กรมอนามัย ร่วม "ช้อปปี้" จัดทำข้อมูล เงื่อนไข ข้อกำหนด คุมเข้มขายนมผงทารกและเด็กเล็กช่องทางออนไลน์ ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.คุมการตลาดนมผง ย้ำห้ามโฆษณาผ่านสื่อ
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการควบคุมผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ว่า เรามี พ.ร.บ.การส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ.โค้ดมิลค์) เพื่อคุ้มครองแม่และครอบครัว ให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาหารทารกและเด็กเล็ก ผ่านการควบคุมวิธีการส่งเสริมการตลาดให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ซึ่งจากการรวจห้างสรรพสินค้าและร้านค้า พบว่า สถานประกอบการหลายแห่งได้ปรับตัวและปฏิบัติตามกฎหมายกำหนด แต่ปัจจุบันการขายนมผงไม่ได้จำกัดอยู่ในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าเท่านั้น ยังมีช่องทางออนไลน์เป็นทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากสะดวก รวดเร็ว
นพ.เอกชัยกล่าวว่า แม้การขายนมผงในช่องทางออนไลน์จะไม่มีหน้าร้าน แต่เจ้าของสินค้าหรือผู้ขายยังต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โค้ดมิลค์ ให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย กรมอนามัยจึงร่วมมือกับบริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Shopee ให้จัดทำข้อมูล เงื่อนไข และข้อกำหนดในการจำหน่ายนมผงสำหรับทารกและเด็กเล็ก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่กฎหมายควบคุมในศูนย์การเรียนรู้ผู้ขาย (Seller Education Shopee) ที่เป็นแหล่งรวบรวมนโยบายการขายสินค้าที่ถูกต้องบน Shopee พร้อมให้คำแนะนำการลงขายสินค้าที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้จำหน่ายนมผงสำหรับทารกและเด็กเล็กดำเนินการจำหน่ายนมผงในช่องทางออนไลน์ได้อย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สิ่งสำคัญที่ห้ามทำใน 7 ข้อ ได้แก่ 1. ห้ามโฆษณาอาหารสำหรับทารกและอาหารเสริมทารก ผ่านสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ โซเชียลมีเดีย 2. ห้ามใช้ข้อความเกี่ยวกับทารกหรือเด็กเล็ก หรือสื่อเชื่อมโยงไปถึงทารกในการโฆษณาอาหารเด็กเล็ก 3. ห้ามแจกของขวัญ นมผงตัวอย่าง คูปอง หรือขายพ่วงแก่หญิงตั้งครรภ์ แม่ และครอบครัวที่มีทารกและเด็กเล็ก 4. ห้ามติดต่อหญิงตั้งครรภ์ แม่ และครอบครัวที่มีทารกและเด็กเล็กผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม 5. ห้ามให้ของขวัญแก่บุคลากรสาธารณสุข ห้ามให้ของใช้ อุปกรณ์ต่างๆ ที่มีตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์แก่หน่วยบริการ 6. ห้ามบริษัทจัดกิจกรรม อีเวนต์ การประชุม และ 7. ห้ามบริษัทสาธิตการใช้ผลิตภัณฑ์ในสถานที่ต่างๆ นอกจากนี้ การให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ต้องเป็นจริงตามข้อมูลในฉลาก ทั้งนี้ ผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง