(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
New Marcos era emphatically born in the Philippines
By RICHARD S EHRLICH
10/05/2022
บุตรชายของอดีตจอมเผด็จการ เฟอร์ดินาน มาร์กอส ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนถล่มทลายในฟิลิปปินส์ ท่ามกลางเสียงกะเก็งคาดเดาตั้งแต่ต้นๆ ทีเดียวว่า เขาอาจจะยินยอมอ่อนข้อเพื่อหาทางปรองดองกับจีน
เฟอร์ดินานด์ “บองบอง” มาร์กอส จูเนียร์ มีชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เป็นชัยชนะแบบถล่มทลายอันน่าตื่นตะลึงเสียด้วย ทำให้เขาก้าวเข้ามายืนอยู่ตรงแนวหน้าของการประจันหน้ากันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในทะเลจีนใต้ ท่ามกลางเสียงกระหึ่มแสดงความไม่พอใจกันตั้งแต่ต้นๆ ทีเดียวว่า เขาผู้นี้เป็นนักการเมืองหุ่นเชิดที่ปักกิ่งบ่มเพาะและปกปิดซุกซ่อนเอาไว้มายาวนานแล้ว
ข้อได้เปรียบในการลงแข่งขันเลือกตั้งประการหนึ่งของ มาร์กอส จูเนียร์ ก็คือ เขาเป็นบุตรชายของ “ไอดอล” ของเขา นั่นคือ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ซีเนียร์ ประธานาธิบดีจอมเผด็จการผู้ล่วงลับซึ่งสหรัฐฯ เคยอุปถัมภ์ค้ำชูมาก่อน และเวลานี้ยังคงได้รับความนิยมอย่างสูงทีเดียวในหลายพื้นที่หลายแวดวงของฟิลิปปินส์ ขณะที่แม่ของเขา คือ อีเมลดา ภรรยาผู้หรูหรามีสีสันฉูดฉาดบาดตาของมาร์กอส ซีเนียร์ ซึ่งเวลานี้เธอมีอายุ 92 ปีแล้ว
“เมื่อฉันรู้สึกคิดถึงต้องการได้เห็นเฟอร์ดินานด์ (ผู้สามีของเธอ) ซี่งมีค่าสำหรับฉันเหลือเกิน ฉันจะเรียก ‘บองบอง’ ขอให้เขาเข้ามาใกล้ๆ” อีเมลดาบอกกับผมเช่นนี้ระหว่างการให้สัมภาษณ์เมื่อปี 1991 ตอนที่เธอพร้อมกับลูกๆ ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับมาฟิลิปปินส์ภายหลังต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศเสียหลายปี โดยที่ในตอนนั้นสามีของเธอเสียชีวิตที่ฮาวายได้ 2 ปีแล้ว
“เขามีเสียงพูดเหมือนกับคุณพ่อของเขาเลย ฉันชอบฟัง บองบอง พูด มันน่าขนลุก เหมือนกับเฟอร์ดินานด์ยังอยู่ที่นั่น แม้กระทั่งกิริยามารยาทของเขา เสียงของเขา การเคลื่อนไหวต่างๆ ของเขา การโบกมือเคลื่อนมือของเขา เมื่อเขาเดิน ฉันรู้สึกแน่ใจเลยว่า เฟอร์ดินานด์ ที่หนึ่ง (Ferdinand the First) กลับมาเกิดใหม่อีกครั้งหนึ่งใน เฟอร์ดินานด์ ที่สอง (Ferdinand the Second)”
การเลือกตั้งทั่วไปของฟิลิปปินส์คราวนี้ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นการตัดสินผู้ครองตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ มากกว่า 18,000 ตำแหน่ง โดยนอกเหนือจากประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีแล้ว ยังมีการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก สมาชิกสภาท้องถิ่น และอื่นๆ
ระบอบปกครองอันทุจริตฉ้อฉลในช่วงปี 1965-86 ของมาร์กอส ซีเนียร์ ซึ่งรวมถึงระยะเวลา 14 ปีของการปกครองด้วยอำนาจกฎอัยการศึกด้วยนั้น เต็มไปด้วยพฤติการณ์จับกุมคุมขัง ทรมาน และใช้อำนาจศาลเตี้ยเข่นฆ่าผู้ที่เป็นปรปักษ์กับเขา และการโจรกรรมทรัพย์สมบัติของประเทศชาติไปเป็นมูลค่าหลายพันล้านหลายหมื่นล้านดอลลาร์
วอชิงตันช่วยเหลือให้ครอบครัวมาร์กอสสามารถหลบหนีการลุกฮือของผู้คนชาวฟิลิปปินส์ที่ได้รับการขนานนามว่า “พลังประชาชน” (People’s Power) โดยให้เดินทางไปพักพิงที่รัฐฮาวาย พร้อมด้วยเงินสด เครื่องเพชรอัญมณี ทองคำแท่ง โบราณวัตถุต่างๆ และบัญชีเงินฝากธนาคารต่างประเทศ อีเมลดา มาร์กอส เวลานี้ยังอยู่ในฐานะเป็นจำเลยที่ได้รับการประกันตัว ขณะยื่นอุทธรณ์ฎีกาต่อศาลสูงสุดของมะนิลา เพื่อขอให้กลับคำตัดสินของศาลชั้นรองๆ ลงมาเมื่อปี 2018 ซึ่งพิพากษาลงโทษจำคุกเธอเป็นเวลา 11 ปีในข้อหาปกปิดไม่แจ้งทรัพย์สินของเธอ
อย่างไรก็ตาม อำนาจสืบทอดของพวกตระกูลทรงอิทธิพล หรือที่เรียกกันว่า พวกราชวงศ์ต่างๆ ยังคงมีผลสูงมากๆ ต่อการตัดสินว่าใครจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในฟิลิปปินส์
ครอบครัวมาร์กอสที่มั่งคั่งร่ำรวย คือหนึ่งในราชวงศ์ทรงอำนาจที่สุดของประเทศ และเป็นที่เคารพยกย่องของชาวฟิลิปปินส์จำนวนมาก รวมทั้งพวกที่อ่อนวัยเกินกว่าจะเคยมีประสบการณ์ผ่านความโหดเหี้ยมเลวร้ายของการปกครองด้วยกฎอัยการศึกในยุคของมาร์กอส ซีเนียร์
โรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีคนปัจจุบันซึ่งจะสิ้นสุดวาระลงในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ แสดงตัวเป็นพันธมิตรของครอบครัวมาร์กอสอย่างชัดเจนเมื่อปี 2016 ด้วยการให้นำศพของมาร์กอส ซีเนียร์ ย้ายมาฝังที่สุสานแห่งวีรชน (Cemetery of Heroes) ของประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ชานกรุงมะนิลา หลังจากที่ร่างของเขาถูกบรรจุเอาไว้ในโลงแก้วและนำออกตั้งแสดงให้สาธารณชนเข้าไปชมเข้าไปแสดงความเคารพ ณ สุสานของครอบครัวมาร์กอส มาเป็นเวลากว่า 20 ปี
กล่าวได้ว่า การก้าวขึ้นสู่อำนาจของ มาร์กอสจูเนียร์ ยังมีลักษณะเป็นการผงาดขึ้นมาแบบราชวงศ์ถึงสองทบสองซ้อนทีเดียว กล่าวคือ ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในทีมเดียวกันกับ มาร์กอส จูเนียร์ คือ ลูกสาวคนโตผู้ได้รับความนิยมสูงในหมู่ประชาชนของประธานาธิบดีดูเตอร์เต ได้แก่ ซารา ดูเตอร์เต-การ์ปิโอ (Sara Duterte-Carpio) ซึ่งเป็นนักกฎหมายและเคยดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองดาเวาซิตี้ (Davao City) เมืองใหญ่ที่สุดทางภาคใต้ของประเทศ
การปรากฏชื่อของเธอในทีมเดียวกัน มีส่วนช่วยให้การรณรงค์หาเสียงของมาร์กอส จูเนียร์ แข็งแกร่งมากขึ้น โดยเป็นการรวมศูนย์พวกผู้สนับสนุนครอบครัวมาร์กอสในภาคเหนือของฟิลิปปินส์ บวกเข้ากับความเข้มแข็งของตระกูลเชื้อสายดูเตอร์เตในภาคใต้
การเมืองในฟิลิปปินส์ชนิดที่ครอบงำโดยพวกราชวงศ์ เป็นสิ่งที่สามารถสาวย้อนหลังไปได้ไกลถึงปี 1898 เมื่อตอนที่สหรัฐฯ เข้าปกครองฟิลิปปินส์ในฐานะเป็นอาณานิคม ซึ่งปรากฏว่ากลายเป็นจุดกำเนิดของการที่ชาวฟิลิปปินส์ผู้มั่งคั่งเร่งรีบซื้อหารวบรวมนาไร่ที่ดินเกษตรกรรมขนาดใหญ่ๆ เอาไว้ในครอบครอง และรวมศูนย์อำนาจเอาไว้ภายในครอบครัวของพวกเขา
พวกนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งในระยะไม่ช้าไม่นานมานี้ ส่วนใหญ่ที่สุดต้องมีญาติๆ ซึ่งครองอำนาจครองตำแหน่งอยู่แล้วอย่างน้อยที่สุด 1 คน ทั้งนี้ตามรายงานของพวกนักวิจัย ตัวมาร์กอส จูเนียร์เอง ที่ปัจจุบันอายุ 64 ปี ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการของจังหวัดอีโลคอสนอร์เต (Ilocos Norte) ฐานเสียงสำคัญของครอบครัวในปี 1998 หรือ 12 ปีภายหลังจากสมัยแห่งการเป็นประธานาธิบดีของบิดาของเขาพังครืนลงไป หลังจากนั้นก็ได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกของประเทศในปี 2010
มาร์กอส จูเนียร์ ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานหลบเลี่ยงการเสียภาษีในปี 1997 และเวลานี้ยังคงตกเป็นจำเลยในคดีเกี่ยวกับภาษีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ทั้งในฟิลิปปินส์ และในสหรัฐฯ สืบเนื่องจากกองมรดกมูลค่ามหาศาลของบิดาของเขา
ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศจีนได้ออกมาปฏิเสธว่าตนเองไม่ได้มีอิทธิพลที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมใดๆ เหนือมาร์กอส จูเนียร์ คาดหมายกันว่าบททดสอบในเรื่องนี้จะต้องมาถึง ถ้าหากจีนยังคงพยายามบังคับปฏิบัติให้เป็นไปตามการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำในทะเลจีนใต้อย่างกว้างขวางใหญ่โตของตน ซึ่งครอบคลุมถึงชายหาดด้านตะวันตกของเกาะจำนวนมากของประเทศหมู่เกาะอย่างฟิลิปปินส์
ในสมัยการปกครองของคณะบริหารดูเตอร์เต ฟิลิปปินส์กับจีนมีความสัมพันธ์ที่สบายใจไปด้วยกันได้ดี แต่ก็มีการหมางเมินฮึ่มฮั่มใส่กันเป็นระยะๆ โดยที่ระหว่างนั้นปักกิ่งดำเนินการก่อสร้างพวกสิ่งปลูกสร้างทางยุทธศาสตร์หลายๆ แห่งขึ้นในน่านน้ำที่สองประเทศพิพาทช่วงชิงกันอยู่ รวมทั้งปักกิ่งยังมีเหตุเผชิญหน้ากับเรือของฟิลิปปินส์ในบริเวณทะเลจีนใต้หลายต่อหลายรอบ
ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ จีน บรูไน มาเลเซีย ไต้หวัน และเวียดนาม ต่างฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือบริเวณผิวหน้า สิทธิการทำประมง ตลอดจนทรัพยากรใต้น้ำในหลายๆ ภาคส่วนของทะเลจีนใต้ ทว่าจีนนั้นอ้างกรรมสิทธิ์ถึงประมาณ 90% ของพื้นที่แถบนี้ทีเดียว ซึ่งก็รวมไปถึงพื้นที่หมู่เกาะสแปรตลีย์ที่ทั้งจีนและฟิลิปปินส์ ตลอดจนอีกหลายประเทศช่วงชิงกันอยู่
“มาร์กอส (จูเนียร์) อาจจะโปรจีนมากกว่า ดูเตอร์เต อยู่นิดนึง เมื่อพิจารณาจากจุดยืนของเขาที่ระบุว่าเขาจะยังคงเดินหน้านโยบายในปัจจุบันของคณะบริหารดูเตอร์เตต่อไป” อาริเอส อารูกาย (Aries Arugay) อาจารย์รัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ (University of the Philippines) ให้ความเห็น
“ปักกิ่งสามารถที่จะเสนอแพกเกจแรงจูงใจต่างๆ ซึ่งจะทำให้ มาร์กอส มีทางเลือกสำหรับการตัดสินใจ ถ้าหากเขาถูกบีบคั้นหรือถูกกดดันจากสหรัฐฯ หรือพวกมหาอำนาจตะวันตก” อาริเอส กล่าวในการให้สัมภาษณ์
“นี่คือเหตุผลที่ทำไม มาร์กอส อาจจะไม่สามารถยืนกรานสิทธิต่างๆ ของประเทศชาติในทะเลจีนใต้”
ขณะที่ทางด้านเอกอัครราชทูตจีนประจำฟิลิปปินส์ หวง ซีเหลียน (Huang Xilian) กล่าวในเวทีการประชุมสัมมนาครั้งหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “จีนไม่เคยเข้าไปแทรกแซงในการเมืองภายในของประเทศอื่นๆ และเรื่องการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เป็นการเมืองภายในอย่างหนึ่งของฟิลิปปินส์”
จีนทำการค้ากับฟิลิปปินส์มาแต่โบราณย้อนหลังไปได้ไกลถึงคริสต์ศตวรรษที่ 9 ทุกวันนี้กล่าวได้ว่าเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ไม่สามารถดำเนินไปได้ถ้าหากปราศจากเงินทองของจีน
“จีนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด เป็นแหล่งที่มาของสินค้านำเข้ารายใหญ่ที่สุด เป็นตลาดสำหรับการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสาม และเป็นผู้ลงทุนต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของฟิลิปินส์” เอกอัครราชทูตผู้นี้แจกแจง
ขณะที่ แอลวิน คัมบา (Alvin Camba) ผู้ช่วยอาจารย์ด้านการระหว่างประเทศศึกษา (international studies assistant professor) อยู่ที่มหาวิทยาลัยเดนเวอร์ (Denver University) ในรัฐโคโลราโด สหรัฐฯ เขียนเอาไว้ว่า “ในสำนวนการพูดที่นิยมใช้กันในทุกวันนี้ คำภาษาอังกฤษที่ว่า ผู้สมัคร Manchurian candidate นิยมใช้เพื่อหมายถึงใครสักคนหนึ่งผู้ซึ่งเป็นหุ่นเชิดของจีน เป็นคนซึ่งรัฐบาลจีนสนับสนุนอุ้มชูขึ้นมาเพื่อให้ชนะได้ครองตำแหน่งระดับท็อปในคณะรัฐบาล และจะได้เดินหน้ากระทำสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของจีน”
“ในการเลือกตั้งของฟิลิปปินส์ปี 2022 นี้ คนที่ถูกเรียกกันว่าเป็นผู้สมัคร “Manchurian candidate” ถูกทึกทักเอาว่าหมายถึง บองบอง มาร์กอส แต่แนวความคิดว่าด้วยเรื่องผู้สมัคร Manchurian candidate เช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรสนับสนุนเอาเลย” คัมบา กล่าวในข้อเขียนซึ่งเผยแพร่โดยแรปเปลอร์ (Rappler) เว็บไซต์สื่อออนไลน์ของฟิลิปปินส์
(คำว่า Manchurian candidate มีต้นตอมาจากนวนิยายที่เขียนโดย ริชาร์ด คอนดอน Richard Condon ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1959 โดยเป็นเรื่องบุตรชายของครอบครัวนักการเมืองสำคัญในสหรัฐฯ ถูกข้าศึกจับขณะเป็นทหารสู้รบในสงครามเกาหลี แล้วถูกส่งไปแมนจูเรียเพื่อล้างสมองแบบสะกดจิต เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นมือสังหารแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เมื่อกลับมายังสหรัฐฯ ตามแผนการยึดอำนาจทางการเมืองในอเมริกาของพวกคอมมิวนิสต์ นวนิยายเรื่องนี้ถูกดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูด 2 ครั้ง ในปี 1962 และปี 2004 โดยใช้คงใช้ชื่อเรื่องเหมือนในนวนิยาย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/The_Manchurian_Candidate --ผู้แปล)
ผลการเลือกตั้งฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมคราวนี้ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่มีคะแนนเป็นอันดับสอง ทว่าถูก มาร์กอส จูเนียร์ ทิ้งกันอย่างห่างไกลสุดกู่ ก็คือ เลนี โรเบรโด (Leni Robredo) รองประธานาธิบดีคนปัจจุบันของดูเตอร์เต
(ระบบการเลือกตั้งของฟิลิปปินส์ แม้พรรคหรือกลุ่มการเมืองอาจเสนอชื่อทีมผู้สมัครของตนที่มีทั้งผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี แต่ในการเลือกตั้งจริงๆ ผู้มีสิทธิออกเสียงจะโหวตแยกต่างหากจากกัน ดังนั้น ผู้ชนะได้เป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี จึงอาจมาจากคนละทีมคนละพรรค และอาจเป็นปรปักษ์ทางการเมืองกันก็ได้ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/2022_Philippine_presidential_election -ผู้แปล)
ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 โรเบรโด ซึ่งเป็นนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน สามารถเบียดชนะ มาร์กอส จูเนียร์ ได้แบบเฉียดฉิว และได้ขึ้นเป็นรองประธานาธิบดี ทว่า ดูเตอร์เต แสดงท่าทีเป็นปรปักษ์กับเธอตลอดระยะเวลา 6 ปีแห่งการดำรงตำแหน่งที่ผ่านมา
“เธอได้รับการสนับสนุนจากพวกฝ่ายซ้าย จากพวกหัวแดง (หมายถึงคอมมิวนิสต์) ... ผู้ซึ่งแสดงตัวเป็นฝ่ายตรงกันข้ามอย่างมากๆ กับท่านประธานาธิบดี” จาซินโต ปาราส (Jacinto Paras) ที่ปรึกษาด้านการเมืองของ ดูเตอร์เต กล่าวไว้เช่นนี้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ขณะที่ตัว โรเบรโด เอง บอกกับพวกผู้สนับสนุนเธอเมื่อวันที่ 23 เมษายนว่า “มีคนจำนวนมากเลยกำลังพยายามกีดกันขัดคอเรา กำลังพูดว่าเราไม่มีโอกาสที่จะชนะหรอก”
ทางด้าน นิค แดนบี (Nick Danby) เจ้าหน้าที่ข่าวกรองทหารเรือสหรัฐฯ เขียนว่า “ตัวเก็ง เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ เรียกร้องสนับสนุนให้ฟิลิปปินส์ออกไปปรากฏตัวทางทหารในทะเลจีนใต้เพื่อพิทักษ์คุ้มครองสิทธิต่างๆ ทางเศรษฐกิจของตน ถึงแม้เขาก็ต้องการที่จะมี “ฉันทมติแบบทวิภาคี” กับปักกิ่งด้วยก็ตามที”
ขณะที่ผู้สมัครอีกคนหนึ่ง คือ “รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน เลนี โรเบรโด ซึ่งเป็นผู้มีแนวทางคิดแบบสายเหยี่ยวมากกว่า ให้คำมั่นสัญญาที่จะจัดตั้งกลุ่มชาติพันธมิตรแบบพหุภาคีขึ้นมาเพื่อตอบโต้การใช้อำนาจบังคับในทางทะเลของจีน” แดนบี ซึ่งระบุว่าตนเองได้รับมอบหมายให้ “ประจำการอยู่ส่วนหน้า” ในญี่ปุ่น กล่าวในข้อเขียนแสดงความคิดเห็นที่ถูกนำออกมาเผยแพร่ก่อนการเลือกตั้ง
บางคนบางฝ่ายมีความรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ โรเบรโด ซึ่งปัจจุบันอายุ 57 ปี ว่า เป็นพวกชนชั้นนำ (elitist) คนหนึ่งซึ่งกำลังพยายามที่จะเลียนแบบผู้นำสตรีของราชวงศ์อีกราชวงศ์หนึ่ง ได้แก่ โคราซอน “คอรี่” อากีโน ผู้ซึ่งได้ครองตำแหน่งประธานาธิบดีจากปี 1986 จนถึงปี 1992 ภายหลัง มาร์คอส ซีเนียร์ หลบหนีออกนอกประเทศ
อากีโนเป็นภรรยาหม้ายผู้มั่งคั่งร่ำรวยของวุฒิสมาชิก เบนิโญ อากีโน ผู้ถูกลอบสังหารเมื่อปี 1983 สำหรับ เจสซี (Jesse) สามีของโรเบรโด ก็เป็นรัฐมนตรีมหาดไทยในคณะบริหารของประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน ที่สาม ผู้เป็นบุตรชายของประธานาธิบดีโคราซอน อากีโน เมื่อตอนที่เขาเสียชีวิตจากเหตุเครื่องบินตกในปี 2012
ระหว่างที่เธอรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งนี้ โรเบรโดถูกกล่าวหาป้ายสีอย่างไม่มีข้อพิสูจน์ว่า เธอกำลังมีเรื่องชู้สาว รวมทั้งมีผู้เผยแพร่คลิปวิดีโอเซ็กซ์ปลอมๆ ซึ่งมุ่งเล่นงานบุตรสาวคนโตของเธอ
“โครงการต่างๆ ที่เธอผลักดันในฐานะเป็นรองประธานาธิบดีนั้น เป็นโครงการที่ช่วยเหลือผู้คนที่เสียเปรียบในสังคม” เป็นคำชมของ ยีน เอส เอนซินาส-ฟรังโก (Jean S Encinas-Franco) ผู้เป็นรองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ อยู่ที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์
“จุดอ่อนของเธอก็คือ เธอเกี่ยวข้องใกล้ชิดอยู่กับพวกอากีโน และพรรคเสรีนิยม (Liberal Party) ซึ่งถูกชาวฟิลิปปินส์จำนวนหนึ่งมองว่าเป็นพรรคของชนชั้นนำ” เอนซินาส-ฟรังโก กล่าวในการให้สัมภาษณ์
ขณะที่มีนักวิเคราะห์บางคนบอกว่า โรเบรโด ไม่สามารถโน้มน้าวให้ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนอื่นๆ ซึ่งมีคะแนนนิยมด้อยกว่าเธอหันมาสนับสนุนเธอ ไม่เช่นนั้นแล้วเธออาจจะเบียดเอาชนะ มาร์กอส จูเนียร์ ได้ทีเดียว
น่าสนใจว่า นายกเทศมนตรีมะนิลา ฟรานซิสโก “อิสโก โมเรโน” โดมาโกโซ (Francisco “Isko Moreno” Domagoso) ซึ่งก็ลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งนี้และประสบความพ่ายแพ้เช่นกัน ได้ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งราชวงศ์มาร์กอส และราชวงศ์โรเบรโด
“พวกเขาอาจจะมีนามสกุลที่แตกต่างกัน แต่ผลประโยชน์ต่างๆ ของพวกเขานั้นเป็นพันธมิตรกันทีเดียว” เป็นคำกล่าวของ รอม-วอลแตร์ กีซอน (Rom-Voltaire Quizon) ผู้ทำหน้าที่เป็นโฆษกคนหนึ่งให้แก่กลุ่มผู้สนับสนุนโดมาโกโซ
“มองไปรอบๆ ตัวพวกคุณดูเถอะ แล้วคุณจะเห็นได้เองว่า ชีวิตของพวกคุณ และของประเทศชาติของพวกคุณมีการกระเตื้องดีขึ้นภายใต้การปกครองของ 2 ครอบครัวนี้หรือเปล่า 2 ครอบครัวนี้แหละที่เป็นผู้ครองอำนาจเหนือการเมืองของประเทศชาติซึ่งเป็นที่รักยิ่งของเรามาเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว” กีซอน กล่าวเช่นนี้เมื่อวันที่ 30 เมษายน
ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ถูกสเปนล่าเอาไปเป็นอาณานิคมในปี 1565 จากนั้นก็ตกไปเป็นของสหรัฐฯ ในปี 1898 ภายหลังสงครามสเปน-อเมริกัน (Spanish-American War) และระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ถูกญี่ปุ่นยึดครองในช่วงระหว่างปี 1942-45 ก่อนที่จะได้รับเอกราชเมื่อปี 1946
หลังจากเป็นเอกราช ฟิลิปปินส์ยังคงมีฐานะเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐ ฯชนิดที่มีการทำสนธิสัญญาผูกพันระหว่างกันอย่างเป็นทางการ อำนาจของวอชิงตันที่มีเหนือมะนิลาขึ้นไปถึงขีดสูงสุด ถึงขนาดที่เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) กล้าที่นำเอาอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาเก็บเอาไว้อย่างลับๆ ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายนี้
“ถ้าข้อเท็จจริงที่ว่ามีอาวุธนิวเคลียร์ถูกเก็บเอาไว้ในฟิลิปปินส์เกิดรั่วไหลออกไป โดยที่อาวุธเหล่านี้อยู่ที่นั่นมาหลายปีแล้วแบบไม่ได้มีการปรึกษาหารือกันก่อนกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ มันจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงยิ่งต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์” โรเบิร์ต แมคคลินท็อค (Robert McClintock) ซึ่งเวลานั้นเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เขียนเอาไว้เช่นนี้ในบันทึก “ลับสุดยอด” ส่งถึงกระทรวงเมื่อปี 1969
“ประธานาธิบดีมาร์กอสได้รับแจ้งอย่างลับๆ เรื่องการปรากฏตัวของอาวุธเหล่านี้เมื่อปี 1966” แมคคลินท็อค บอก
ฟิลิปปินส์ ซึ่งประชากรส่วนข้างมากเป็นผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ยังประสบปัญหาอีกด้านหนึ่ง นั่นคือ การก่อความไม่สงบที่ยังคงคุกรุ่นอยู่จนถึงเวลานี้ ของพวกกลุ่มอิสลามิสต์บนเกาะมินดาเนา ซึ่งเป็นเกาะใหญ่อยู่ทางภาคใต้ของประเทศที่ผู้คนส่วนข้างมากเป็นชาวมุสลิม เวลาเดียวกัน การก่อกบฏของพวกคอมมิวนิสต์ก็ยังไม่ได้ยุติลง
“การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น (ซึ่งก็จัดขึ้นในวันที่ 9 พฤษภาคม) ถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ... โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมินดาเนา ซึ่งรัฐบาลชั่วคราวที่เป็นพวกอดีตกบฏกลุ่ม MILF (Moro Islamic Liberation Front แนวร่วมปลดแอกอิสลามโมโร) จะต้องแข่งขันเผชิญหน้ากับพวกนักการเมืองตามประเพณีนิยมแบบเดิมๆ ที่เป็นพวกยึดโยงอยู่กับตระกูลเชื้อสาย นี่จะเป็นการทดสอบว่าข้อตกลงสันติภาพ (ระหว่างรัฐบาลกลางในมะนิลากับ MILF) สามารถหยั่งรากลึกในภูมิภาคนี้ได้หรือยัง” จอร์จี เองเกลเบรชต์ (Georgi Engelbrecht) กล่าวในการให้สัมภาษณ์
เองเกเบรชต์ เป็นนักวิเคราะห์อาวุโสในเรื่องฟิลิปปินส์ ของอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป (International Crisis Group) องค์กรนอกภาครัฐบาลซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในเบลเยียม
“ประธานาธิบดีคนต่อไปจะต้องกำหนดนโยบายต่างๆ ออกมาจำนวนหนึ่ง ไม่เพียงแค่เฉพาะนโยบายการต่างประเทศ และปัญหาที่เห็นชัดเกี่ยวกับความภักดีหรือการหาทางกระจายความเสี่ยง (ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน) เท่านั้น แต่ยังเรื่องกระบวนการสันติภาพใน (ภูมิภาคปกครองตนเอง) บังซาโมโร (ในหลายจังหวัดบนเกาะมินดาเนาที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม) ตลอดจนวิธีการในการรับมือกับการก่อความไม่สงบของพวกคอมมิวนิสต์” เองเกเบรชต์ บอก
พรรคคอมมิวนิสต์แห่งฟิลิปปินส์ (The Communist Party of the Philippines) ประกาศอุดมการณ์ของตนซึ่งมีทั้งลัทธิมาร์กซ์ ลัทธิเลนิน และลัทธิเหมา และนำออกมาบังคับใช้โดยพวกกองจรยุทธ์ที่ใช้ชื่อว่า กองทัพประชาชนใหม่ (New People’s Army) ของพรรค
ริชาร์ด เอส เออร์ลิช เป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศชาวอเมริกันซึ่งตั้งฐานอยู่ที่กรุงเทพฯ และปฏิบัติงานรายงานข่าวจากเอเชียมาตั้งแต่ปี 1978
ทดลองอ่านบางส่วนจากหนังสือสารคดี 2 เล่มใหม่ของเขา คือเรื่อง “Rituals. Killers. Wars. & Sex. — Tibet, India, Nepal, Laos, Vietnam, Afghanistan, Sri Lanka & New York” และเรื่อง “Apocalyptic Tribes, Smugglers & Freaks” ได้ที่ https://asia-correspondent.tumblr.com/