ผู้บริหาร "ทรีซิกตี้ไฟว์" แจงข้อมูลต่อ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่ม เหตุไม่ส่งงบการเงินและไม่พบข้อมูลว่าบริษัทไม่มีรายได้จากการขายและให้บริการในงวด 6 เดือน ปี 2564 รวมทั้งจำนวนกรรมการตรวจสอบไม่ครบ
นายเจษฎา สุภาสัย ประธานคณะกรรมการ บริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ จำกัด (มหาชน) หรือ TSF แจ้งว่า ตามที่บริษัทได้นำส่งรายงานทางการเงินสำหรับไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ฉบับก่อนสอบทานจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตมายังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์) ปรากฏข้อมูลว่าบริษัทไม่มีรายได้จากการขายและให้บริการในงวด 6 เดือน ปี 2564 ประกอบกับบริษัทไม่ได้นำส่งงบการเงินและรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดยังไม่จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2564 และ 2565 รวมทั้งมีจำนวนกรรมการตรวจสอบไม่ครบถ้วน และตลาดหลักทรัพย์ขอให้บริษัทชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมนั้น
บริษัทขอชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเป็นรายประเด็นดังนี้
1.สถานะการประกอบธุรกิจของบริษัท
จากข้อมูลที่ปรากฏในรายงานทางการเงินสำหรับไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ฉบับก่อนสอบทาน บริษัทไม่มีรายได้จากการขายและให้บริการในงวด 6 เดือน ปี 2564 ประกอบกับเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564บริษัทได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคดีความระหว่างบริษัทกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) กรณีศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้บริษัทชำระหนี้เงินให้แก่ กทม. จำนวน 402 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย (มูลฟ้อง 1,123 ล้านบาท) โดยหนี้เงินดังกล่าวเกิดจากการที่บริษัทผิดสัญญาในช่วงปี 2559 ไม่ชำระค่าสิทธิรายเดือน ค่าสิทธิรายปี ค่าปรับ และค่าเสียหายอื่นๆ อันเกิดขึ้นตามสัญญาระหว่างบริษัทกับ กทม.
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 กทม. ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด นอกจากนี้ กทม. ยังได้ฟ้องร้องบริษัทจำนวนทุนทรัพย์ 243 ล้านบาท กรณีที่บริษัทผิดสัญญาในปี 2561 ไม่ชำระค่าสิทธิรายเดือนคงค้าง ค่าปรับจากการใช้สิทธิค่าปรับจากการไม่ถอดถอนป้าย ค่าเสียหาย จากการขาดประโยชน์ซึ่งคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ตลาดหลักทรัพย์จึงขอให้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้
1.1) ลักษณะการประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัทในปัจจุบัน สินทรัพย์และกิจกรรมการประกอบธุรกิจที่ก่อให้เกิดรายได้หลัก โดยขอให้อธิบายแยกเป็นรายบริษัท
นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คณะกรรมการชุดใหม่เริ่มเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการเกือบทั้งคณะปรากฏว่าก่อนหน้าเดือนกรกฎาคม 2563 กลุ่มบริษัทได้มีการยกเลิกสัญญาที่เกี่ยวกับธุรกิจหลักเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสัญญาโครงการต่างๆ กับภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งได้เลิกจ้างพนักงานทั้งหมด ส่งผลให้ในช่วงเวลาดังกล่าวกลุ่มบริษัทคงมีรายได้จากการประกอบกิจการเพียงเล็กน้อยจากการดำเนินกิจการคงเหลือเท่านั้น ประกอบกับลูกหนี้รายใหญ่ของกลุ่มบริษัทไม่มีการชำระหนี้ ซึ่งจะต้องดำเนินการสืบทรัพย์และบังคับคดีต่อเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน ส่วนทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัทเกือบทั้งหมดอยู่ในสภาพที่ชำรุดเสียหายมากเสื่อมสภาพ และไม่สามารถนำมาใช้งานได้ทันที ซึ่งจะต้องซ่อมแซมใหม่ทั้งหมดเพื่อให้สามารถนำทรัพย์สินกลับมาใช้ในการประกอบธุรกิจได้
คณะกรรมการจึงได้วางแผนการประกอบธุรกิจในลักษณะใหม่ โดยได้วางแผนธุรกิจร่วมกับคู่ค้าภาคเอกชน หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานภาครัฐจำนวนหลายโครงการ โดยเน้นธุรกิจที่ใช้เงินทุนหมุนเวียนไม่มากและใช้บุคลากรจำนวนน้อย เพื่อให้บริษัทใช้เงินทุนหมุนเวียนไม่มากเกินไปและไม่เกิดค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น ซึ่งธุรกิจแต่ละรูปแบบที่ได้วางแผนไว้อาจจะสามารถดำเนินการได้แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ประกอบกับบริษัทมีคดีข้อพิพาทกับ กทม.ซึ่งบริษัทถูก กทม. ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากบริษัทผิดสัญญา โดยทุนทรัพย์ที่บริษัทถูก กทม.ฟ้องร้องรวมทุกคดีประมาณมากกว่า 1,200 ล้านบาท ก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจอย่างมาก
เนื่องจากคู่ค้าของบริษัทไม่มีความเชื่อมั่นว่าหากบริษัทแพ้คดี กทม. และถูกบังคับคดีจาก กทม.จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทมากน้อยเพียงใด ซึ่งในประเด็นเรื่องคดีข้อพิพาทระหว่างบริษัทกับ กทม.นั้น บริษัทได้หาช่องทางขอเจรจาเกี่ยวกับรายละเอียดและเงื่อนไขในการชำระหนี้กับ กทม. มาโดยตลอด แต่ด้วยเหตุว่า กทม. มีฐานะเป็นหน่วยงานภาครัฐ จึงมีข้อจำกัดและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องมากไม่สามารถเจรจาชำระหนี้ดังเช่นเอกชนได้
แม้ว่าบริษัทอาจจะสามารถประกอบธุรกิจโดยการนำเงินทุนหมุนเวียนที่ยังคงเหลือมาใช้ในการประกอบธุรกิจ อาจจะไม่สามารถสร้างผลกำไรได้ในระยะเวลาสั้น แม้ว่าอาจจจะสามารถสร้างรายได้ได้ก็ตาม เนื่องจากการเริ่มประกอบธุรกิจใหม่จะต้องลงทุนในการหาทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจเพิ่มเติมหรือจะต้องซ่อมแซมทรัพย์สินเดิมซึ่งเป็นป้ายโฆษณาที่ผ่านการใช้งาน มีสภาพชำรุดเสียหายมากและเสื่อมสภาพ รวมทั้งจะต้องจัดหาสถานที่ติดตั้งป้าย ซึ่งจะมีค่าขนส่ง ติดตั้ง ค่าเช่า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ จำนวนมาก คณะกรรมการจึงได้พยายามนำเสนอแผนธุรกิจและแผนการแก้ไขปัญหาของบริษัทกับนักลงทุนประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่ นักลงทุนต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมรายใหญ่ของบริษัทบางราย
เพื่อระดมเงินทุนมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจด้านต่างๆ รวมทั้งเพื่อนำเงินบางส่วนมาชำระหนี้ให้แก่ กทม.แต่ไม่ประสบผลสำเร็จดังจะเห็นได้จากการเพิ่มทุนของบริษัทในแต่ละครั้งที่ได้รับเงินเพิ่มทุนมาเพียงเล็กน้อยจนกระทั่งต้องยกเลิกการเพิ่มทุน และคืนเงินให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน
จากที่ได้เรียนชี้แจงข้างต้น ในปัจจุบัน กลุ่มบริษัทยังไม่มีธุรกิจที่ชัดเจน มีเพียงโครงการและแผนธุรกิจที่จัดเตรียมไว้แล้ว แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยเหตุข้อจำกัดของเงินทุนหมุนเวียน เงินลงทุน คดีข้อพิพาท บุคลากร รวมทั้งการขาดกรรมการและฝ่ายบริหารที่จะเข้ามาร่วมกันดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทต่อไป
ในส่วนของการแต่งตั้งกรรมการเข้าแทนที่กรรมการที่ลาออก ซึ่งรวมทั้งกรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ และกรรมการบริหาร เพื่อให้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในบริษัทนั้นคณะกรรมการอยู่ระหว่างการหารือกับกลุ่มผู้ถือหุ้นปัจจุบันของบริษัทในการเสนอชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการต่างๆ อย่างไรก็ตาม หากล่วงพ้นเวลาพอสมควรแล้วและไม่มีการเสนอชื่อบุคคลใดเพื่อแต่งตั้งดำรงตำแหน่งกรรมการ คณะกรรมการจะประกาศผ่านตลาดหลักทรัพย์เพื่อขอเชิญผู้ถือหุ้นเสนอชื่อบุคคลเข้ามาเพื่อนำเสนอแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการที่ขาดของบริษัทในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นต่อไป
1.2) จำนวนและหน้าที่ของบุคลากรในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจในปัจจุบันของแต่ละบริษัท รวมถึงผู้บริหารที่ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารซึ่งปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้แต่งตั้งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว
ตามที่ได้ชี้แจงในข้อ 1.1 ปัจจุบัน บริษัทและบริษัทย่อยไม่มีบุคลากรในการปฏิบัติงานและไม่มีฝ่ายบริหาร จะมีเพียงคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ดูแลกิจการของบริษัท โดยเตรียมความพร้อมทางด้านธุรกิจ แนวทางการระดมทุนการติดต่อนักลงทุนเพื่อเพิ่มทุน การเจรจารายละเอียดและเงื่อนไขการชำระหนี้ให้แก่ กทม.การติดตามทวงถามหนี้จากลูกหนี้ การชำระค่าใช้จ่ายคงที่ต่างๆ เช่น ค่าเช่าสถานที่ ธรรมเนียมหน่วยงานรัฐ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการบริหารแต่อย่างใด ซึ่งคณะกรรมการอยู่ระหว่างการหารือกับกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัท เพื่อมอบหมายและแต่งตั้งบุคคลใดๆ เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการ และฝ่ายบริหาร หากล่วงพ้นเวลาพอสมควรแล้วและไม่มีการเสนอชื่อบุคคลใดเพื่อแต่งตั้งดำรงตำแหน่งกรรมการคณะกรรมการจะประกาศผ่านตลาดหลักทรัพย์เพื่อขอเชิญผู้ถือหุ้นเสนอชื่อบุคคลเข้ามาเพื่อนำเสนอแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการที่ขาดของบริษัทในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นต่อไป
1.3) ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับสถานะการประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัทในปัจจุบัน
คณะกรรมการเห็นว่าหากยังไม่มีความคืบหน้าและความชัดเจนในการระดมทุนเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่ กทม. การหานักลงทุน การเจรจารายละเอียดและเงื่อนไขการชำระหนี้ให้ กทม.รวมทั้งการแต่งตั้งกรรมการและฝ่ายบริหารเข้ามาดำเนินการประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัทต่อกลุ่มบริษัทจำเป็นจะต้องชะลอการประกอบธุรกิจจนกว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว
1.4) ความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีความที่มีกับ กทม. ตามที่กล่าวข้างต้น รวมถึงคดีความฟ้องร้องอื่น โดยอธิบายผลกระทบของคดีความต่อฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงาน รวมทั้งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัท
ในปัจจุบัน เจ้าหนี้ของกลุ่มบริษัทมีเพียงรายเดียว คือ กทม. โดยมีข้อพิพาทรวม 2 คดีดังนี้
1.คดีหมายเลขดำที่ 1869/2560 และคดีหมายเลขแดงที่ 1750/2564 จำนวนทุนทรัพย์ที่ กทม. ฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัท จำนวนประมาณ 1,123,153,699.84 บาท โดยศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้บริษัทชำระหนี้เงินให้แก่ กทม. จำนวน 401,601,987.52 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2560 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ (คำนวณดอกเบี้ยจนถึงปัจจุบัน ประมาณ 140 ล้านบาท ซึ่งรวมกับต้นเงินที่จะต้องชำระแล้ว ในปัจจุบัน บริษัทมีหนี้ตามคำพิพากษาที่จะต้องชำระให้แก่กรุงเทพมหานคร ประมาณ 540 ล้านบาท)
โดยหนี้เงินดังกล่าวเกิดจากการที่บริษัทผิดสัญญาในช่วงเวลาประมาณ ปี 2559 ไม่ชำระค่าสิทธิรายเดือนค่าสิทธิรายปี ค่าปรับ และค่าเสียหายอื่นๆ อันเกิดขึ้นตามสัญญาระหว่างบริษัทกับกรุงเทพมหานคร และจะต้องชำระหนี้ดังกล่าวทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
โดยคดีนี้ กทม. อยู่ระหว่างการอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งจากการสอบถาม กทม. ได้รับแจ้งว่าทาง กทม.และพนักงานอัยการมีความเห็นตรงกันว่าศาลปกครองกลางกำหนดจำนวนเงินที่บริษัทจะต้องชำระน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับทุนทรัพย์ที่ฟ้องร้องและเทียบกับความเสียหายที่ กทม. ได้รับจากการที่บริษัทผิดสัญญาซึ่งปัจจุบันศาลปกครองสูงสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะรับอุทธรณ์ของ กทม. หรือไม่ และในปัจจุบัน เนื่องจากบริษัทไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่ กทม. ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางได้ กทม. จึงอยู่ในขั้นตอนการบังคับคดีกับบริษัท
2.คดีหมายเลขดำที่ 989/2562 จำนวนทุนทรัพย์ที่ กทม. ฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัท จำนวนประมาณ 243,035,225.38 บาท เนื่องจากบริษัทผิดสัญญาในปี 2561 ไม่ชำระค่าสิทธิรายเดือนคงค้างค่าปรับจากการใช้สิทธิ ค่าปรับจากการไม่ถอดถอนป้าย ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ ซึ่งคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง
สรุป หากรวมจำนวนเงินที่บริษัทจะต้องชำระให้แก่ กทม. ทั้ง 2 คดีข้างต้น บริษัทอาจจะต้องชำระให้แก่ กทม. เป็นจำนวนเงินประมาณ 780 ล้านบาท
ในส่วนของลูกหนี้ของกลุ่มบริษัทนั้น สามารถแยกเป็นรายดังนี้
1.บริษัท จี.ไอ.เอส.พาร์ค (ประเทศไทย) จำกัด
ศาลอุทธรณ์พิพากษาบริษัท จี.ไอ.เอส.พาร์ค (ประเทศไทย) จำกัด ชำระเงินจำนวน 49,022,911.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 กันยายน 2561 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564และอัตราร้อยละ 3 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 1,550,796.50 บาท และชำระเงิน 2,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562) ถึงวันที่ 10เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 3 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จนกว่าจะชำระเสร็จ
ปัจจุบัน บริษัท จี.ไอ.เอส.พาร์ค (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จากการสืบทรัพย์โดยทนายความ ยังไม่ปรากฏว่าบริษัทจี.ไอ.เอส.พาร์ค (ประเทศไทย) จำกัด มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะสามารถนำมาชำระหนี้ได้
2.บริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์ กรุ๊ป จำนวนหนี้ประมาณ 60,000,000 บาทนั้น บริษัทอยู่ระหว่างการบังคับคดี และไม่พบทรัพย์สินที่จะยึดและหรืออายัดเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่บริษัทได้
3.บริษัท เน็คท์คิวบ์ จำกัด จำนวนหนี้ประมาณ 3,000,000 บาทนั้น บริษัทอยู่ระหว่างการบังคับคดี และไม่พบทรัพย์สินที่จะยึดและหรืออายัดเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่บริษัทได้
4.บริษัท สมาร์ทเรลเทคโนโลยี จำกัด จำนวนหนี้ประมาณ 5,260,000 บาท นั้น บริษัทอยู่ระหว่างการบังคับคดี และไม่พบทรัพย์สินที่จะยึดและหรืออายัดเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่บริษัทได้
5.บริษัท โภคาส เวิลด์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวหนี้ประมาณ 1,143,450 บาท นั้น บริษัทอยู่ระหว่างการบังคับคดี เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดของลูกหนี้ข้างต้น แม้ว่าจะรวมยอดเงินที่ลูกหนี้ค้างชำระแล้วยังไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ให้แก่ กทม. และจากการหารือกับทนายความเกี่ยวกับการบังคับคดีกับลูกหนี้มีเพียงลูกหนี้รายบริษัท โภคาส เวิลด์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่บริษัทมีโอกาสที่จะได้รับชำระหนี้ส่วนลูกหนี้รายที่ 1-4 บริษัทได้ดำเนินการสืบทรัพย์เพื่อบังคับคดีมาเป็นเวลาหลายปียังไม่พบทรัพย์สินที่จะยึดและหรืออายัดเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่บริษัทได้
2.การนำส่งงบการเงินและรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท
บริษัทขอชี้แจงว่าเหตุที่บริษัทไม่สามารถจัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2564 และปี 2565 ได้เนื่องจากบริษัทยังไม่สามารถสรรหาผู้สอบบัญชีเพื่อนำเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งได้ ซึ่งตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 กำหนดให้จะต้องมีการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี โดยตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 จนกระทั่งปัจจุบัน บริษัทได้พยายามติดต่อสำนักงานสอบบัญชีหลายสำนักงานเพื่อให้ทำการสอบทานและตรวจสอบงบการเงินของบริษัทและบริษัทย่อย ประจำปี 2564 แต่ไม่มีสำนักงานสอบบัญชีรายใดตอบรับในเรื่องดังกล่าว โดยเหตุผลที่ได้รับมา คือบริษัทอยู่ในสถานะที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินในสัดส่วนที่มากและให้บริษัทดำเนินการแก้ไขเรื่องภาระหนี้สินที่จะต้องชำระกับกรุงเทพมหานครให้มีความชัดเจนก่อน เพราะภาระหนี้สินที่บริษัทมีหน้าที่ต้องชำระต่อกรุงเทพมหานครอันเนื่องจากการที่บริษัทผิดสัญญาในอดีตนั้น เป็นสาระสำคัญต่อการดำเนินการกิจการต่อไปของบริษัท
3.ความคืบหน้าในการแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบ
ตามที่ได้เรียนชี้แจงข้างต้น บริษัทขอชี้แจงว่าคณะกรรมการอยู่ระหว่างการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบของบริษัทให้ครบถ้วน โดยสรรหาจากบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่ตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด แต่เนื่องจากสถานการณ์การประกอบธุรกิจของบริษัทในปัจจุบัน รวมทั้งคดีข้อพิพาทต่างๆ ของบริษัทกับ กทม.ซึ่งบริษัทมีภาระหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่ กทม.จำนวนมากและบริษัทยังไม่สามารถเพิ่มทุนและหรือหานักลงทุนมาเพิ่มทุนเพื่อนำเงินชำระหนี้ให้แก่ กทม. ได้ รวมทั้งฐานะทางการเงินและการประกอบกิจการของบริษัทที่มีความไม่แน่นอนอย่างชัดเจนว่าจะสามารถกลับมาประกอบกิจการต่อได้หรือไม่ ส่งผลให้ยังไม่สามารถสรรหาบุคคลใดเข้ามาเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบของบริษัทได้
อย่างไรก็ตาม หากล่วงพ้นเวลาพอสมควรแล้ว คณะกรรมการจะประกาศผ่านตลาดหลักทรัพย์เพื่อขอเชิญผู้ถือหุ้นเสนอชื่อบุคคลเข้ามาเพื่อนำเสนอแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบของบริษัทในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นต่อไป