณฑ์ไปขายอย่างต่อเนื่อง เพราะยอดสั่งซื้อแทมแพกซ์สูงขึ้นเรื่อยๆ ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา
“เราเข้าใจดีว่าผู้บริโภคจะรู้สึกขัดเคือง เมื่อตั้งใจมาซื้อแล้วไม่มีของ” บริษัทพีแอนด์จีแถลงไว้อย่างนั้น “เราขอยืนยันว่านี่เป็นสถานการณ์ชั่วคราว”
นอกจากนั้น ประธานฝ่ายการเงินของพีแอนด์จี กล่าวในระหว่างการแจ้งข้อมูลรายได้บริษัทเมื่อเร็วๆ นี้ว่า มันแพงมากและผันผวนสูงอย่างยิ่งกว่าจะได้มาซึ่งวัตถุดิบต่างๆ อย่างเช่น ฝ้ายและพลาสติกสำหรับผลิตแทมพอน บีบีซีรายงานอย่างนั้น
ด้าน เอจแวลล์ (Edgewell) อีกหนึ่งค่ายยักษ์ผู้ผลิตแทมพอนยี่ห้อโอ.บี. กับยี่ห้อเพลยเท็กซ์ ตลอดจนผ้าอนามัยแบบแผ่นยี่ห้อแคร์ฟรีกับสเตย์ฟรี ยอมรับว่ามีปัญหาการเร่งผลิตไม่ทันกับคำสั่งซื้อ เพราะระบบการผลิตมีกำลังแรงงานไม่เพียงพอหลังจากที่เกิดโรคระบาดโควิด สายพันธุ์โอมิครอน 2 ครั้งที่โรงงานแห่งหนึ่งของบริษัทในสหรัฐฯ เมื่อปี 2021 และที่บริษัทของซัปพลายเออร์ในประเทศแคนาดาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โฆษกของเอดแวลล์แจ้งแก่สื่อมวลชนทั้งปวงผ่านอีเมล พร้อมประเมินสถานการณ์ในอนาคตอันใกล้ว่า
“เราเร่งการผลิตในทุกโรงงานของเราโดยเดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อสร้างคลังสินค้าของเราขึ้นมา และคาดหมายว่าภาคส่วนต่างๆ ของเราจะกลับสู่ระดับปกติภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า” สื่อต่างๆ เช่น วอชิงตันโพสต์และอัลญะซีเราะห์รายงานตรงกัน
แต่โกเต็กซ์ ไม่มีปัญหาสินค้าขาดตลาด - - พอแทมแพกซ์เป็นของหายาก ราคาก็พุ่งแพงกันเลย จะรออะไร
กระนั้นก็ตาม ไม่ใช่ทุกยี่ห้อของผ้าอนามัยแบบสอดที่ได้รับผลกระทบหนักหนาเสมอหน้ากัน ทั้งที่ว่าต้นเหตุของปัญหาที่นำมาชี้แจงกัน ล้วนเป็นวิกฤตการณ์ของระบบเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ว่าจะเรื่องความเดี้ยงในห่วงโซ่อุปทานโลก Global Supply Chain ไปจนถึงผลกระทบจากปัญหาต้นทุนและแรงงาน!!!
ค่ายคิมเบอร์ลี-คลาร์ก ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายยักษ์ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของพีแอนด์จี โดยผลิตแทมพอนยี่ห้อยู (U) โดยโกเต็กส์แทมพอนส์ ให้ข้อมูลว่า “บริษัทไม่ได้ประสบปัญหาการผลิตสินค้าไม่ทันกับคำสั่งซื้อภายในสหรัฐฯ โดยบริษัทจะทำงานใกล้ชิดกับร้านค้าปลีกเพื่อให้มีของพรักพร้อมเสมอ” วอชิงตันโพสต์รายงาน
ทั้งนี้ ภาพประกอบสกู๊ปแทมพอนขาดตลาดอย่างดุเดือด ในสกู๊ปของไทม์ ซึ่งเห็นได้ว่าตามชั้นวางสินค้าผ้าอนามัยในซูเปอร์มาร์เกตมากมายด้วยความว่างเปล่า โดยมีห่อแทมแพกซ์ของพีแอนด์จีหลงเหลือ 1 แพกบ้าง 2 แพกบ้าง แต่ที่มุมล่างของภาพ จะเห็นห่อแทมพอนยี่ห้อยู ของโกเต็กซ์แทมพอนปรากฏคับคั่ง ชมภาพดังกล่าวได้ที่ https://time.com/6184644/tampon-shortage-supply-chain/
ปัญหาผ้าอนามัยขาดตลาดซึ่งมักจะปรากฏขึ้นมาแบบเป็นครั้งเป็นคราว ตลอดจนปัญหาความขาดแคลนด้านวัตถุดิบ เชื้อเพลิง แรงงานอันสาหัสเรื้อรัง ส่งผลให้มีการปรับราคาผ้าอนามัยสูงขึ้นกว่า 10%
ในรอบหนึ่งปีนับถึงวันที่ 28 พฤษภาคม 2022 ราคาผ้าอนามัยแบบแผ่นพุ่งสูงขึ้นโดยเฉลี่ยทั้งตลาด 8.3% ต่อหนึ่งแพก ขณะที่แทมพอนผ้าอนามัยแบบสอดพุ่งสูงกว่านั้นคือ 9.8%โดยเฉลี่ย บลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างผลสำรวจของบริษัทนีลเซนไอคิว
ด้านยาฮูนิวส์รายงานแบบแอบๆ เคืองว่า ค่ายอเมซอน เจ้าพ่อตลาดออนไลน์ ฟันเงินจากผู้บริโภคไปเรียบร้อยแล้วในยามที่แทมแพกซ์ขาดตลาดตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยขายแทมแพกซ์กล่องขนาด 18 ชิ้น แพงขึ้นมา 6 ดอลลาร์ หรือประมาณว่าต้องจ่ายเพิ่มขึ้น 200 บาท
วุฒิสมาชิกมาร์กาเรต ฮาสซาน พรรคเดโมแครต ประณามสถานการณ์นี้ว่าเป็นการโก่งราคา และทำหนังสือถึงบริษัทพีแอนด์จีให้ชี้แจงว่าบริษัทมีเหตุอันสมควรเพียงไรที่ปรับเพิ่มราคาผ้าอนามัยสูงขึ้นมาจากเมื่อปีที่แล้ว
ปลายปีจะหนักกว่านี้ ต้องให้ ปธน.ไบเดน แก้ลำด้วย Operation Fly Tampon เหมือนวิกฤตนมเลี้ยงทารกไหม
ต่อคำถามว่า สถานการณ์ผ้าอนามัยขาดแคลนจะคลี่คลายในครึ่งปีหลังหรือไม่ ซึ่งวอชิงตันโพสต์ตั้งประเด็นไปยัง เอไอที เวิลด์ไวด์ ลอจินติกส์ ผู้ให้บริการขนส่งทั้งทางน้ำ อากาศ และภาคพื้นดินระดับยักษ์ของสหรัฐฯ
คำตอบที่ได้รับคือ วิกฤตทั้งปวงที่เจอกันในขณะนี้จะย่ำแย่หนักยิ่งขึ้นในหลายๆ เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่ฤดูจับจ่ายใช้สอยขั้นสุดของปี คือเทศกาลเฉลิมฉลองคริสต์มาสและปีใหม่ เพราะจะมีการเบียดเสียดแย่งกันใช้เรือขนส่งและใช้รถบรรทุกขนย้ายวัตถุดิบและสินค้ามากกว่าช่วงใดๆ ในรอบปี วอน มัวร์ ประธานคณะผู้บริหารแห่งเอไอที เวิลด์ไวด์ ลอจินติกส์ ฟันธง พร้อมบอกตรงๆ ว่า
“ผู้บริโภคต้องทำใจยอมรับเรื่องสินค้าขาดแคลนในยุคโรคระบาดโคโรนาไวรัส ไม่ว่าจะเป็นกระดาษชำระ น้ำยาล้างมือ น้ำยาทำความสะอาด และนมผงเลี้ยงทารก มันเป็น “วิถีใหม่” ไปแล้ว เพียงแต่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ยังไม่คุ้น” วอชิงตันโพสต์รายงาน
นับเป็นเรื่องที่ต้องจับตากัน ขณะที่สาเหตุแห่งปัญหาผลิตภัณฑ์สำคัญขาดตลาด เล่นงานสหรัฐฯ หนักๆ นานๆ ต่อเนื่องไตรมาสแล้วไตรมาสเล่า ภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งอยู่ในสถานการณ์โลกชุดเดียวกันกับสหรัฐฯ ยังสามารถประคองตัวกันไปได้
เมื่อย้อนดูวิกฤตนมผงเลี้ยงทารกขาดตลาดอย่างหนัก อันเป็นเรื่องความเป็นความตายของประชากรวัยแบเบาะ หนึ่งในมาตรการที่ประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ดำเนินการเป็นกรณีฉุกเฉินนั้น ได้แก่ เร่งนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพื่อป้อนสู่ระบบการผลิตนมผงเลี้ยงทารกอเมริกัน ด้วยฝูงบินของกองทัพอากาศ ที่เรียกกันว่าปฏิบัติการ Operation Fly Formula Mission ซึ่งส่งผลให้วิกฤตดังกล่าวแผ่วจางไปจากกระแสข่าว
ผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหนักหนาจากสถานการณ์ผ้าอนามัยขาดตลาดและราคาพุ่งสูงแพงหนักหนา ลุ้นกันว่าจะได้เห็นมาตรการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและทรงประสิทธิภาพในทำนองเดียวกัน ประมาณว่า ปฏิบัติการ Operation Fly Tampon Mission เพื่อระดมนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาป้อนสู่โรงงานของ 2 ค่ายยักษ์ผู้ผลิตผ้าอนามัย ซึ่งจะปิดฉากข้อชี้แจงที่ว่าขาดแคลนวัตถุดิบจากต่างประเทศกันได้เลย
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา : วอชิงตันโพสต์ ไทม์ เอเอฟพี รอยเตอร์ เอพี วอชิงตัน เอ็กซ์แซมไมเนอร์ อินไซเดอร์ ซีเอ็นเอ็นบิสซิเนส อัลญะซีเราะห์ ยาฮูนิวส์ บีบีซี บลูมเบิร์ก)