xs
xsm
sm
md
lg

อินเดีย-จีนพากันซื้อน้ำมันรัสเซียสนุกสนาน ไม่สนใจตาเขียวปั๊ดของฝ่ายตะวันตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อินเดีย จีน และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย กลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญจากการส่งออกน้ำมันของรัสเซียมากขึ้นอย่างชัดเจน แม้อเมริกาไล่บี้หนักไม่ให้ประเทศต่างๆ ซื้อพลังงานมอสโกเพิ่มขึ้นก็ตาม และขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) และพันธมิตรอื่นๆ พากันลดการนำเข้าพลังงานแดนหมีขาวตามมาตรการแซงก์ชันเพื่อลงโทษกรณีสงครามยูเครน

การขายพลังงานให้ชาติต่างๆ ในเอเชียส่งให้รายได้จากการส่งออกของรัสเซียเพิ่มพูนในขณะที่วอชิงตันและพันธมิตรพยายามจำกัดช่องทางระดม เงินที่จะไปอุดหนุนการทำสงครามของมอสโก

จากข้อมูลของบริษัทข้อมูลสินค้าโภคภัณฑ์ Kpler อินเดีย ประเทศที่มีประชากร 1,400 ล้านคนและหิวกระหายน้ำมัน สั่งซื้อน้ำมันรัสเซียเกือบ 60 ล้านบาร์เรลนับจากต้นปีจนถึงขณะนี้ เทียบกับ 12 ล้านบาร์เรลตลอดปี 2021 และการจัดส่งน้ำมันของรัสเซียไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น จีน เพิ่มขึ้นเช่นกันในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่อาจน้อยกว่าการจัดส่งให้อินเดีย

นายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห ของศรีลังกาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (11 มิ.ย.) ว่า อาจจำเป็นต้องซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซียเพิ่ม เพื่อให้ประเทศสามารถขับเคลื่อนต่อไปท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ แต่จะมองหาน้ำมันจากแหล่งอื่นก่อน

ปลายเดือนที่ผ่านมา ศรีลังกาสั่งซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซีย 99,000 ตัน เพื่อให้สามารถเดินเครื่องโรงกลั่นน้ำมันที่มีเพียงแห่งเดียวอีกครั้ง

นับจากที่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งกระฉูด
โรงกลั่นในอินเดียและประเทศอื่นๆ มีแรงจูงใจมากขึ้นในการสั่งซื้อน้ำมันจากมอสโกที่ยอมลดราคาให้ถึง 30-35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เทียบกับราคาน้ำมันดิบชนิดเบรนท์และราคาน้ำมันที่เทรดในตลาดอื่นๆ ทั่วโลกที่อยู่ที่ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ประเทศในเอเชียมีความสำคัญต่อรัสเซียมากขึ้นหลังจาก 27 ชาติอียู ซึ่งเป็นตลาดหลักสำหรับเชื้อเพลิงฟอสซิลที่อัดฉีดรายได้สกุลเงินต่างประเทศให้รัสเซียมากที่สุด ตกลงหยุดสั่งซื้อน้ำมันส่วนใหญ่ภายในปลายปีนี้

แมตต์ สมิธ หัวหน้านักวิเคราะห์ของ Kpler ที่ติดตามการไหลเวียนของน้ำมันของรัสเซีย ระบุว่า ดูเหมือนมีแนวโน้มที่ชัดเจนหนักแน่นขึ้นเรื่อยๆ ว่า การจัดส่งน้ำมันดิบจากเทือกเขายูราลในรัสเซียไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปลดลง แต่มีการจัดส่งไปยังเอเชียเพิ่มขึ้น โดยอินเดียเป็นผู้ซื้อรายใหญ่สุด ตามด้วยจีน และตุรกีก็เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางสำคัญ

สำหรับจีนนั้น ปีที่ผ่านมาถือเป็นผู้ซื้อน้ำมันรัสเซียรายใหญ่ที่สุดคือเฉลี่ยวันละ 1.6 ล้านบาร์เรล

แม้การนำเข้าของอินเดียคิดเป็นเพียง 1 ใน 4 ของปริมาณการสั่งซื้อของจีน แต่นับจากสงครามยูเครนปะทุ อินเดียสั่งซื้อน้ำมันรัสเซียเพิ่มขึ้นอย่างมาก และกลายเป็นสาเหตุให้วอชิงตันกับนิวเดลีปีนเกลียวกัน

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวภายหลังการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ-รัฐมนตรีกลาโหมของ อินเดีย-อเมริกาเมื่อเดือนเมษายนว่า อเมริกาตระหนักว่า อินเดียต้องการพลังงานในราคาที่จ่ายได้ แต่ก็ต้องการให้พันธมิตรและหุ้นส่วนไม่สั่งซื้อพลังงานจากรัสเซียเพิ่ม

ขณะเดียวกัน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ แถลงต่อณะกรรมาธิการการเงินของวุฒิสภาอเมริกันว่า อเมริกาและพันธมิตรยุโรปกำลังหารือกันอย่างกระตือรือร้นเกี่ยวกับมาตรการร่วมกัน ซึ่งอาจรวมถึงการจัดตั้งกลุ่มเพื่อพยายามกำหนดราคาน้ำมันรัสเซีย โดยมีเป้าหมายในการป้องกันไม่ให้ราคาน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้น 60% แล้วในปีนี้ ยิ่งทะยานรุนแรงขึ้น และเพื่อจำกัดรายได้ที่รัสเซียจะได้รับ

กระนั้น แม้ยุโรปมีทางเลือกในการสั่งซื้อน้ำมันราว 60% ของน้ำมันดิบที่รัสเซียส่งออก
แต่มอสโกก็มีทางเลือกเช่นเดียวกัน โดยสุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย ย้ำว่า รัฐบาลมีเจตนารมณ์ในการทำเพื่อผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของประเทศ โดยไม่สนใจคำวิจารณ์เรื่องการนำเข้าน้ำมันรัสเซีย

เขายังตอกกลับว่า ถ้าอินเดียซื้อน้ำมันรัสเซียถือเป็นการอุดหนุนสงคราม แล้วการที่ยุโรปสั่งซื้อก๊าซจากรัสเซียล่ะ

ทั้งนี้ อินเดียนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียเพิ่มขึ้นจาก 100,000 บาร์เรลต่อวัน (บีพีดี) ในเดือนกุมภาพันธ์ เป็น 370,000 บีพีดีในเดือนเมษายน และ 870,000 บีพีดีในเดือนพฤษภาคม

ปีนี้จีนนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเพิ่มขึ้นเช่นกัน ช่วยให้รัฐบาลของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 96,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 4 เดือนจนถึงเดือนเมษายน

(ที่มา: เอพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น