xs
xsm
sm
md
lg

ระอุ! จีนส่งฝูงบินราว 30 ลำบินเข้าเขตป้องกันภัยไต้หวัน ล่วงล้ำครั้งใหญ่สุดตั้งแต่มกราคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไต้หวันเมื่อวันจันทร์ (30 พ.ค.) รายงานเผชิญเหตุกองทัพอากาศจีนล่วงล้ำเขตป้องกันภัยทางอากาศของพวกเขา ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม และทางกระทรวงกลาโหมของเกาะแห่งนี้ได้ส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นเตือนฝูงบินจีนให้ถอยห่างออกไป ในเหตุการณ์ที่โหมกระพือความตึงเครียดให้หนักหนาสาหัสขึ้นไปอีก

ไต้หวัน ซึ่งจีนอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งในดินแดนของพวกเขา คร่ำครวญมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมาหรือนานกว่านั้น เกี่ยวกับภารกิจของกองทัพอากาศจีนใกล้เกาะที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแห่งนี้ ซึ่งบ่อยครั้งล่วงล้ำพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ใกล้กับหมู่เกาะปราตัส ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของไต้หวัน

ไทเป เรียกความเคลื่อนไหวทางทหารซ้ำๆ ของจีนว่าเป็นกลยุทธ์สงครามสีเทา ที่ออกแบบมาเพื่อก่อความเหนื่อยล้าแก่กองกำลังไต้หวัน ด้วยการกระตุ้นให้พวกเขาต้องรุดขึ้นบินซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมถึงทดสอบปฏิกิริยาตอบสนองของไต้หวัน

กระทรวงกลาโหมไต้หวัน ระบุว่า ในภารกิจล่าสุดของจีน ในนั้น 22 ลำเป็นเครื่องบินขับไล่ ที่เหลือเป็นเครื่องบินสงครามอิเล็กทรอนิกส์ อากาศยานแจ้งเตือนล่วงหน้าและเครื่องบินต้านเรือดำน้ำ

จากแผนที่ทางกระทรวงกลาโหมมอบให้รอยเตอร์ พบว่า ฝูงบินเหล่านี้บินเข้าไปในพื้นที่หนึ่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่เกาะปราตัส แต่ห่างจากตัวเกาะไต้หวันเองค่อนข้างมาก

กระทรวงกลาโหมไทเประบุว่า ไต้หวันได้ส่งเครื่องบินประจัญบาน ขึ้นไปแจ้งเตือนให้ฝูงบินจีนถอยห่างออกไป พร้อมกับใช้ระบบขีปนาวุธเพื่อติดตามฝูงบินเหล่านั้น

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ถือเป็นการรุกรานครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่ไต้หวันรายงานพบเห็นเครื่องบินจีน 39 ลำ ล่วงล้ำเข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศของพวกเขาเมื่อวันที่ 23 มกราคม

ยังไม่มีความเห็นมาจากจีน แต่ในอดีตที่ผ่านมา ปักกิ่งมักอ้างความเคลื่อนไหวดังกล่าวว่าเป็นการฝึกฝน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อปกป้องอำนาจอธิปไตยของประเทศ

สัปดาห์ที่แล้ว กองทัพจีนระบุว่า การซ้อมรบแแถวๆ ไต้หวันของพวกเขาเมื่อไม่นานที่ผ่านมา คือคำเตือนจริงจังถึงไทเป ต่อกรณีที่พวกเขาสมคบคิดกับสหรัฐฯ

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ก่อความขุ่นเคืองแก่จีน จากท่าทีที่ดูเหมือนเป็นการส่งสัญญาณเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์ไปจาก หลัก "ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์ (strategic ambiguity)" ในประเด็นไต้หวัน ด้วยการบอกว่าอเมริกาจะเข้าเกี่ยวข้องทางทหาร หากว่าจีนโจมตีเกาะแห่งนี้

ก่อนหน้านี้ แม้สหรัฐฯ จะมีพันธกรณีตามกฎหมายที่จะต้องช่วยเหลือให้ไต้หวันสามารถปกป้องตนเองได้ แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลอเมริกันยึดถือหลัก “ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์” คือไม่เคยประกาศยืนยันชัดเจนว่าจะแทรกแซงทางทหารเพื่อปกป้องไต้หวันในกรณีที่ถูกจีนรุกราน

จีนยกระดับกดดันให้ไต้หวันยอมรับคำกล่าวอ้างอำนาจอธิปไตยของพวกเขา ส่วนรัฐบาลไต้หวันบอกว่าต้องการสันติภาพ แต่จะปกป้องตนเองถ้าถูกโจมตี

ไม่มีการยิงเตือนใดๆ และฝูงบินจีนก็ไม่ได้บินเข้ามาในน่านฟ้าของไต้หวัน แต่ฝูงบินเหล่านั้นล่วงล้ำเข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศของเกาะแห่งนี้ ซึ่งเป็นพื้นที่อันกว้างขวางที่กำหนดขึ้นมาเพื่อเฝ้าระวังและสังเกตการณ์ ให้เวลาเพิ่มเติมสำหรับการตอบโต้ภัยคุกคามใดๆ

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น