xs
xsm
sm
md
lg

ไบเดนย้ำท่าทีคลุมเครือต่อไต้หวันยังคงเดิม ควอดแถลงกังวลสถานการณ์สู้รบในยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ไบเดนย้ำยังไม่เปลี่ยนนโยบาย “ความคลุมเครือทางกลยุทธ์” ต่อไต้หวัน หลังจากเมื่อวันจันทร์ (23 พ.ค.) เพิ่งประกาศชัดเจนว่า พร้อมใช้กำลังปกป้องไทเปจากการรุกรานของจีน

ในวันอังคาร (24 พ.ค.) ผู้นำกลุ่มควอด ประกอบด้วย อเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย ซึ่งพบกันที่โตเกียวได้ออกแถลงการณ์ร่วมระบุว่า ทั้งหมดได้หารือเกี่ยวกับการรับมือความขัดแย้งในยูเครน และวิกฤตมนุษยธรรมที่ยังดำเนินอยู่ในขณะนี้ โดยไม่มีการระบุถึง “รัสเซีย” แม้แต่คำเดียว ซึ่งเห็นได้ชัดว่า เป็นการโอนอ่อนให้อินเดียที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมอสโก

นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น กล่าวระหว่างการแถลงข่าวว่า ผู้นำทั้ง 4 ที่รวมถึงนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย แสดงความกังวลร่วมกันเกี่ยวกับยูเครน และเห็นพ้องเกี่ยวกับความสำคัญของหลักนิติธรรม อธิปไตยและบูรณภาพด้านดินแดน

อย่างไรก็ตาม การแสดงความคิดเห็นของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของอเมริกาเมื่อวันจันทร์ (23 พ.ค.) เกี่ยวกับไต้หวัน ซึ่งไม่ได้อยู่ในวาระการประชุมด้วยซ้ำ กลับกลายเป็นที่สนใจของคณะผู้แทนจากประเทศต่างๆ และสื่อมวลชน

แม้กฎหมายกำหนดให้อเมริกาต้องมอบความช่วยเหลือเพื่อให้ไต้หวันป้องกันตัวเองได้ แต่ที่ผ่านมา วอชิงตันยึดถือนโยบาย “ความคลุมเครือเชิงกลยุทธ์” เวลาถูกตั้งคำถามว่า อเมริกาจะแทรกแซงทางทหารเพื่อปกป้องไต้หวันหรือไม่ในกรณีที่ถูกจีนโจมตี แต่ดูเหมือนไบเดนได้ฉีกนโยบายนี้เรียบร้อยแล้วเมื่อวันจันทร์

อย่างไรก็ตาม ในวันอังคาร เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไบเดนยืนยันว่า นโยบายของอเมริกาต่อไต้หวันยังคงเดิม ซึ่งเขาย้ำไปแล้วระหว่างการแถลงข่าวในวันจันทร์

คำแถลงล่าสุดของไบเดนมีขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอเมริกาหลายคนออกมายืนยันแบบเดียวกันว่า แนวทางต่อไต้หวันที่ดำเนินมาหลายทศวรรษยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

จีนนั้นถือว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งที่แบ่งแยกไม่ได้ของตนเอง และระบุว่า ไต้หวันเป็นประเด็นอ่อนไหวและสำคัญที่สุดในความสัมพันธ์กับวอชิงตัน

นักวิจารณ์บางคนระบุว่า ไบเดนพูดผิด แต่นักวิเคราะห์คนอื่นๆ ทักท้วงว่า ประสบการณ์ยาวนานด้านนโยบายต่างประเทศของไบเดน และการที่เขาเลือกพูดเรื่องนี้ระหว่างที่นั่งอยู่ข้างคิชิดะ และหลังจากที่รัสเซียบุกยูเครน บ่งชี้ว่า ประมุขทำเนียบขาวไม่ได้พูดผิด

โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนออกมาตอบโต้เมื่อวันจันทร์ว่า ปักกิ่งไม่มีทางประนีประนอมหรือยอมอ่อนข้อเรื่องอธิปไตยและบูรณภาพด้านดินแดนของประเทศ

นอกจากประเด็นไต้หวันแล้ว ไบเดนยังประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซียว่า ตอกย้ำความสำคัญของเป้าหมายของหลักการพื้นฐานของระเบียบโลก อธิปไตยและบูรณภาพด้านดินแดนของประเทศ และเสริมว่า กฎหมายระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชนต้องได้รับการปกป้อง ไม่ว่าจะมีการละเมิดที่ใดในโลกก็ตาม

คิชิดะประณามรัสเซียเช่นกัน พร้อมกล่าวว่า การรุกรานยูเครนส่งผลสั่นสะเทือนต่อรากฐานระเบียบโลก และท้าทายโดยตรงต่อสหประชาชาติ (ยูเอ็น) อีกทั้งต้องไม่ปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในอินโด-แปซิฟิก ด้านไบเดนขานรับว่า อเมริกาจะเคียงข้าง “หุ้นส่วนประชาธิปไตยที่ใกล้ชิด” ผลักดันให้ภูมิภาคนี้เปิดกว้างและเสรี

ทั้งนี้ อินเดียทำให้อเมริกาขุ่นใจจากการไม่สนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียและการประณามการที่มอสโกบุกยูเครน ซึ่งทางทำเนียบขาวเผยว่า ไบเดนประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซียระหว่างประชุมทวิภาคีกับโมดี แต่ไม่ได้ระบุว่า ผู้นำอินเดียเห็นด้วยหรือไม่

แม้อินเดียพัฒนาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอเมริกาในช่วงหลายปีมานี้ และยังเป็นหุ้นส่วนสำคัญในกลุ่มควอด แต่ขณะเดียวกัน อินเดียมีความสัมพันธ์มายาวนานกับรัสเซียที่ยังคงเป็นซัปพลายเออร์หลักด้านอาวุธและน้ำมันของอินเดีย

ทางฝ่ายแอนโทนี อัลบานีส นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของออสเตรเลีย กล่าวว่า ในที่ประชุมควอดมีการแสดงความคิดเห็นอย่างหนักแน่นเกี่ยวกับรัสเซีย แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ

อัลบานีส ยังกล่าวอีกว่า เป้าหมายของตนคือปรับแนวทางให้สอดคล้องกับลำดับความสำคัญของกลุ่มควอด และแจ้งกับผู้นำอื่นๆ ว่า ออสเตรเลียต้องการให้ทั้ง 3 ประเทศเป็นแกนนำการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
กำลังโหลดความคิดเห็น