บรรดาผู้นำสหภาพยุโรปในวันพฤหัสบดี (23 มิ.ย.) อนุมัติให้ยูเครน พร้อมด้วยมอลโดวา ได้รับสถานะผู้สมัครอย่างเป็นทางการสำหรับเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม 27 ชาติ ก้าวย่างทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องจากเคียฟและทางอียูเองว่าเป็น "ช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์"
แม้ในความเป็นจริง อียูอาจต้องใช้เวลานานนานกว่า 1 ทศวรรษในการรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกในท้ายที่สุด แต่การตัดสินใจอ้าแขนรับเคียฟอย่างเป็นทางการในฐานะผู้สมัคร คือสัญลักษณ์แห่งความตั้งใจของอียู ที่จะยื่นมือเข้าหาประเทศอดีตสหภาพโซเวียตแห่งนี้
"ประชาชนชาวยูเครนเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวยุโรป ยูเครนมีอนาคตร่วมกับอียู" โจเซฟ บอร์เรลล์ ประธานนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรปกล่าว "วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางที่ยาวนาน ที่เราจะก้าวเดินไปด้วยกัน"
ปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซีย กระตุ้นให้เคียฟยื่นคำร้องอย่างเป็นทางการขอ "สถานะผู้สมัคร" และทางอียูก็เร่งรัดดำเนินการอนุมัติอย่างรวดเร็ว "อนาคตของยูเครนอยู่ในอียู" ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนเขียนบนทวิตเตอร์ พร้อมยกย่องการตัดสินใจของอียูว่าเป็น "ช่วงเวลาพิเศษและเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์"
6 ปีหลังจากชาวสหราชอาณาจักรโหวตถอนตัวออกจากอียู มอลโดวา ประเทศเพื่อนบ้านของยูเครน ก็ได้รับอนุมัติสถานะผู้สมัครเช่นกัน ส่วน จอร์เจีย อีกหนึ่งชาติสหภาพโซเวียต เชื่อว่าพวกเขาจะได้รับการอนุมัติแบบเดียวกัน ครั้งที่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ได้เพิ่มเติม
พวกผู้นำอียูเน้นย้ำว่าประเทศเหล่านี้ยังมีการบ้านอีกมากที่จะต้องทำ และชี้ว่าหลังจากเริ่มต้นขยายอาณาเขตครั้งทะเยอทะยานที่สุดนับตั้งแต่การเข้าร่วมของประเทศยุโรปตะวันออกหลายชาติหลังสิ้นสุดสงครามเย็น บางทีทางกลุ่มอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงาน
"ฉันเชื่อว่าพวกเขา (ยูเครนและมอลโดวา) จะดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และทำงานหนักที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในการลงมือปฏิรูปต่างๆ ที่จำเป็น" อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าว
เชนท์ซอฟ เซโวลอด เอกอัครราชทูตยูเครนประจำอียู บอกกับรอยเตอร์ก่อนหน้านี้ในวันพฤหัสบดี (23 มิ.ย.) ว่าการให้ไฟเขียวของอียู "เป็นสัญญาณที่ส่งถึงมอสโกว่า ยูเครนและประเทศอื่นๆ จากอดีตสหภาพยุโรป ไม่ได้เป็นบริวารอิทธิพลของรัสเซีย"
อย่างไรก็ตาม แม้มีโวหารแห่งชัยชนะต่อการอนุมัติสถานะผู้สมัครของยูเครนและมอลโดวา แต่เบื้องหลังยังพบความกังวลภายในอียู กรณีที่พวกเขาจะยังคงความสอดคล้องเชื่อมโยงกันได้อย่างไร เนื่องจากสมาชิกของกลุ่มเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ
อียูเริ่มก่อตั้งในปี 1951 ในฐานะองค์กรของ 6 ประเทศ เพื่อวางกฎระเบียบควบคุมการผลิตภาคอุตสาหกรรม แต่เวลานี้อียูที่มีรัฐสมาชิกถึง 27 ชาติ ต้องเจอกับปัญหายุ่งยากซับซ้อนต่างๆ ไล่ตั้งแต่ภาวะโลกร้อน การผงาดขึ้นมาของจีน ไปจนถึงสงครามที่เกิดขึ้นตรงบันไดหน้าบ้านของพวกเขา
ในสัปดาห์นี้ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่า อียู "จำเป็นต้องปฏิรูปกระบวนการภายใน" เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอ้าแขนรับสมาชิกใหม่ๆ ส่งสัญญาณว่าประเด็นสำคัญต่างๆ ควรได้รับความเห็นชอบในแบบเสียงข้างมากเท่านั้น จากที่ต้องผ่านความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ดังเช่นปัจจุบัน
ข้อกำหนดที่ต้องผ่านความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ บ่อยครั้งสร้างความผิดหวังต่อความทะเยอทะยานของอียู เพราะว่ารัฐสมาชิกสามารถขัดขวางหรือลดทอนการตัดสินใจต่างๆ ได้
ที่ผ่านมา การสงวนท่าทีขยายขอบเขตของอียู ทำให้กระบวนการอ้าแขนรับกลุ่มประเทศแถบบอลข่าน ได้แก่ แอลเบเนีย บอสเนีย โคโซโว มอนเตเนโกร นอร์ทมาซิโดเนีย และเซอร์เบีย เป็นไปอย่างล่าช้า
เอดิ รามา นายกรัฐมนตรีแอลเบเนีย ส่งเสียงแสดงความผิดหวัง ระหว่างเดินทางมาร่วมประชุมกับบรรดาผู้นำของอียู ในบรัสเซลส์ โดยกล่าวว่า "ขอแสดงความยินดีกับยูเครน มันเป็นสิ่งดีที่ได้รับสถานะผู้สมัคร แต่ผมหวังว่าประชาชนชาวยูเครนจะไม่มีความเชื่อผิดๆ จนเกินไปเกี่ยวกับเรื่องนี้"
ร่างถ้อยแถลงของการประชุมเผยให้เห็นว่าบรรดาผู้นำอียู จะมอบคำสัญญาเต็มที่และชัดเจนต่อแนวโน้มการเป็นสมาชิกอียูของบรรดาประเทศแถบบอลข่าน แต่การอนุมัติสถานะผู้สมัครแก่ยูเครนอย่างรวดเร็ว ยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกว่ากำลังถูกกันอยู่วงนอกมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อความเสี่ยงสำหรับอียู ที่รัสเซียและจีนอาจขยายอิทธิพลในภูมิภาคบอลข่าน
(ที่มา : รอยเตอร์)