“ประยุทธ์” ร่วมกิจกรรม IPEF เผย ไทยหวังอินโด-แปซิฟิก ส่งเสริมเศรษฐกิจในภูมิภาค ลั่นไม่โดดร่วมวงสงครามการค้า หรือสร้างความขัดแย้ง เชื่อความร่วมมือเศรษฐกิจครอบคลุมทั่วถึงนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง
วันนี้ (23 พ.ค.) เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เข้าร่วมกิจกรรมเปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) โดยมี โจเซฟ โรบิเนตต์ ไบเดิน จูเนียร์ ประธานาธิดีสหรัฐฯ และ นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ร่วม
นายกรัฐมนตรี กล่าวทักทายประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเปิดตัวกรอบความร่วมมือสร้างเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิก ผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมกล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ได้ดำเนินบทบาทอย่างสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือเศรษฐกิจในภูมิภาค และได้รับการตอบรับที่ดีจากประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน ทั้งนี้ IPEF โดยความร่วมมือดังกล่าวจะส่งเสริมด้านเศรษฐกิจและการค้า การลงทุนใน 4 สาขา ยกระดับมาตรฐานนโยบายด้านของกฎหมาย อุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศและเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานด้วยกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการการปรึกษาหารือ สำหรับไทยได้อาศัยการค้าขายที่เปิดกว้างเป็นหลักในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยรายได้สินค้าการส่งออกและบริการคิดเป็น 60% ของจีดีพี จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อให้ได้โอกาสทางการค้า และการลงทุนเต็มศักยภาพ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคงมั่งคั่งและยังยืน มุ่งเน้นการเสริมสร้างเศรษฐกิจที่สมดุลย์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม โลกกำลังประสบความท้าทายใหม่และไม่มีประเทศใดสามารถรับมือได้เพียงลำพัง จึงยินดีที่กรอบความร่วมมือนี้จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือบนความมั่นคงมั่งคั่งและยังยืน และเห็นว่า การค้าและการลงทุนจะใช้ประโยชน์สูงสุดได้ ก็ต่อเมื่อไม่ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ที่ไม่สร้างความปรองดองในภูมิภาคซึ่งไทยยึดมั่นในระบบการค้าเสรีกับหลายประเทศ แต่ไม่เคยเข้าไปทำสงคราม หรือเข้าไปสร้างความขัดแย้งอันสืบเนื่องมาจากการค้าแม้แต่ครั้งเดียว จึงเชื่อมั่นว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทั่วถึง นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองและผลประโยชน์ของประชาชน