xs
xsm
sm
md
lg

‘ไบเดน’ หลบเลี่ยงไม่พูดเรื่อง ‘การค้าเสรี’ กับอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ไนล์ โบวี่ ***


บรรดาผู้นำของอาเซียนถ่ายภาพหมู่ร่วมกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ที่บริเวณสนามหญ้าของทำเนียบขาว ในวันที่ 12 พฤษภาคม อันเป็นวันแรกของการประชุมซัมมิตสหรัฐฯ-อาเซียน คราวนี้
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Biden shrugs off ASEAN’s free trade mantra
By NILE BOWIE
20/05/2022

คณะบริหารไบเดนเดินหน้าดำเนินการทางการทูตกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยถอยฉากหลีกเลี่ยงวาระการค้าเสรี ถึงแม้มีการล็อบบี้จากพวกผู้นำอาเซียนก็ตามที

สิงคโปร์ - ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ประกาศอย่างยินดีปรีดาว่า เป็น “ยุคใหม่” ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เมื่อบรรดาผู้นำของอาเซียนเดินทางไปเยือนกรุงวอชิงตันในสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อการประชุมซัมมิตเป็นเวลา 2 วัน (12-13 พ.ค.) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างเสริมความเข้มแข็งให้แก่ความผูกพันทางยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ มีอยู่กับองค์การระดับภูมิภาคแห่งนี้ โดยที่ในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ อาเซียนได้เดินหน้าการบูรณาการทางเศรษฐกิจอย่างหยั่งรากลงลึกยิ่งขึ้นเรื่อยๆ กับจีน ผ่านโครงการต่างๆ ทั้งทางด้านการค้าและด้านโครงสร้างพื้นฐาน

ขณะที่สหรัฐฯ กับอาเซียนต่างให้คำมั่นที่จะยกระดับความสัมพันธ์ของพวกตนให้ขึ้นสู่ “ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” (comprehensive strategic partnership) และการแสดงออกซึ่งความริเริ่มทางการทูตของทำเนียบขาวในคราวนี้ได้รับการต้อนรับอย่างชื่นมื่น แต่พวกผู้สังเกตการณ์ยังคงชี้ว่า การขาดหายไม่ได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับโครงการทางเศรษฐกิจระดับพหุภาคีใดๆ ซึ่งจะเปิดทางสำหรับเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น ก็ทำให้พวกชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหล่านี้เพิ่มความรู้สึกผิดหวังสหรัฐฯ มากขึ้นอีก ในเรื่องที่ไม่ได้มีความคืบหน้าอะไรเท่าที่ควรในประเด็นทางด้านการค้า

ไบเดนบอกกับที่ชุมนุมของพวกผู้นำประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหล่านี้ว่า การสร้างเสริมความเข้มแข็งให้แก่ความผูกพันที่สหรัฐฯ มีอยู่กับอาเซียน เป็นสิ่งที่ “อยู่ตรงหว่างกลางหัวใจ” ของยุทธศาสตร์นโยบายการต่างประเทศของเขา แต่การขาดหายไปไม่ได้มีการเสนอทางเลือกด้านเศรษฐกิจเพื่อประชันกับแผนการริเริ่มใหญ่ๆ บิ๊กๆ ของทางปักกิ่ง มีความเสี่ยงที่จะทำให้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของคณะบริหารไบเดนถูกมองจากแว่นขยายด้านความมั่นคงเท่านั้น และตอกย้ำสิ่งที่บางคนบางฝ่ายบอกว่า เรื่องนี้คือความพยายามอย่างหนึ่งของวอชิงตันในการปิดล้อมจีนในทางภูมิรัฐศาสตร์

“การประชุมซัมมิตเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นเหมือนการปฏิบัติภารกิจตามกิจวัตร เพื่อให้สหรัฐฯ สามารถอวดได้ว่าตนยังมีความสามารถที่จะทำเรื่องไม่ใหญ่โตหลายอย่างพร้อมๆ กันได้” เป็นความเห็นของ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เห็นได้ชัดว่าสหรัฐฯ กำลังพยายามที่จะยกระดับเกมของตน โดยมุ่งเพ่งเล็งไปที่ความผูกพันระหว่างอาเซียน-จีน แต่วอชิงตันจำเป็นจะต้องทำอะไรให้มากกว่านี้ ถ้าหากต้องการโน้มน้าวประเทศต่างๆ รอบอินโด-แปซิฟิกให้ได้จริงๆ”

พวกผู้นำอาเซียนก็บอกกับวอชิงตันเช่นนี้เหมือนกัน คนหนึ่งได้แก่ นายกรัฐมนตรี อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ ของมาเลเซีย ซึ่งเรียกร้องวอชิงตันให้นำเอาวาระด้านการค้าและการลงทุนมาร่วมมือกับอาเซียนด้วยความกระตือรือร้นมากขึ้น โดยเขาบอกกับเวทีประชุมระหว่างพวกนักธุรกิจอเมริกันกับเหล่าผู้นำอาเซียนซึ่งจัดขึ้นในช่วงซัมมิตวันที่ 12-13 พฤษภาคมคราวนี้ว่า การทำเช่นนั้นจะให้ประโยชน์แก่สหรัฐฯ “ทั้งทางเศรษฐกิจและทางยุทธศาสตร์”

คณะบริหารไบเดนนั้นแสดงท่าทีบอกปัดไม่ขอเดินหน้าหาทางเปิดเสรีทางการค้าที่ยังไม่ได้มีการทำข้อผูกพันใดๆ แต่ก็กำลังพัฒนาสิ่งที่ตนเองเรียกขานว่า “แผนแม่บททางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก” (Indo-Pacific Economic Framework หรือ IPEF) ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้มีการประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการ

มีรายงานว่าแผนการริเริ่มนี้มุ่งหมายที่จะให้มีการเจรจาทำความตกลงกันเกี่ยวกับมาตรฐานร่วมระดับภูมิภาค ในเรื่องเกี่ยวกับการค้าดิจิทัลและการไหลเวียนของข้อมูล มาตรฐานต่างๆ ทางด้านแรงงาน การลดการปล่อยไอเสียคาร์บอน และธรรมาภิบาล

กรอบโครงสำหรับแผนแม่บททางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ซึ่งเป็นที่รอคอยกันมานาน ไม่ได้เป็นหัวข้อหนึ่งในวาระอย่างเป็นทางการของการประชุมซัมมิตสหรัฐฯ-อาเซียน ที่กรุงวอชิงตัน
“แผนแม่บททางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก” ไม่ได้อยู่ในวาระ

ระหว่างการประชุมซัมมิตแบบเสมือนจริงเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ไบเดนบอกกับพวกผู้นำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า สหรัฐฯ จะเปิดการพูดจาหารือในเรื่องการพัฒนา IPEF กับบรรดาพันธมิตรและหุ้นส่วนทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม กรอบโครงของแผนแม่บทซึ่งใครต่อใครรอคอยกันมานาน ไม่ได้ถูกบรรจุเอาไว้ในวาระอย่างเป็นทางการ ณ การหารือสหรัฐฯ-อาเซียนคราวนี้ รวมทั้งไม่ได้ถูกระบุอ้างอิงโดยตรงในคำแถลงร่วมความยาว 28 หน้าที่ออกมาภายหลังการประชุมซัมมิต

ตรงกันข้าม คณะบริหารไบเดนมีกำหนดที่จะเปิดตัว IPEF อย่างเป็นทางการในระหว่างทริปการเดินทางเยือนเกาหลีใต้และญี่ปุ่นของไบเดน วันที่ 20-24 พฤษภาคมนี้

เป็นที่คาดหมายกันว่า ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ รวมทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จะอยู่ในบรรดารัฐกลุ่มแรกๆ ที่จะได้เข้าร่วมการเจรจาหารือเกี่ยวกับแผนแม่บทนี้ ขณะที่ในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน มีเพียงฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทยเท่านั้น ซึ่งได้รับการคาดหมายว่าจะได้เข้าร่วมกันตั้งแต่ต้น

เกรกอรี โพลิ่ง (Gregory Poling) ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS) กลุ่มคลังสมองชื่อดังซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน เชื่อว่าสมาชิกอาเซียนรายอื่นๆ จะได้เข้าร่วมการเจรจาหารือกับแผนการริเริ่มเพื่อการเข้าร่วมบางส่วนในด้านโครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่อุปทาน

“ทว่าไม่มีใครเลยยกเว้นสิงคโปร์ ที่น่าจะได้เข้าร่วมการทำความตกลงกันในขั้นสุดท้ายจริงๆ ของข้อตกลงนี้” เขาบอก พร้อมกับชี้ว่า ข้อตกลงนี้จะมี “การตกลงกันในเรื่องรากฐานสำคัญๆ ทางการค้าแต่กลับขาดไร้พวกมาตราเกี่ยวกับการเข้าถึงตลาด”

ภายหลังการสนทนาครั้งหนึ่งกับทาง CSIS นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิญ จิ๊ญ ของเวียดนาม ได้เคยพูดแสดงความเห็นว่า ฮานอยมีความสนใจในการช่วยเหลือสหรัฐฯ เพื่อจัดทำจุดมุ่งหมายต่างๆ ที่เสนอเอาไว้ใน IPEF ให้กลายเป็นความจริงขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างเสถียรภาพให้แก่ห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และการต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชัน

แต่ จิ๊ญ กล่าวด้วยว่า “ส่วนประกอบต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม” ของแผนการริเริ่มนี้ยังคงไม่ได้มีการอธิบายออกมาให้ชัดเจน รวมทั้งมีความจำเป็นต้องให้เวลาเพิ่มเติมสำหรับการศึกษารายละเอียดต่างๆ

วอชิงตันเคยเข้าร่วมการจัดทำข้อตกลงการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งสุดท้ายเมื่อเกือบๆ 20 ปีที่แล้ว คณะบริหารบารัค โอบามา พยายามหาทางเปลี่ยนแปลงสภาพเช่นนี้ด้วยการออกโรงผลักดันทำให้เกิด “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Trans-Pacific Partnership หรือ TPP) ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมกว้างขวาง ก่อนที่จะถูกคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ โยนทิ้ง ในการปรับเปลี่ยนหันมาใช้นโยบายการค้าแบบ “อเมริกามาเป็นอันดับหนึ่ง” (America First) และชาติซึ่งร่วมอยู่ใน TPP ที่เหลืออยู่ จึงได้ปรับปรุงและเปลี่ยนชื่อข้อตกลงนี้ให้เป็น “ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หรือ CPTPP) ในปัจจุบัน

CPTPP ประกอบด้วยบรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และชาติแปซิฟิกอื่นๆ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ตอนปลายปี 2018 โดยไม่มีสหรัฐฯ ซึ่งในสมัยของทรัมป์นั้น ได้ประทับตราข้อตกลงฉบับนี้ว่า เป็นตำรายาสำหรับการส่งตำแหน่งงานอเมริกันออกไปต่างประเทศ

โดนัลด์ ทรัมป์ แทบไม่ได้ทำอะไรในการปรับปรุงความผูกพันที่สหรัฐฯ มีอยู่กับอาเซียน แถมการที่เขาหลีกเลี่ยงไม่เข้าร่วมการประชุมซัมมิตทั้งหลายซึ่งมีอาเซียนเป็นศูนย์กลางครั้งแล้วครั้งเล่า ยังทำให้ความสัมพันธ์ย่ำแย่ลงด้วยซ้ำ
จีนไล่กระชั้นสหรัฐฯ เข้ามา

ไบเดน ผู้ซึ่งให้สัญญาว่าจะผลักดันนโยบายการค้าแบบ “ถือเอาคนงานเป็นศูนย์กลาง” โดยส่วนใหญ่แล้วบอกปัดไม่ยอมทำตามเสียงเรียกร้องให้นำสหรัฐฯ กลับเข้า CPTPP โดยที่จีนกลับกลายเป็นผู้ยื่นสมัครขอเข้าร่วมข้อตกลงนี้อย่างเป็นทางการในเดือนกันยายนปีที่แล้ว

วอชิงตันยังไม่ได้เข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) ที่ประกอบด้วยชาติสมาชิก 15 ราย และมีฐานะเป็นข้อตกลงการค้าขนาดใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบัน โดยรอบคลุมทั้งจีน และทุกชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน

ขณะที่สหรัฐฯ ยังมีฐานะเป็นผู้ลงทุนชาวต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปักกิ่งก็กำลังไล่กระชั้นเข้ามาอย่างรวดเร็ว และเวลานี้เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียนไปเรียบร้อยแล้ว โดยมูลค่าของการค้าสินค้าระหว่างกันอยู่ที่ระดับ 685,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 เกือบเป็น 2 เท่าตัวของมูลค่าการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียนซึ่งอยู่ที่ 362,000 ล้านดอลลาร์

“สหรัฐฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเจรจาทำข้อตกลงประเภทที่เป็นการวางกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจ หรือการกระตุ้นส่งเสริมการค้า ที่สหรัฐฯ มีความจำเป็นจะต้องเข้าร่วม เพื่อการแข่งขันกับจีน” โพลิ่ง กล่าวต่อ “สหรัฐฯ กำลังทำได้ดีทีเดียวในด้านการทูต ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง และความผูกพันระดับประชาชนต่อประชาชน อย่างไรก็ดี ยกเว้นแต่ว่า IPEF แท้ที่จริงเป็นเพียงก้าวเดินแรกของการมุ่งกลับเข้าไปร่วมอยู่ใน CPTPP ในท้ายที่สุด หรืออะไรทำนองนี้แล้ว ประเทศต่างๆ จำนวนมากในภูมิภาคจะยังคงระแวงสงสัยต่อไปว่าสหรัฐฯ จะมีความจริงจังแค่ไหน” กับภูมิภาคแถบนี้

กระนั้น หลังจากช่วงหลายๆ ปีของการค่อนข้างทิ้งขว้างเมินเฉยภายใต้คณะบริหารทรัมป์ การจัดประชุมซัมมิตสหรัฐฯ-อาเซียนคราวนี้ขึ้นมา ยังคงเป็นการแสดงออกซึ่งความมุ่งมั่นของคณะบริหารไบเดนที่ต้องการให้เป็นสัญลักษณ์ว่า วอชิงตันยังคงมีความเอาจริงเอาจังกับเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน

นอกจากนั้น เรื่องนี้ยังอาจถือเป็นการโต้แย้งกลับต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า แบบแผนวิธีการของคณะบริหารไบเดน ในการปฏิบัติต่อสิ่งที่สหรัฐฯ ในปัจจุบันเรียกว่า อินโด-แปซิฟิก --เหมือนๆ กับคำเรียกขานของคณะบริหารทรัมป์นั้น-- ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรแก่องค์การระดับภูมิภาคแห่งนี้

การชุมนุมพูดจากันเป็นเวลา 2 วันครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการจัดซัมมิตอาเซียนขึ้นที่ทำเนียบขาว รวมทั้งตรงกับวาระครบรอบ 45 ปีของความผูกพันกันระหว่างสหรัฐฯ กับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้อีกด้วย

ไบเดนใช้โอกาสนี้มาประกาศการแต่งตั้ง โยฮันเนส อับราฮัม (Yohannes Abraham) ประธานคณะเจ้าหน้าที่ของสภาความมั่นแห่งชาติสหรัฐฯ (US National Security Council) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีที่ทำการอยู่ในทำเนียบขาว ให้เป็นผู้แทนพิเศษคนใหม่ของอเมริกาประจำอาเซียน หลังจากตำแหน่งนี้ถูกปล่อยให้ว่างมานานตั้งแต่เมื่อปี 2017

นอกจากนั้น ทำเนียบขาวยังให้คำมั่นสัญญาที่จะใช้จ่ายงบประมาณจำนวน 150 ล้านดอลลาร์ในโครงการต่างๆ ของภูมิภาคนี้ ตั้งแต่เรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางทะเล ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาด ทั้งนี้ รวมถึงการใช้งบประมาณ 60 ล้านดอลลาร์ไปในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางนาวี และการนำเอาเรือลำหนึ่งของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ (US Coast Guard) ให้มาประจำการในภูมิภาคแถบนี้ ด้วยจุดประสงค์เพื่อการส่งเสริมสนับสนุนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสิทธิในการทำประมงของประเทศอาเซียนต่างๆ ในบริเวณน่านน้ำพิพาทซึ่งจีนอ้างกรรมสิทธิ์

ภาพถ่ายโดยหน่วยยามฝั่งของฟิลิปปินส์ แสดงให้เห็นเรือจำนวนมากของจีนจอดทอดสมออยู่ที่บริเวณเกาะปะการังวิตซันรีฟ (Whitsun Reef) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะสแปรตลีย์ ที่จีนกับหลายชาติอาเซียนอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกันอยู่  วิตซันรีฟนั้นอยู่ห่างราว 175 ไมล์ทะเล ทางตะวันตกของเมืองบาตาราซา ในเกาะปาลาวัน ของฟิลิปปินส์
“หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ที่ไม่มีความชัดเจน

ด้วยการให้คำมั่นสัญญาที่จะยกระดับความสัมพันธ์ของพวกเขาจาก “ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” (strategic partnership) มาเป็น “ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” (comprehensive strategic partnership) โดยที่จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยในเดือนพฤศจิกายนนี้ ก็เท่ากับอาเซียนเพิ่มพูนความผูกพันกับสหรัฐฯ ให้อยู่ในระนาบเดียวกันกับที่ตนมีอยู่กับจีนและออสเตรเลีย โดยที่ 2 ประเทศหลังนี้ได้จัดทำความเป็นหุ้นส่วนเช่นนี้กับสมาคมนี้ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ความเคลื่อนไหวนี้จะทำให้เกิดอะไรขึ้นต่อไป

โพลิ่ง แห่ง CSIS ให้ความเห็นว่า การเพิ่มพูนยกระดับความผูกพันเช่นนี้น่าจะไม่ค่อยมีผลกระทบอย่างเป็นชิ้นเป็นอันอะไรนัก “ผมมองไม่เห็นหลักฐานใดๆ เลยไม่ว่าในกรณีของออสเตรเลียหรือจีนว่า มีปฏิสัมพันธ์ที่เป็นรูปธรรมกับอาเซียนซึ่งเปลี่ยนแปลงไปไม่ว่าในทางใดๆ ก็ตาม หลังจากที่พวกเขาอัปเกรดให้เป็นความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านในปีที่แล้ว ดังนั้น ผมจึงคิดว่าเป็นเรื่องปลอดภัยที่จะพูดว่านี่คือเรื่องเชิงสัญลักษณ์” เขากล่าว “แต่เรื่องเชิงสัญลักษณ์ก็มีความสำคัญนะในทางการทูต”

ขณะที่ ฐิตินันท์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า การอัปเกรดขึ้นสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านตามที่วางแผนกันไว้นั้น “จำเป็นจะต้องมีส่วนประกอบทางด้านการค้าและเทคโนโลยีด้วย แต่ IPEF ดูเหมือนอยู่ในลักษณะเพิ่งเริ่มต้นและชั่วคราวเท่านั้น” เขาบอกว่า แผนแม่บทนี้จะต้องเผชิญ “การแข่งขันอย่างทรหด” จากทั้ง CPTTT และ RCEP โดยที่เวลานี้ IPEF ถูกมองว่าเป็น “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ในเวอร์ชันที่ต่ำชั้นกว่าและเป็นเศษๆ เสี้ยวๆ ของวอชิงตัน”

“ไม่เหมือนกับ TPP ซึ่งเป็นตัวเสริมการปรับความสมดุลกันใหม่มายังเอเชีย-แปซิฟิกในทางภูมิยุทธศาสตร์ในยุคโอบามา แผนแม่บท IPEF ถูกจัดทำขึ้นมาเพื่อหลบหลีกไม่เผชิญหน้ากับภาวะการแบ่งขั้วภายในประเทศในเรื่องการค้าและเทคโนโลยี ซึ่งหมายความว่ามันน่าที่จะมีขนาดขอบเขตที่จำกัด” ฐิตินันท์ บอกกับเอเชียไทมส์ “IPEF สามารถที่จะหลีกเลี่ยงความท้าทายเหล่านี้ได้ ก็ด้วยการโฟกัสไปที่พวกประเด็นเฉพาะต่างๆ เป็นต้นว่า ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และการค้าดิจิทัล”

ทางด้าน สตีเวน โอคุน (Steven Okun) ที่ปรึกษาอาวุโสอยู่ที่สำนักงานให้คำปรึกษาทางการค้า แมคลาร์ที แอสโซซิเอตส์ (McLarty Associates) บอกว่า ในเวลาวินิจฉัยนโยบายสหรัฐฯ ต่อเอเชียนั้น เราอาจจะ “มองกันแบบในแก้วมีน้ำแล้วครึ่งแก้ว หรือว่าน้ำยังพร่องอยู่ครึ่งแก้วก็ได้” พร้อมกับย้ำว่า “ประธานาธิบดีไบเดน ได้แสดงความเอาใจใส่มากจนกระทั่งยอมลงทุนให้เวลาแก่การประชุมซัมมิตนัดพิเศษครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความตระหนักในความสำคัญทางภูมิยุทธศาสตร์ของอาเซียน และตอกย้ำด้วยการที่เขาเข้ามีปฏิสัมพันธ์เป็นการส่วนตัวทีเดียว”

ในสภาพที่มีนักรณรงค์ต่อสู้เพื่อการค้าอยู่น้อยตัวเต็มทีไม่ว่าจะในพรรคเดโมแครตหรือในพรรครีพับลิกัน รวมทั้งสหรัฐฯ เวลานี้ก็ไม่มีความกระหายที่จะหวนกลับไปทำข้อตกลงการค้าอย่างเป็นทางการใดๆ อีกอย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง “สิ่งที่ดีที่สุดซึ่งสหรัฐฯ สามารถทำได้ ก็คือ การหาพื้นที่อื่นๆ สำหรับการเป็นหุ้นส่วนกัน” โอคุน บอก

“คณะบริหารชุดนี้สมควรที่จะได้เครติดนะ สำหรับความพยายามที่จะทำอะไรซึ่งใหม่และแตกต่าง เพื่อให้สหรัฐฯ เข้ามีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนเพิ่มมากขึ้น

“การอัปกเกรดความสัมพันธ์ที่ตัวเองมีอยู่กับอาเซียน สามารถที่จะทำให้สหรัฐฯ มีจุดยืนที่ดีขึ้นในการบรรจบกับอาเซียน ในจุดซึ่งผลประโยชน์ของพวกเขาบรรจบกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นต้นว่าในเรื่องสุขภาพ และการสนับสนุนเรื่องโควิด-19 การเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ ความตระหนักรับรู้ในแวดวงทางทะเล และการลงทุนในพลังงานสีเขียว” เขากล่าวต่อ

“สำหรับในตอนนี้ สหรัฐฯ จำเป็นที่จะต้องส่งเสริมเพิ่มพูนต่อไปอีก ในเรื่องความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ตนเองมีอยู่กับพวกสมาชิกอาเซียนรายสำคัญๆ”

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ ที่กำลังจะพ้นตำแหน่งอยู่แล้ว ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมซัมมิต ที่กรุงวอชิงตันครั้งนี้
ตัวแทนระดับท็อป

การประชุมซัมมิตเป็นเวลา 2 วันในเมืองหลวงสหรัฐฯ ครั้งนี้ ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จในแนวรบด้านทวิภาคี โดยที่มีตัวแทนระดับท็อปจากบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนามเดินทางไปเข้าร่วม ขณะที่รัฐบาลคณะปกครองทหารของพม่าถูกกีดกันไม่ให้ได้สิทธินี้ ส่วนประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ ซึ่งกำลังจะพ้นตำแหน่งอยู่แล้ว ได้ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศของเขาไปเป็นตัวแทนของประเทศ

พวกผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า จังหวะเวลาของการประชุมครั้งนี้ถูกวางเอาไว้อย่างตั้งใจที่จะสาธิตให้เห็นว่า วอชิงตันไม่ได้หมดความสนใจเลิกราความเอาใจใส่ที่มีอยู่กับภูมิภาคแปซิฟิกในเวลาที่เกิดปัญหารัสเซียยกทัพรุกรานยูเครน คำแถลงร่วมภายหลังซัมมิตคราวนี้ มีข้อความที่เรียกร้องให้ “ยุติความเป็นปรปักษ์กันในทันที” ในกรณีของยูเครน ทว่าไม่ได้มีการเอ่ยถึงรัสเซียตรงๆ โดยที่บางรัฐอาเซียนนั้นมีความลังเลที่จะวิพากษ์วิจารณ์แดนหมีขาว สืบเนื่องจากพวกเขามีความผูกพันด้านกลาโหมอย่างยาวนานกับมอสโก

ขณะที่ซัมมิตคราวนี้แทบไม่ได้มีผลลัพธ์ในทางบุกเบิกริเริ่มสิ่งใหม่ๆ อะไร แต่มันก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แบบแผนการเข้าถึงปัญหาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของไบเดนนั้น ช่างแตกต่างกับประธานาธิบดีคนก่อนหน้าเขา ผู้ซึ่งไม่เคยแต่งตั้งผู้แทนสหรัฐฯ ประจำภูมิภาค และไม่เข้าร่วมรายการพบปะหารือระดับท็อปของอาเซียนครั้งแล้วครั้งเล่า ภายหลังจากเคยเข้าร่วมประชุมซัมมิตครั้งหนึ่งในกรุงมะนิลาเมื่อปี 2017

พวกผู้สังเกตการณ์บอกว่า ปักกิ่งเข้าฉวยใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการที่ทรัมป์ไม่แยแสสนใจที่จะปกป้องที่มั่นทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้

“การสนับสนุนเพิ่มพูนพันธะผูกพันต่างๆ กับอาเซียนนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการเข้าร่วมของระดับท็อป ณ การพบปะซัมมิตทั้งหลายที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง” ฐิตินันท์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว “การมีพันธะผูกพันที่ว่าระดับประธานาธิบดีจะเข้าร่วมการประชุมซัมมิตพวกที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนด้วยตนเอง จะเป็นการชดเชยในเรื่องความเสียเปรียบอย่างยิ่งเกี่ยวกับระยะทาง เพราะสหรัฐฯ นั้นเป็นอภิมหาอำนาจที่อยู่ห่างออกไปไกลโพ้น ขณะที่จีนอยู่ที่บ้านข้างๆ ถัดไปของอาเซียน”
กำลังโหลดความคิดเห็น