(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Biden tries to climb down from Ukraine ledge
By DAVID P. GOLDMAN
17/06/2022
เมื่อเผชิญหน้าวิกฤตการณ์ทั้งทางยุทธศาสตร์และทางเศรษฐกิจทบซ้อนดาหน้ากันเข้ามา ไบเดนจึงต้องเร่งแสวงหาหนทางเพื่อออกมาจากกับดักแห่งยูเครน
คณะบริหารไบเดนเผชิญหน้ากับความหายนะสองทบสองซ้อนทีเดียว ภายหลังการคำนวณอย่างผิดพลาดของพวกเขาในเรื่องยูเครน ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ และการต้องอับอายขายหน้าในทางยุทธศาสตร์เป็นครั้งที่สองภายในระยะเวลาเพียงแค่ 1 ปี (ความอับอายขายหน้าทางยุทธศาสตร์ครั้งแรกของ ไบเดน ก็คือ การที่กองทหารอเมริกันต้องอพยพหลบหนีออกจากอัฟกานิสถานเมื่อต้นปีนี้ -ผู้แปล)
เกือบเป็นการแน่นอนอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่ราคาน้ำมันก็ขับดันอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งได้ตัดหั่นมูลค่าแท้จริงของค่าแรงของพวกคนงานลงมาราวๆ 6% เมื่อคิดเปรียบเทียบกันแบบปีต่อปี
คำคุยโตของวอชิงตันก่อนหน้านี้ในเรื่องที่จะผลักไสให้ ปูติน ตกจากอำนาจ ทำลายศักยภาพของรัสเซียในการทำสงคราม และหั่นขนาดเศรษฐกิจของรัสเซียลงมาครึ่งหนึ่ง ดูเป็นเรื่องตลกน่าหัวเราะเยาะไปเสียแล้วเมื่อเราคิดย้อนหลังกลับไป
เศรษฐกิจโลกกำลังโซซัดโซเซจากภาวะซัปพลายช็อกทั้งในด้านพลังงานและด้านอาหารที่กระตุ้นปลุกปั่นขึ้นมาจากมาตรการแซงก์ชันรัสเซียของฝ่ายตะวันตก นโยบายการเงินนั้นสามารถที่จะลดเงินเฟ้อได้ก็เพียงด้วยการบีบบังคับให้บรรดาผู้บริโภคหยุดยั้งการจับจ่าย ทว่านั่นก็มีแต่บีบบังคับให้พวกผู้ค้าปลีกต้องหาทางโละสินค้าในโกดังด้วยราคาที่ต่ำลงมา ขณะเดียวกัน ก็บดขยี้ดีมานด์ความต้องการทางด้านวัตถุดิบ – กลายเป็นวิธีการบำบัดรักษาที่เลวทรามยิ่งกว่าโรคภัยเสียอีก
ในทางตรงกันข้าม เวลาเดียวกันนี้ รัสเซียกลับทำรายรับได้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 93,000 ล้านยูโรจากการส่งออกพลังงานในระหว่างช่วง 100 วันแรกของสงครามคราวนี้ รายงานการศึกษาชิ้นหนึ่งจากฟินแลนด์สรุปเอาไว้เช่นนั้น ทางด้านจีนและอินเดีย ซึ่งปฏิเสธไม่เข้าร่วมการแซงก์ชันรัสเซียของกลุ่มจี7 ก็มีรายงานว่ากำลังซื้อหาน้ำมันด้วยราคาที่ลดลงมาราวๆ 30 ถึง 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในเวลาที่พวกผู้บริโภคชาวอเมริกันและชาวยุโรปกำลังต้องจ่ายเงินแบบราคาเต็มเหยียด
(ดูเพิ่มเติมรายงานจากฟินแลนด์ได้ที่ https://energyandcleanair.org/publication/russian-fossil-exports-first-100-days)
ราคาค่าพลังงานกำลังกลายเป็นตัวขับดันสำคัญที่สุดของภาวะเงินเฟ้อในบรรดาชาติ จี7 ตามการศึกษาของเอเชียไทมส์ การเปลี่ยนแปลงรายเดือนในดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ถึงราวๆ 70% สามารถอธิบายได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมัน โดยมีช่วงระยะห่างของตัวเลข 2 ตัวนี้อยู่ราวๆ 1 -4 เดือน ยิ่งกว่านั้น การศึกษานี้ยังพบว่า ความอ่อนไหวของ CPI สหรัฐฯ ต่อราคาน้ำมัน เพิ่มสูงขึ้นเป็นราวๆ 2 เท่าตัวทีเดียวในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ถึงพฤษภาคม 2022 เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลา 15 ปีก่อนหน้านั้น
จีดีพีของสหรัฐฯ หดตัวลงในอัตรา 1.9% ต่อปีในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ การที่ยอดค้าปลีกเดือนพฤษภาคมซึ่งกระทรวงพาณิชย์รายงานเอาไว้ในวันที่ 15 มิถุนายน อยู่ในอาการตกลงมาแบบไม่ได้คาดคิดกัน และยอดผู้ซื้อบ้านใหม่ในสหรัฐฯ ซึ่งรายงานกันไว้ในวันที่ 16 มิถุนายน อยู่ในภาวะหล่นวูบ 14.4% เมื่อคำนวณแบบเดือนต่อเดือน ต่างเป็นตัวชี้ให้เห็นว่าจีดีพีในไตรมาส 2 จะติดลบอีก –การที่เศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน ก็คือคำนิยามมาตรฐานของภาวะเศรษฐกิจถดถอย นี่ย่อมเป็นภัยพิบัติทีเดียวสำหรับชาวพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งกลางเทอมซึ่งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้
สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าการถดถอยของเศรษฐกิจอเมริกันเสียอีก ได้แก่ความเสี่ยงที่จะเกิดความหายนะทางด้านการเงินในหมู่ประเทศ จี7 ที่เศรษฐกิจอ่อนแอกว่าคนอื่นๆ
เงินเยนของญี่ปุ่นร่วงลงมาแบบไม่มีหูรูด ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ย และควบคุมการปล่อยสินเชื่ออย่างเข้มงวดขึ้นมาก หนี้สินภาครัฐบาลของญี่ปุ่นอยู่ในระดับเท่ากับ 270% ของจีดีพี โดยที่ครึ่งหนึ่งเป็นหนี้แบงก์ชาติญี่ปุ่น สูงขึ้นมหาศาลจากแค่ราวๆ 5% ในปี 2011 จากการที่ประชาชนในแดนอาทิตย์อุทัยกำลังมีอายุสูงขึ้นมาก และกำลังใช้จ่ายเงินจากกองทุนเกษียณอายุของพวกตนแทนที่จะเก็บออมเพิ่มพูนกองทุนเหล่านี้ ระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกแห่งนี้จึงกำลังต้องหาเงินเลี้ยงตัวเองด้วยโรงพิมพ์ธนบัตร ต้นทุนของการประกันความเสี่ยงสำหรับพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นพุ่งปรี๊ดในสัปดาห์ที่ผ่านมาจนขึ้นถึงระดับสูงสุดนับแต่วิกฤตภาคการเงินปี 2008 เป็นต้นมา
อิตาลี ระบบเศรษฐกิจที่อ่อนแอที่สุดของยุโรป ก็บาดเจ็บจากการที่ความเสี่ยงหนี้สินภาครัฐบาลทะยานพรวดในระดับเกือบสาหัสพอๆ กันทีเดียว
ธนาคารกลางยุโรปเปิดประชุมฉุกเฉินเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน เพื่อรับมือกับภาวะเสื่อมทรุดของพวกรัฐสมาชิกอ่อนแอที่สุดของตน และให้คำมั่นสัญญาว่าจะออกมาตรการซึ่งยังมิได้มีการระบุชัดเจนลงไป เพื่อป้องกันไม่ให้สหภาพยุโรปเกิด “การแตกออกเป็นเสี่ยงๆ”
คณะบริหารไบเดนประมาณการต่ำกว่าความเป็นจริงไปมากมายทีเดียว ในเรื่องผลกระทบทางด้านเงินเฟ้อจากแพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ารวมทั้งสิ้น 6 ล้านล้านดอลลาร์ ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยคณะบริหารทรัมป์ แต่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัวในยุคไบเดน
แล้วคณะบริหารไบเดนยังประมาณการต่ำกว่าความเป็นจริงเช่นกัน ในเรื่องความหยุ่นตัวของเศรษฐกิจรัสเซียและสมรรถนะทางด้านการทหารของรัสเซีย
การที่จะไต่บันไดกลับลงมานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลย กระทั่งอาจจะเป็นไปไม่ได้ทีเดียว ทั้งนี้ ไบเดนได้กล่าวประณามผู้นำของรัสเซียว่าเป็นอาชญากรสงคราม ยืนกรานเสียงแข็งกร้าวว่าจะต้องไม่ยอมให้เขายังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป และคุยโวว่ามาตรการแซงก์ชันของสหรัฐฯ จะตัดหั่นเศรษฐกิจรัสเซียให้เหลือเพียงแค่ครึ่งเดียว ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหม ลอยด์ ออสติน อ้างสำทับว่าสหรัฐฯ จะทำลายศักยภาพในการทำสงครามของรัสเซีย
หากเกิดการประนีประนอมในยูเครนโดยที่มีการอ่อนข้อยอมยกดินแดนอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังให้รัสเซีย –ซึ่งเท่าที่เห็นกันอยู่ในตอนนี้ นี่เป็นหนทางเดียวที่จะยุติสงครามคราวนี้ได้ – ก็จะสร้างความเสื่อมเสียขายหน้าให้แก่วอชิงตัน
กระนั้น การหาทางออกในแบบเจรจาตกลงกันให้แก่สงครามยูเครน ก็ยังใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย วอชิงตันสามารถที่จะสร้างภาพตัวเองต่อไปในฐานะการเป็นผู้พิทักษ์ป้องกันอธิปไตยของยูเครน แต่เวลาเดียวกันก็กระตุ้นส่งเสริมพวกผู้นำยุโรปให้เป็นผู้ทำงานสกปรกและบังคับยูเครนให้เข้าสู่การเจรจารอมชอมกับมอสโก
เครื่องบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ในทิศทางนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน จากปลัดกระทรวงกลาโหมฝ่ายนโยบายของสหรัฐฯ (US Undersecretary of Defense for Policy) โคลิน เอช. เคห์ล (Colin H. Kahl) ผู้ซึ่งประกาศว่า: “เราจะไม่ไปบอกฝ่ายยูเครนหรอกว่าจะเจรจายังไง จะเจรจาเรื่องอะไรบ้าง และจะเจรจาเมื่อใด พวกเขาจะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่างๆ ด้วยตัวพวกเขาเอง”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nytimes.com/2022/06/14/world/europe/us-will-not-push-ukraine-to-reach-a-cease-fire-a-top-pentagon-official-says.html)
เคห์ล เป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของ โจ ไบเดน ระหว่างที่ไบเดนดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในสมัยคณะบริหารโอบามา และเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ไบเดนเสนอชื่อเข้าดำรงตำแหน่ง ซึ่งก่อให้เกิดการโต้เถียงขัดแย้งกันหนักหน่วงที่สุด พวกวุฒิสมาชิกของพรรครีพับลิกันออกเสียงอย่างสอดคล้องกันเป็นเอกฉันท์คัดค้านการแต่งตั้งเขาเข้านั่งเก้าอี้ในกระทรวงกลาโหมตัวนี้ ทำให้รองประธานาธิบดีแฮร์ริส (ในฐานะที่เป็นประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง) ต้องลงมาออกเสียงตัดสินเพื่อผลักดันให้วาระการแต่งตั้ง เคห์ล ผ่านไปได้ สมควรที่จะต้องเน้นอีกครั้งให้เห็นว่า คำแถลงที่หยิบยกอ้างอิงข้างต้นนี้มาจากตัวเขา ไม่ใช่มาจากรัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน หรือที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ เจค ซัลลิแวน
แน่นอนที่สุดว่า คำแถลงของ เคห์ล เป็นการโกหกมุสากันอย่างสุดๆ ฝรั่งเศสและเยอรมนีเคยออกมาเรียกร้องเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ให้ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เคารพปฏิบัติตามข้อตกลงกรุงมินสก์ 2 (Minsk II agreement) ที่ในตอนนั้นได้รับการสนับสนุนจากมอสโก โดยสาระสำคัญของข้อตกลงนี้ก็คือจะมอบอำนาจปกครองตนเองให้แก่พวกแคว้นพูดภาษารัสเซียในภูมิภาคดอนบาส แต่ยังอยู่ภายในกรอบอำนาจอธิปไตยของยูเครน
แต่ด้วยการกระตุ้นของวอชิงตัน เซเลนสกีแถลงปฏิเสธข้อเสนอจากนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่ให้หลีกเลี่ยงสงคราม ไมเคิล กอร์ดอน (Michael Gordon) รายงานเอาไว้เมื่อวันที่ 1 เมษายน ในวอลสตรีทเจอร์นัล ดังนี้:
มิสเตอร์ชอลซ์ ใช้ความพยายามครั้งสุดท้ายในการผลักดันให้เกิดการรอมชอมระหว่างมอสโกกับเคียฟ เขาบอกกับมิสเตอร์เซเลนสกี ในเมืองมิวนิก เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ว่า ยูเครนควรละทิ้งความมุ่งมาดปรารถนาที่จะเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ของตน และประกาศวางตัวเป็นกลาง โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงเพื่อความมั่นคงของยุโรประหว่างฝ่ายตะวันตกกับรัสเซียในระดับกว้างขวางยิ่งขึ้นอีกด้วย ข้อตกลงนี้จะลงนามโดยมิสเตอร์ปูตินและมิสเตอร์ไบเดน ผู้ซึ่งจะร่วมกันประกาศค้ำประกันความมั่นคงของยูเครน มิสเตอร์เซเลนสกี กล่าวว่า มิสเตอร์ปูตินเป็นผู้ที่ไม่สามารถไว้วางใจได้ว่าจะยึดมั่นปฏิบัติตามข้อตกลงเช่นนี้ และบอกด้วยว่าชาวยูเครนส่วนใหญ่ต้องการที่จะเข้าร่วมนาโต้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.wsj.com/articles/vladimir-putins-20-year-march-to-war-in-ukraineand-how-the-west-mishandled-it-11648826461)
เซเลนสกีผู้มีกรรมบังตา ไม่ได้เป็นผู้ประดิษฐ์เสกสรรค์แนวความคิดที่ว่ายูเครนจะได้เข้าเป็นสมาชิกของนาโต้ขึ้นมาเองหรอก เขาได้รับคำมั่นรับรองจากวอชิงตันและลอนดอน ซึ่งต่างยกระดับเพิ่มพูนการจัดส่งอาวุธไปให้ยูเครน
สหรัฐฯ จะไม่บอกยูเครนว่าควรจะทำอะไร ปลัดกระทรวงเคห์ลประกาศออกมาเช่นนี้ ทว่านี่ไม่ได้ป้องกันไม่ให้รัฐบาลอื่นๆ ยื่นข้อเสนอให้แก่เซเลนสกี เป็นข้อเสนอชนิดที่เขาไม่สามารถปฏิเสธได้ กระทั่ง โอเล็คซีย์ อาเรสโตวิค (Oleksiy Arestovych) ที่ปรึกษาของเซเลนสกี ก็บอกแก่หนังสือพิมพ์บิลด์-ไซตุง (Bild-Zeitung) ของเยอรมนีในวันที่ 16 มิถุนายนว่า นายกรัฐมนตรี ชอลซ์ ของเยอรมนี ประธานาธิบดีมาครง ของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรี ดรากี ของอิตาลี อาจจะยื่นข้อเรียกร้องเช่นว่านี้ ต่อ เซเลนสกี ระหว่างการไปเยือนกรุงเคียฟเที่ยวนี้ของพวกเขา
ผู้ช่วยของเซเลนสกีผู้นี้บอกว่า เขากลัวว่า ชอลซ์, มาครง, และ ดรากี “จะพยายามทำให้เกิดข้อตกลงแบบมินสก์ 2 ขึ้นมา พวกเขาจะบอกว่าเราจำเป็นต้องยุติสงครามที่กำลังก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ทางด้านอาหารและปัญหาต่างๆ ทางเศรษฐกิจ บอกว่าฝ่ายรัสเซียและฝ่ายยูเครนต่างกำลังจะตาย บอกว่าเราจำเป็นจะต้องรักษาหน้าของมิสเตอร์ปูติน บอกว่าฝ่ายรัสเซียได้ทำความผิดพลาดไปแล้ว และบอกว่าเราจำเป็นต้องยกโทษ และให้โอกาสแก่พวกเขาที่จะหวนกลับเข้าสู่สังคมโลก”
ขณะที่ ดี เวลต์ หนังสือพิมพ์ชั้นนำแนวทางกลาง-ขวาของเยอรมนี วิจารณ์แสดงความเห็นเอาไว้ดังนี้ “เคียฟกำลังเริ่มมีความสงสัยข้องใจเกี่ยวกับความสามัคคีสมานฉันท์ของฝ่ายตะวันตก ทั้งนี้ กำลังมีการส่งเสียงกันมากขึ้นที่เรียกร้องให้ใช้ความพยายามเพื่อสันติภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคำแถลงของ สโตลเตนเบิร์ก นายใหญ่ของนาโต้ ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเส้นทาง”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.welt.de/politik/ausland/plus239373853/Kiew-Besuch-Werden-Scholz-und-Co-Selenskyj-zu-Verhandlungen-zwingen.html)
สิ่งที่ ดี เวลต์ พูดถึง คือการอ้างอิงถึงคำปราศรัยในวันที่ 12 มิถุนายน ซึ่ง เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการองค์การนาโต้ กล่าวย้ำว่า “คำถามก็คือ: คุณพร้อมที่จะจ่ายสักเท่าใดสำหรับสันติภาพนี้? คุณพร้อมที่จะเสียสละดินแดนมากน้อยแค่ไหน? ความเป็นเอกราช อธิปไตยมากน้อยแค่ไหน? เสรีภาพมากน้อยแค่ไหน? และประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน? และนี่ยังเป็นภาวะอิหลักอิเหลื่อทางศีลธรรมที่ยากลำบากเอามากๆ อีกด้วย”
มีความเป็นไปได้ว่า สัญชาตญาณเพื่อความอยู่รอดทางการเมืองของไบเดน อาจจะได้รับการจัดแถวให้เป็นสิ่งที่ต้องมาก่อน เรื่องลำดับความสำคัญทางอุดมการณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน ของเขา และของปลัดกระทรวงการต่างประเทศ วิกตอเรีย นูแลนด์ (Victoria Nuland) ซึ่งคนหลังนี้คือสถาปนิกผู้วางแผนการรัฐประหารยึดอำนาจจากเหตุการณ์ชุมนุม ณ จัตุรัสเมดานปี 2014 (2014 Maidan Square coup) ที่เป็นตัวกำหนดจัดวางโศกนาฏกรรมซึ่งกำลังพัฒนาเดินหน้าอยู่ในปัจจุบัน
แน่นอนอยู่แล้วว่า เราไม่ทราบหรอกว่า คณะบริหารไบเดนจะทำอะไรเมื่อเผชิญกับความหายนะสองทบสองซ้อนนี้ ณ จุดตรงนี้ กระทั่งคณะบริหารไบเดนเองก็อาจจะไม่ทราบเหมือนกัน กระนั้นก็ตามที ทางเลือกต่างๆ นั้นตรงไปตรงมาและชัดเจนแจ่มแจ้ง จะเลือกปีนบันไดลงมา หรือจะตกถลำเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกและเข้าสู่วิกฤตการณ์ทางยุทธศาสตร์ที่ควงสว่านดำลึกลงไปเรื่อยๆ