xs
xsm
sm
md
lg

เตือนแรง! ‘อีลอน มัสก์’ ขู่คว่ำดีลทวิตเตอร์ อ้างผิดสัญญา-ไม่เผยข้อมูล ‘สแปม-บัญชีปลอม’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกและซีอีโอเทสลา ออกมาขู่ถอนข้อเสนอซื้อ “ทวิตเตอร์” ด้วยวงเงิน 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอ้างว่าบริษัท “ผิดสัญญา” ที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสแปมและบัญชีปลอมตามที่เขาเรียกร้อง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ มัสก์ ออกมาเปรยว่าแผนซื้อกิจการทวิตเตอร์อาจจะไม่เกิดขึ้นจริง ทว่าครั้งนี้เขาได้สั่งให้ทนายยื่นจดหมายขู่ไปยัง วิจายา แกดเด (Vijaya Gadde) ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายกฎหมายของทวิตเตอร์ด้วย โดยกล่าวหาว่าทวิตเตอร์กำลัง “ละเมิดข้อตกลง”

คำขู่ของ มัสก์ ยังประจวบเหมาะกับช่วงเวลานี้ที่ราคาหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีดำดิ่งกันเป็นแถว รวมถึงหุ้นของเทสลาอิงค์ เนื่องจากกระแสความกังวลภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการที่สถาบันการเงินปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อ

ราคาหุ้นทวิตเตอร์ปิดตลาดวันจันทร์ลดลง 1.5% มาอยู่ที่ 36.57 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าราคา 55.20 ดอลลาร์ที่ตกลงกันไว้มากโข โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่า มัสก์ จะพยายามเกลี้ยกล่อมให้ทวิตเตอร์ยอมเจรจาราคากันใหม่ หรือไม่ก็ตัดสินใจ “ถอนตัว” ออกมา

จดหมายจากทีมทนายของ มัสก์ ย้ำข้อเรียกร้องให้ทวิตเตอร์เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับบัญชีบอท และบอกว่า มัสก์ ขอสงวนสิทธิในการยกเลิกข้อเสนอซื้อกิจการ หากทวิตเตอร์ “ละเมิดข้อตกลงอย่างชัดเจน” ด้วยการไม่ยอมให้ข้อมูลที่เขาต้องการจะรู้

ด้านทวิตเตอร์ยืนยันว่าต้องการให้ข้อตกลงซื้อกิจการครั้งนี้เป็นไปตามเงื่อนไขเดิมที่ตกลงกันไว้

มัสก์ ซึ่งประกาศตัวเป็น “ผู้สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างสมบูรณ์แบบ” (free speech absolutist) ระบุว่า สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเขาก็คือการกำจัดพวก “สแปมบอท” ให้หมดไปจากแพลตฟอร์มทวิตเตอร์

มัสก์ ทวีตเมื่อกลางเดือน พ.ค. ว่า ดีลทวิตเตอร์ “ถูกพักไว้ชั่วคราว” และเขาจะไม่เดินหน้าต่อจนกว่าบริษัทจะแสดงยื่นหลักฐานยืนยันว่ามีบัญชีบอทต่ำว่า 5% ของจำนวนผู้ใช้ทั้งหมดจริงๆ

ทั้งนี้ มัสก์ ตั้งข้อสงสัยว่าบัญชีปลอมในทวิตเตอร์อาจมีสัดส่วนถึง 20% เลยทีเดียว ขณะที่พวกนักวิจัยอิสระประเมินกันว่า บัญชีทวิตเตอร์ที่เป็นสแปมบอทน่าจะมีอยู่ประมาณ 9-15%

ในจดหมายของเขา มัสก์ ระบุว่าเขาจำเป็นต้องได้ข้อมูลเหล่านี้มาเพื่อทำการวิเคราะห์ฐานผู้ใช้ทวิตเตอร์ด้วยตัวเอง เนื่องจากไม่เชื่อใน “ระเบียบวิธีที่หย่อนยาน” ของทางบริษัท ขณะที่ทวิตเตอร์ก็ยืนกรานตัวเลขสแปมบอทต่ำกว่า 5% เหมือนเดิม แต่ไม่ขอชี้แจงรายละเอียดว่าได้ตัวเลขนี้มายังไง

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น