นายกรัฐมนตรีศรีลังกาเผยรัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินอีกไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 172,000 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนข้างหน้า เพื่อดูแลประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ ยังต้องเจรจากับ “จีน” เพื่อขอทบทวนเงื่อนไขแลกเปลี่ยนเงินตราอิงสกุลหยวน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อให้มีเงินทุนมากพอสำหรับการนำเข้าสินค้าที่จำเป็น
วิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 70 ปีทำให้ศรีลังกาเผชิญปัญหาขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งกระทบกับการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ยารักษาโรค และปุ๋ย ขณะที่มาตรการลดค่าเงินก็ทำให้ชาวศรีลังกาลุกฮือประท้วงและนำมาสู่การเปลี่ยนรัฐบาล
นายกรัฐมนตรี รานิล วิกรมสิงเห ชี้แจงต่อรัฐสภาวานนี้ (7 มิ.ย.) ว่าศรีลังกาจำเป็นต้องใช้เงินอีก 3,300 ล้านดอลลาร์เพื่อนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิง 900 ล้านดอลลาร์เพื่อนำเข้าอาหาร 250 ล้านดอลลาร์เพื่อนำเข้าก๊าซหุงต้ม และอีก 600 ล้านดอลลาร์เพื่อจัดซื้อปุ๋ยจากต่างประเทศภายในปีนี้
ธนาคารกลางศรีลังกาคาดการณ์ว่าจีดีพีปีนี้จะหดตัวลง 3.5% แต่ วิกรมสิงเห ยังเชื่อมั่นว่าการฟื้นตัวยังพอเป็นไปได้ หากศรีลังกามีการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ปรับโครงสร้างหนี้ และได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ
“แค่การสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจนั้นยังไม่พอ เราจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ทั้งระบบ... เราจำเป็นต้องทำให้เศรษฐกิจกลับมามีเสถียรภาพให้ได้ภายในสิ้นปี 2023” วิกรมสิงเห กล่าว
ศรีลังกาซึ่งมีประชากรราว 22 ล้านคน อยู่ระหว่างเจรจาขอรับแพกเกจเงินกู้ 3,000 ล้านดอลลาร์จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) นอกเหนือไปจากความช่วยเหลือที่ได้รับจากชาติมหาอำนาจอย่างจีน อินเดีย และญี่ปุ่น
เมื่อวานนี้ (7) คณะรัฐมนตรีศรีลังกาได้อนุมัติการขอสินเชื่อ 55 ล้านดอลลาร์จากธนาคาร Exim Bank ของอินเดีย โดยจะนำเงินที่ได้มาจัดซื้อปุ๋ยยูเรียจากต่างประเทศเพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนปุ๋ยในฤดูกาลเพาะปลูกปัจจุบัน
องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เตรียมระดมความช่วยเหลือนานาชาติเพื่อศรีลังกาในวันนี้ (8) และได้ให้สัญญามอบความช่วยเหลือด้านอาหาร การเกษตร และสุขภาพแก่โคลัมโบอีก 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รัฐบาลศรีลังกายังอยู่ระหว่างเจรจากับจีนเพื่อขอปรับเงื่อนไขสวอปเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์ที่ตกลงกันไว้เมื่อปีที่แล้ว โดยตามเงื่อนไขเดิมนั้นจะทำการสวอปได้ก็ต่อเมื่อศรีลังกามีเงินทุนสำรองเพียงพอสำหรับการนำเข้าสินค้าเป็นเวลา 3 เดือน แต่เนื่องจากทุนสำรองของศรีลังกาในเวลานี้ต่ำกว่าระดับดังกล่าวมาก รัฐบาลจึงมีการร้องขอให้จีนทบทวนข้อกำหนดดังกล่าวเพื่อให้การสวอปดำเนินต่อไปได้
ที่มา : รอยเตอร์