xs
xsm
sm
md
lg

อดีต จนท.ระดับสูงสหรัฐฯ เตือนยูเครนไม่อาจเอาชนะรัสเซีย แนะโน้มน้าวเคียฟสละดินแดนเจรจายุติสงคราม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยูเครนไม่สามารถเอาชนะรัสเซียได้ และสหรัฐฯ ต้องโน้มน้าวเคียฟให้ยอมเจรจากับมอสโก เพื่อยุติความขัดแย้ง จากความเห็นของ ฮิวจ์ เดอ ซานติส ผู้ดูแลงานด้านนาโต้และวางแผนนโยบายควบคุมอาวุธ ในสมัยรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน แห่งสหรัฐฯ

เดอ ซานติส เขียนแสดงความคิดเห็นในบทความที่ตีพิมพ์ลงในนิตยสารเดอะ เนชันแนล อินเทอร์เรสต์ ที่เผยแพร่เมื่อวันเสาร์ (4 มิ.ย.) ระบุว่า การเอาชนะกองกำลังรัสเซียในสมรภูมิและการกอบกู้บูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน ในนั้นรวมถึงทวงคืนไครเมีย "ถือเป็นการลงโทษอย่างสาสมต่อการรุกรานที่ปราศจากการยั่วยุของรัสเซีย"

"อย่างไรก็ตาม มันจะมีค่าพอต่อเหตุนองเลือดยิ่งขึ้นในยูเครนหรือไม่ เช่นเดียวกับความเป็นไปได้ที่สงครามจะขยายวงกว้างขึ้น อาจมีการใช้อาวุธเคมีหรืออาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิค ก่อความโกลาหลแก่เศรษฐกิจโลกยิ่งขึ้นไปอีก และฉุดยุโรปหวนคืนสู่การแบ่งขั้ว" เขาตั้งคำถาม

อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศรายนี้ระบุต่อว่า "ชัยชนะของทหารยูเครน ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ และผลลัพธ์การเจรจาคือเป้าหมายในความเป็นจริงเพียงหนึ่งเดียว"

ด้วยเหตุนี้ "สหรัฐฯ และพันธมิตรต้องโน้มน้าวเคียฟให้หาทางจบสงครามนี้ ในนั้นรวมถึงใช้การจำกัดความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเติม เป็นเครื่องมือ"

วอชิงตันให้การช่วยเหลือเคียฟอย่างกระตือรือร้นระหว่างเกิดความขัดแย้ง สนับสนุนทั้งอาวุธ เงินทุน และข่าวกรอง โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อนุมัติแพกเกจช่วยเหลือแก่ยูเครน มูลค่าถึง 40,000 ล้านดอลลาร์

เดอ ซานติส ชี้ว่า ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน.และพวกผู้สนับสนุนของเขาในยุโรปตะวันออกและประเทศแถบบอลติกทั้งหลาย ควรมาพร้อมกับเงื่อนไขต่างๆ ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่า ยูเครน จะปรับเปลี่ยนสถานะกลายเป็นประเทศเป็นกลาง และอาจจำเป็นต้องยอมมอบภูมิภาคดอนบาสกับไครเมียให้อยู่ในเงื้อมมือรัสเซีย เพื่อให้การเจรจาสันติภาพประสบความสำเร็จ

เมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และอียูในปัจจุบัน กล่าวเหมือนกัน ระบุว่าอยากให้มีการเจรจายุติความขัดแย้ง ในขณะที่กองกำลังรัสเซียยังคงรุกคืบอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคดอนบาส

ในสัปดาห์ที่แล้ว พล.อ.มาร์ค มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐฯ ระบุว่า "ผลลัทธ์จากการเจรจา คือทางเลือกที่สมเหตุสมผล แต่ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องหาข้อสรุปของตนเอง"

ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ โจเซฟ บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป เรียกร้องอียูส่งมอบอาวุธแก่ยูเครนเพิ่มเติม และร้องขอกระทั่งให้ยกระดับคว่ำบาตรเล่นงานรัสเซีย อย่างไรก็ตาม เขาอธิบายว่า ที่จำเป็นต้องดำเนินการดังกล่าวเพื่อเสริมความเข้มแข็งแก่สถานะของยูเครน ในการเจรจาสันติภาพใดๆ ในอนาคตกับมอสโก ทั้งที่ราวๆ 1 เดือนก่อน บอเรลล์ เน้นย้ำว่า "ยูเครนต้องเอาชนะสงครามนี้ในสมรภูมิรบเท่านั้น"

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์/เดอะ เนชันแนล อินเทอร์เรสต์)


กำลังโหลดความคิดเห็น