ประธานาธิบดีอเล็กซานดาร์ วูชิช แห่งเซอร์เบีย แถลงว่าบรรลุข้อตกลงอุปทานก๊าซธรรมชาติ "ที่น่าพอใจอย่างยิ่ง" กับรัสเซีย สวนทางกับความพยายามของสหภาพยุโรป (อียู) ที่หวังลดการพึ่งพาพลังงานของมอสโกแบบค่อยเป็นค่อยไป
"สิ่งที่พบสามารถรับประกันกับคุณคือ เราบรรลุข้อตกลงองค์ประกอบหลักๆ ที่น่าพอใจอย่างมากสำหระบเซอร์เบีย" ประธานาธิบดีเซอร์เบียกล่าวกับผู้สื่อข่าวในวันอาทิตย์ (29 พ.ค.) หลังจากบรรลุข้อตกลงระหว่างพูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน
"เราเห็นพ้องจะลงนามกันในสัญญา 3 ปี ซึ่งส่วนประกอบแรกของสัญญาจะดีกับฝ่ายเซอร์เบียเป็นอย่างมาก" เขากล่าว
วูชิช อ้างว่าเขาต้องการพาเซอร์เบียเข้าร่วมกับสหภาพยุโรป แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขามีความสัมพันธ์กับรัสเซีย พันธมิตรเก่าแก่ แน่นแฟ้นขึ้น ประธานาธิบดีรายนี้ปฏิเสธประณามรัสเซียอย่างชัดเจนต่อกรณีรุกรานยูเครน และประเทศของเขาไม่เข้าร่วมกับตะวันตกในการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานมอสโก
ข้อตกลงซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่างเซอร์เบียกับรัสเซีย มีขึ้นหลังจากมอสโกตัดขาดก๊าซธรรมชาติที่ป้อนแก่ 3 ชาติสมาชิกอียู อย่างฟินแลนด์ โปแลนด์ และบัลแกเรีย
คาดว่าข้อตกลงซื้อขายก๊าซธรรมชาติครั้งนี้ น่าจะมีการลงนามระหว่างที่ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เดินทางเยือนกรุงเบลเกรดในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ถือเป็นกรณีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซียเดินทางเยือนประเทศหนึ่งๆ ในยุโรปที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นนัก นับตั้งแต่ปฏิบัติการรุกรานยูเครนเริ่มต้นขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์
แม้ปรากฏรายงานความโหดเหี้ยมต่างๆ ในยูเครน ระหว่างการรุกรานของรัสเซีย แต่ วูชิช และผู้นำคนอื่นๆ ของเซอร์เบีย ส่งเสียงโวยวายว่าถูกตะวันตกกดดันให้เข้าร่วมมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานมอสโก
พวกเจ้าหน้าที่เซอร์เบียยืนยันว่าประเทศของพวกเขาจะขัดขืนแรงกดดันดังกล่าว แม้กระทั่งมันหมายความว่าพวกเขาอาจต้องละทิ้งเป้าหมายเข้าร่วมอียูก็ตาม
ภายใต้การปกครองของ วูชิช มานานกว่า 10 ปี และการโฆษณาชวนเชื่ออย่างไม่ลดละของฝ่ายฝักใฝ่เครมลิน เวลานี้ชาวเซอร์เบียค่อยๆ โน้มเอียงสู่การเป็นแนวร่วมกับรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ
โพลสำรวจความคิดเห็นต่างๆ พบว่าคนส่วนใหญ่ในเซอร์เบีย อยากเข้าร่วมในสหภาพรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งกับรัสเซียมากกว่าอียู
"ข้อตกลงที่บรรลุกันระหว่างประธานาธิบดีวูชิช กับประธานาธิบดีปูติน พิสูจน์ว่าการตัดสินใจของเซอร์เบียที่ไม่เข้าร่วมในกระแสหวาดกลัวรัสเซีย ได้รับการยอมรับมากแค่ไหน" อเล็กซานดาร์ วูลิน รัฐมนตรีมหาดไทยเซอร์เบียกล่าว "ผู้นำเสรี ประชาชนที่มีเสรี ได้ตัดสินใจต่างๆ ที่เป็นเรื่องดีสำหรับเซอร์เบีย และไม่ยอมรับคำสั่งจากตะวันตก"
อียู ซึ่งเร่งรีบหาทางลดพึ่งพาพลังงานรัสเซียนับตั้งแต่การรุกรานเริ่มขึ้น เตรียมหารือกันถึงแนวทางต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว และรับฟังคำปราศรัยของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ระหว่างการประชุมซัมมิต ที่จะเริ่มขึ้นในวันจันทร์ (30 พ.ค.)
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเซอร์เบียจะได้รับอุปทานก๊าซธรรมชาติรัสเซียด้วยวิธีใด หากอียูตัดสินใจปิดเส้นทางลำเลียงก๊าซรัสเซียที่ทอดผ่านบรรดาประเทศสมาชิกทั้งหลาย
เซอร์เบีย ต้องพึ่งพิงอุปทานก๊าซทั้งหมดจากรัสเซีย และบรรดาบริษัทพลังงานหลักๆ ของพวกเขาล้วนแต่มีรัสเซียเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
(ที่มา : อัลจาซีราห์)