xs
xsm
sm
md
lg

ไบเดนเปิดตัว ‘แผนแม่บท ศก.อินโด-แปซิฟิก’ คุย ‘วางมาตรฐาน’ ไม่มีเปิดตลาด-ไม่มีลดภาษีให้กัน ด้านจีนยัวะประมุขมะกันโวปกป้องไต้หวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(จากซ้าย) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ, ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน, และนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี เข้าร่วมการเปิดตัวแผนแม่บททางเศรษฐกิจภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นในวันจันทร์ (23 พ.ค.)
“ไบเดน” เปิดตัวแผนแม่บทความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หลังจากอุบมานาน พร้อมเผยรายชื่อสมาชิกรุ่นก่อตั้ง 13 ประเทศ รวมถึงไทย นอกจากนั้น ประมุขทำเนียบขาวยังประกาศชัดเจนว่า จะปกป้องไต้หวัน หากจีนใช้กำลังโจมตี สร้างความเดือดดาลให้ปักกิ่งที่ตอบโต้ทันควันว่า จะไม่มีวันประนีประนอมหรืออ่อนข้อใดๆ ทั้งสิ้นในเรื่องนี้

ในวันจันทร์ (23 พ.ค.) ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของอเมริกา ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางเยือนญี่ปุ่นเป็นวันที่ 2 ได้ประกาศเปิดตัวแผนแม่บทความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความมั่งคั่ง (ไอพีอีเอฟ) อย่างเป็นทางการ

ระหว่างพิธีเปิดตัวกรอบความร่วมมือใหม่นี้ โดยมีนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ ของอินเดีย ร่วมเป็นสักขีพยาน ขณะที่ผู้นำประเทศอื่นๆ เข้าร่วมแบบเสมือนจริงนั้น ไบเดนแสดงความเชื่อมั่นว่า ไอพีอีเอฟจะเอาชนะการแข่งขันในศตวรรษที่ 21 ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ไอพีอีเอฟมีความแตกต่างอย่างสำคัญจากกลุ่มการค้าซึ่งเคยจัดตั้งกันก่อนหน้านี้ ตรงที่ไม่มีการเจรจาทำความตกลงเพื่อลดภาษีศุลกากรหรือเปิดตลาดให้แก่บรรดาชาติสมาชิก

ทั้งนี้ เห็นกันว่าไบเดนต้องการหลีกเลี่ยงเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นแนวทางที่พวกผู้มีสิทธิออกเสียงในอเมริกาต่างพากันคัดค้านมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความหวาดกลัวว่า จะเป็นการเปิดโอกาสให้พวกบริษัทใหญ่ๆ ใช้วิธีโยกย้ายไปดำเนินการผลิตยังประเทศอื่นๆ ซึ่งมีต้นทุนถูกกว่า กลายเป็นการบ่อนทำลายอุตสาหกรรมการผลิตและการจ้างงานภายในสหรัฐฯ เอง

ตามไอเดียที่สหรัฐฯ เสนอ ไอพีอีเอฟมุ่งผนึกกำลังชาติสมาชิกเพื่อทำความตกลงจัดทำมาตรฐานต่างๆ ร่วมกันใน 4 ด้านหลักคือ เศรษฐกิจดิจิทัล ห่วงโซ่อุปทาน โครงสร้างพื้นฐานพลังงานสะอาด และมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

สำหรับประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งเริ่มแรก นอกจากอเมริกาแล้ว ยังประกอบด้วยออสเตรเลีย บรูไน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไทย และเวียดนาม

ในแถลงการณ์ร่วมระบุว่า ทั้ง 13 ประเทศมีความมุ่งมั่นร่วมกันในเรื่องภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง เป็นธรรม ครอบคลุม เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ยืดหยุ่น มั่นคง และมั่งคั่ง

“การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้งในหมู่ชาติสมาชิกมีความสำคัญต่อการเติบโต สันติภาพ และความมั่งคั่งอย่างต่อเนื่อง” แถลงการณ์ร่วมบอก

ด้าน เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของไบเดน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ประเทศที่เข้าร่วมทั้งหมดครองส่วนแบ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โลกร่วมกันราว 40%

ทั้งนี้ นับจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว ไบเดนพยายามผลักดันเพื่อฟื้นโครงการพันธมิตรด้านการทหารและการค้าเชิงยุทธศาสตร์ที่อ่อนแอลงไปมากในยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดย ไอพีอีเอฟ นั้น สหรัฐฯ มีเป้าหมายที่จะสนอให้เป็นตัวเลือกแก่พวกพันธมิตรและหุ้นส่วนของอเมริกา นอกเหนือจากการร่วมมือกับจีน ซึ่งกำลังขยายอิทธิพลทางการค้าอย่างต่อเนื่องไปทั่วเอเชีย-แปซิฟิก

ในการให้สัมภาษณ์คราวนี้ ซัลลิแวนยังปฏิเสธคำวิจารณ์จากจีนที่ว่า ไอพีอีเอฟเป็นความพยายามสร้างกลุ่มปิด โดยยืนยันว่า กรอบความร่วมมือนี้ได้รับการพัฒนามาเพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้าง

เขายังบอกอีกว่า แม้ไต้หวันไม่ได้เข้าร่วมในไอพีอีเอฟ ทั้งที่มีความเชื่อมโยงสำคัญในห่วงโซ่อุปทานสำหรับไมโครชิป แต่วอชิงตันกำลังพิจารณากระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับไทเป ซึ่งรวมถึงด้านไฮเทคที่ครอบคลุมเซมิคอนดักเตอร์และห่วงโซ่อุปทาน

ประเด็นไต้หวันเกือบจะบดบังความสำคัญของการเปิดตัวไอพีอีเอฟ หลังจากก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน ตอนที่ผู้สื่อข่าวถามไบเดนระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นว่า อเมริกาจะปกป้องหรือไม่ ถ้าไต้หวันถูกโจมตี และประมุขทำเนียบขาวตอบว่า “ใช่” เนื่องจากอเมริกามีพันธะสัญญาที่จะต้องทำเช่นนั้น

ไบเดน แจงว่า แม้ยอมรับนโยบายจีนเดียว แต่แนวคิดในการใช้กำลังเข้าผนวกเป็นสิ่งที่ไม่สมควร กระนั้น เขาหวังว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นหรือไม่มีความพยายามที่จะทำให้เกิดขึ้น

แม้เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวยืนยันในเวลาต่อมาว่า นโยบายของอเมริกาต่อไต้หวันยังเหมือนเดิม แต่คำตอบของไบเดนยังคงถูกผู้สังเกตการณ์มองกันว่า ดูเหมือนเป็นการถอนตัวจากนโยบายเดิมของอเมริกาที่เรียกว่า “ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์” นั่นคือจะไม่พูดออกมาให้ชัดเจนว่าอเมริกาจะแทรกแซงทางทหารเพื่อปกป้องไต้หวันหรือไม่ ในกรณีที่ถูกจีนเปิดฉากโจมตี

แกรนต์ นิวแชม อดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ และปัจจุบันเป็นนักวิจัยของเจแปน ฟอรัม ฟอร์ สเตรทเทอจิก สตัดดีส์ ชี้ว่า ท่าทีของไบเดนเป็นการยืนยันชัดเจนว่า อเมริกาจะไม่นิ่งดูดายปล่อยให้จีนโจมตีไต้หวัน

ส่วนที่ปักกิ่ง หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ตอบโต้ทันควันว่า ไม่ว่าใครก็ไม่ควรคิดบ่อนทำลายแนวทางที่มั่นคง เจตนารมณ์ที่เด็ดเดี่ยว และศักยภาพอันแข็งแกร่งของคนจีนในการปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศ และสำทับว่า จีนจะไม่ประนีประนอมหรืออ่อนข้อใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ ปักกิ่งถือว่าเกาะไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งในอธิปไตยของตน เป็นมณฑลกบฏซึ่งจะต้องนำกลับมารวมกับแผ่นดินใหญ่ โดยถ้าจำเป็นจีนก็พร้อมจะใช้กำลัง

(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น