ด้วยความยินดีต่อแนวโน้มความทะเยอทะยานเข้าเป็นสมาชิกอียู และคำสัญญาให้การสนับสนุนอย่างแน่วแน่จากสหราชอาณจักร ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประกาศกร้าวในวันเสาร์ (18 มิ.ย.) ว่าจะมีชัยเหนือมอสโก แม้ในขณะเดียวกันยังคงโดนรัสเซียโจมตีอย่างหนักใกล้เมืองสำคัญทางภาคตะวันออกของประเทศ และหลายพื้นถูกถล่มด้วยปืนใหญ่และขีปนาวุธ
คาดหมายว่าในที่ประชุมซัมมิตสัปดาห์หน้า บรรดาประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรปจะอนุมัติสถานะผู้สมัครเข้าร่วมอียูแก่ยูเครน หลังได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อวันศุกร์ (17 มิ.ย.) ซึ่งจะส่งผลให้เคียฟอยู่บนเส้นทางที่ความทะเยอทะยานหนึ่งกำลังกลายเป็นความจริง หลังจากมันเคยอยู่ไกลเกินเอื้อมมาตลอด ก่อนหน้ารัสเซียเปิดฉากรุกรานในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ แม้ในความเป็นจริงแล้ว กระบวนการอ้าแขนรับเข้าเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบนั้นจะต้องใช้เวลานานหลายปีก็ตาม
บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร สร้างความประหลาดใจ ดอดเดินทางเยือนกรุงเคียฟ โดยไม่ได้แจ้งกำหนดการล่วงหน้า ในวันศุกร์ (17 มิ.ย.) และเสนอยกระดับการฝึกฝนแก่กองกำลังยูเครน และหลังจากเดินทางกลับสู่สหราชอาณาจักรในวันเสาร์ (18 มิ.ย.) เขาเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ยูเครนอยู่ในสภาพอ่อนล้า หลังสงครามลากยาวมาเกือบ 4 เดือนแล้ว
"รัสเซียกำลังรุกคืบทีละตารางนิ้ว และมันเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เรารู้นั้นเป็นความจริง ซึ่งก็คือยูเครนสามารถชนะสงครามและจะเป็นฝ่ายชนะ" เขาบอกกับผู้สื่อข่าว "เมื่อความเหนื่อยล้าคืบคลานเข้าหายูเครน มันเป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องแสดงให้เห็นว่าเรายืนยันอยู่เคียงข้างพวกเขาบนเส้นทางที่ยาวนาน และเราจะมอบความยืดหยุ่นทางยุทธศาสตร์ตามที่พวกเขาต้องการ"
บทความหนึ่งที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ซันเดย์ ไทม์ส ของลอนดอน จอห์นสันระบุว่า คำพูดดังกล่าวหมายถึงการรับประกันว่า "ยูเครนจะได้รับอาวุธ ยุทโธปกรณ์ กระสุนและการฝึกฝนต่างๆ ที่รวดเร็วมากกว่าฝ่ายผู้รุกราน เวลาคือปัจจัยสำคัญ ทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับว่ายูเครนจะสามารถยกระดับศักยภาพป้องกันแผ่นดินของตนเองเร็วกว่าหรือไม่ เมื่อเทียบกับการฟื้นศักยภาพการโจมตีของรัสเซีย"
ในสมภูมิรบเมื่อวันเสาร์ (18 มิ.ย.) เมืองซีวีโรโดเนตสก์ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของรัสเซีย ในปฏิบัติการควบคุมแคว้นลูฮันสก์ ทางภาคตะวันออกของยูเครน อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถูกถล่มอย่างหนักด้วยปืนใหญ่และขีปนาวุธอีกรอบ ในขณะที่กองกำลังรัสเซียเดินหน้าจู่โจมพื้นที่ต่างๆ โดยรอบของเมืองอุตสาหกรรมแห่งนี้ จากการเปิดเผยของกองทัพยูเครน
เซอร์ฮีย์ ไกได ผู้ว่าการแคว้นลูฮันสก์ของฝ่ายเคียฟ เผยว่า รัสเซียพยายามโจมตีเมืองต่างๆ ที่อยู่ทางใต้ของซีวีโรโดเนตสก์ แต่ผู้รุกรานเหล่านั้นถูกขับไล่โดยกองกำลังยูเครน อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าสถานการณ์ตามหมู่บ้านต่างๆ ยังคงยากลำบากอย่างมาก
"รัสเซียโยนทุกอย่างที่พวกเขามีใส่ซีวีโรโดเนตสก์และเมืองบัคช์มุต" เขาโพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ "พวกเขาพยายามเข้าควบคุมใจกลางภูมิภาคอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และตัดเส้นทางถนนหลวงลีซีชานสก์ -บัคช์มุต แต่พวกเขาไม่มีทางประสบความสำเร็จ"
ไกได บอกว่า เมืองลีซีชานสก์ ถูกยิงปืนใหญ่ถล่มอย่างต่อเนื่อง แต่มันยังอยู่ภายใต้การควบคุมของยูเครนโดยสมบูรณ์ ทั้งนี้กำลังมีการอพยพอย่างเงียบๆ และขบวนรถด้านมนุษยธรรมมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองในทุกๆ วัน แม้เขาบอกว่าถนนสายหลักเส้นหนึ่งที่ออกนอกเมืองเวลานี้ไม่สามารถสัญจรผ่านได้แล้ว เนื่องจากถูกรัสเซียยิงปืนใหญ่ถล่ม
ในทางตะวันตกเฉียงเหนือ รัสเซียยิงขีปนาวุธหลายลูกถล่มโรงงานก๊าซแห่งหนึ่งในเขตไอซีอุม และระดมยิงจรวดใส่ย่านชานเมืองแห่งหนึ่งของคาร์คิฟ เมืองใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของยูเครน ก่อความเสียหายแก่อาคารเทศบาลหลังหนึ่ง และก่อไฟไหม้แก่กลุ่มอาคารที่พักอาศัยแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตามไม่มีผู้เสียชีวิต
เจ้าหน้าที่ยูเครนยังได้รายงานเกี่ยวกับเหตุยิงปืนใหญ่ถล่มจุดต่างๆ ไกลออกไปทางตะวันตกในเมืองโพลตาวาและดนิโปรเปตรอฟสก์ และในวันเสาร์ (18 มิ.ย.) พวกเขาเผยว่ารัสเซียยิงขีปนาวุธ 3 ลูกทำลายคลังเก็บเชื้อเพลิงแห่งหนี่ง ในเมืองโนโมมอสคอฟสก์ ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 11 ราย หนึ่งในนั้นอาการสาหัส
ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เปิดเผยในวันเสาร์ (18 มิ.ย.) ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมทหารในแนวหน้าทางภาคใต้ ในแคว้นมีโคลาอีฟ "ผู้ชายและผู้หญิงที่กล้าหาญของเรา แต่ละคนกำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง" เขากล่าวผ่านเทเลแกรม "แน่นอนว่าเราจะยืนหยัด แน่นอนว่าเราจะชนะ!"
ในวิดีโอเป็นภาพที่เขาสวมเสื้อยืดอันเป็นเอกลักษณ์ มอบเหรียญกล้าหาญแก่ทหาร อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้ระบุว่าการเดินทางเยือนแนวหน้าครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่
เมื่อครั้งที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย สั่งทหารของเขายกพลรุกรานยูเครนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ หนึ่งในเป้าหมายที่เขาเน้นย้ำก็คือเพื่อสกัดการแผ่ขยายขอบเขตมาทางทิศตะวันออกของพันธมิตรนาโต้ และกันประเทศเพื่อนบ้านทางใต้แห่งนี้ให้อยู่ห่างจากอิทธิพลของตะวันตก
อย่างไรก็ตาม สงครามที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วหลายหมื่น เปลี่ยนเมืองต่างๆ กลายเป็นซากปรักหักพังและทำประชาชนอพยพหลบหนีหลายล้านคน ได้ส่งผลในทางตรงกันข้าม โน้มน้าวให้ฟินแลนด์และสวีเดน หาทางเข้าร่วมนาโต้ และช่วยเปิดทางยูเครนสำหรับการเป็นสมาชิกอียู
(ที่มา : รอยเตอร์)