“จุรินทร์”ประชุม กกร. เคาะต่ออายุสินค้าและบริการควบคุม 51 รายการ ออกไปอีก 1 ปี พร้อมออกมาตรการคุมเข้มขนย้ายข้าวโพด เพิ่มอีก 3 จังหวัด 7 อำเภอ เผยสถานการณ์ ATK ดีขึ้น ราคาทั่วประเทศลดลงต่อเนื่อง 30-42% ย้ำการปรับราคาสินค้าจะใช้ “วิน-วิน โมเดล” ให้ทุกฝ่าย เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้บริโภคอยู่ร่วมกันได้ รับมีหลายสินค้าขอปรับราคาเข้ามา แต่ยังขอให้ตรึงไว้ก่อน ส่วนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยังไม่ให้ขึ้น หวั่นกระทบประชาชน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว มีมติให้ต่ออายุสินค้าและบริการควบคุมออกไปอีกเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งเป็นรายการเดิมเหมือนปี 2564 โดยสินค้าควบคุมมีทั้งหมด 46 รายการ และบริการมี 5 รายการ รวมเป็น 51 รายการ โดยให้ต่ออายุตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2565 ไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2566 ซึ่งจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมีมติเพิ่มมาตรการดูแลสินค้าข้าวโพด โดยผู้ที่จะขนย้ายข้าวโพด จะต้องขออนุญาตเพิ่มเติมในพื้นที่ 3 จังหวัด กับ 7 อำเภอ ซึ่งเดิมต้องขออนุญาตการขนย้ายข้าวโพดใน 12 จังหวัด 45 อำเภอ 1 เขต คือ ท่าเรือคลองเตย เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ ๆ มีการนำเข้า ประกอบด้วย 1.จังหวัดตรัง อ.กันตัง 2.จังหวัดระนอง อ.เมือง 3.จังหวัดกาญจนบุรีใน 5 อำเภอ คือ 1.อ.เมือง 2.อ.สังขละบุรี 3.อ.ไทรโยค 4.อ.ทองผาภูมิ และ 5.อ.ด่านมะขามเตี้ย
ขณะเดียวกัน ได้หารือถึงสถานการณ์สินค้า ATK ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้จำหน่ายได้ใน 4 ช่องทาง คือ 1.สถานพยาบาล 2.หน่วยงานของรัฐ 3.ร้านขายยา 4.อื่นๆ ที่เลขาธิการ อย. กำหนด และให้สามารถจำหน่ายได้ในทุกช่องทาง ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีประกาศกำหนดแล้ว กกร. จะปรับปรุงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ให้สอดคล้องกัน เพื่อให้ประชาชนสามารถหาซื้อ ATK ได้ในทุกช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และในส่วนของราคา มีการสำรวจพบว่าราคาในปัจจุบันถูกลงมาก เช่น ราคาที่จำหน่ายในระบบออฟไลน์ตามร้านขายยา สถานพยาบาล เป็นต้น ปรับลดลงมาถึง 30% และราคาที่จำหน่ายในระบบออนไลน์ปรับลดลงมาถึง 42%
นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับการปรับขึ้นราคาสินค้า ได้กำหนดนโยบายไว้ชัดเจน ให้ใช้ “วิน-วิน โมเดล” เพื่อให้ทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภค อยู่ร่วมกันได้ เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย และเป็นภาระแต่ละฝ่ายให้น้อยที่สุด โดยจะตรึงราคาไว้ให้นานที่สุด ตราบเท่าที่ผู้ประกอบการยังพออยู่ได้ และไม่ขาดทุนจนหยุดผลิต ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาซ้ำซ้อน นอกจากเรื่องราคาสินค้าแล้ว จะเป็นสินค้าขาดตลาด สร้างปัญหาใหม่ จึงต้องทำให้สมดุล ทั้งราคาพืชผลเกษตร ผู้ผลิตต้องอยู่ได้ และผู้บริโภคกระทบน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในการปรับขึ้นราคาสินค้า มีสินค้าอุปโภคบริโภคขอขึ้นในบางรายการ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะดูในรายละเอียด ไม่ใช่ยื่นแล้วจะอนุญาต ต้องดูลึกในแต่ละตัวว่าต้นทุนเพิ่มขึ้นในปริมาณเท่าใด ถ้าต้องขึ้นราคา ต้องเป็นอย่างไร มอบเป็นนโยบายไปแล้ว ให้ดูลึกและละเอียด ส่วนการพิจารณาเป็นอำนาจหน้าที่ในส่วนของเจ้าหน้าที่ ๆ มีอำนาจตามกฎหมาย แต่ส่วนใหญ่พยายามตรึงราคาไว้ ที่ผ่านมา ตรึงมาหลายเดือนแล้ว ทุกคนเห็นว่าประสบความสำเร็จ เพราะถ้าปล่อยให้เป็นไปตามปกติ เช่น แทนที่ราคาจะ 20 บาท อาจไปถึง 25-30 บาท ส่วนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีการขอปรับราคาหลายครั้ง แต่ขณะนี้ยังไม่มีการอนุญาต และยังขอความร่วมมือพยายามตรึงให้นานที่สุด ต้องขอความร่วมมือผู้ประกอบการ เพราะท่านทราบดีว่าจะกระทบประชาชน กระทบผู้มีรายได้น้อยจำนวนมากที่ต้องพึ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ต้องขอบคุณผู้ประกอบการที่ช่วยตรึงราคาด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า สินค้าควบคุม 46 รายการ ได้แก่ 1.กระดาษทำลูกฟูก กระดาษเหนียว 2.กระดาษพิมพ์และเขียน 3.ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ 4.รถจักรยานยนต์ รถยนต์บรรทุก 5.กากดีดีจีเอส 6.เครื่องสูบน้ำ 7.ปุ๋ย 8.ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช 9.รถเกี่ยวข้าว 10.รถไถนา 11.หัวอาหารสัตว์ อาหารสัตว์ 12.ก๊าซปิโตรเลียมเหลว 13.น้ำมันเชื้อเพลิง 14.ยารักษาโรค 15.เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรค 16.ท่อพีวีซี 17.ปูนซีเมนต์ 18.สายไฟฟ้า 19.เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น 20.ข้าวเปลือก ข้าวสาร 21.ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ 22.ข้าวโพด 23.ต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ 24.ผลปาล์มน้ำมัน 25.มะพร้าวผลแก่และผลิตภัณฑ์ 26.ยางพารา ได้แก่ น้ำยางสด ยางก้อน เศษยาง น้ำยางข้น ยางแผ่น ยางแท่ง ยางเครพ 27.กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า 28.แชมพู 29.ผงซักฟอก น้ำยาซักฟอก 30.ผลิตภัณฑ์ล้างจาน 31.ผ้าอนามัย 32.ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเด็กและผู้ใหญ่ 33.สบู่ก้อน สบู่เหลว 34.กระเทียม 35.ไข่ไก่ 36.ทุเรียน 37.นมผง ผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภคชนิดเหลว ไม่รวมถึงนมเปรี้ยว 38.น้ำมัน และไขมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ทั้งที่บริโภคได้หรือไม่ได้ 39.แป้งสาลี 40.มังคุด 41.ลำไย 42.สุกร เนื้อสุกร 43.หอมหัวใหญ่ 44.อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก 45.อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท 46.เครื่องแบบนักเรียน
ส่วนบริการควบคุม 5 รายการ ได้แก่ 47.การให้สิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า 48.บริการซื้อขาย และหรือบริการขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์ 49.บริการทางการเกษตร 50.บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค 51.บริการรับชำระเงิน ณ จุดบริการ