ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ จะเปิดทำเนียบขาวต้อนรับการมาเยือนของนายกรัฐมนตรีสวีเดน และประธานาธิบดีฟินแลนด์ในวันพฤหัสบดี (19 พ.ค.) ในการแสดงจุดยืนสนับสนุนครั้งสำคัญ ไม่กี่วันหลังจากทั้งสองประเทศประกาศว่าจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้)
คาดหมายว่าบรรดาผู้นำจะหารือกันเกี่ยวกับการสมัครเป็นสมาชิกนาโต้ของฟินแลนด์และสวีเดน รวมถึงประเด็นความมั่นคงของยุโรปและการให้การสนับสนุนยูเครน ท่ามกลางการรุกรานของรัสเซีย จากการเปิดเผยของ คารีน ฌอง ปิแอร์ เลขานุการฝ่ายสื่อสารมวลชนของทำเนียบขาว
ทั้ง 2 ประกาศกำลังหาทางเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทหารที่นำโดยสหรัฐฯ หลังการโจมตียูเครนของรัสเซีย โหมกระพือความกังวลด้านความมั่นคงรอบใหม่ไปทั่วภูมิภาค การสมัครครั้งประวัติศาสตร์ของสวีเดนและฟินแลนด์ จะเป็นตัวแทนของวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันในด้านภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคงของยุโรป
สหรัฐฯ และบรรดาผู้นำนาโต้คนอื่นๆ ต่างสนับสนุนการเข้าร่วมพันธมิตรทหารของฟินแลนด์และสวีเดน โดย แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกาบอกว่า สหรัฐฯ "จะสนับสนุนอย่างหนักแน่นต่อการสมัครเข้าร่วมนาโต้ของพวกเขา"
ทั้งฟินแลนด์ และสวีเดน สามารถทำได้ตามข้อกำหนดต่างๆ มากมายอยู่ก่อนแล้วสำหรับการเป็นสมาชิกนาโต้ ในนั้นรวมถึงการมีระบอบการเมืองประชาธิปไตยบนพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ปฏิบัติกับพลเมืองชนกลุ่มน้อยอย่างยุติธรรม มีความมุ่งมั่นคลี่คลายความขัดแย้งด้วยสันติวิธี มีศักยภาพและความตั้งใจให้การสนับสนุนทางทหารต่อปฏิบัติการต่างๆ ของนาโต้ และให้คำมั่นต่อรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือน ทหาร และสถาบันต่างๆ ตามระบอบประชาธิปไตย"
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวนี้ต้องเผชิญการต่อต้านจากรัสเซียและตุรกี โดยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียระบุในวันจันทร์ (16 พ.ค.) ว่าการเข้าร่วมนาโต้ของฟินแลนด์และสวีเดน จะไม่ก่อภัยคุกคามกับรัสเซีย แต่การขยายโครงสร้างพื้นฐานทางทหารในดินแดนหน้านี้ จะกระตุ้นให้ทางมอสโกต้องตอบโต้
ประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกี ระบุในสัปดาห์นี้ว่าเขาจะไม่เห็นชอบการเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ของสวีเดนและฟินแลนด์ กล่าวหาทั้ง 2 ประเทศว่าล้มเหลวแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในการต่อต้านก่อการร้าย ให้แหล่งกบดานของพวกก่อการร้าย ในนั้นรวมถึงกลุ่มนอกกฎหมายนักรบเคิร์ด ซึ่งอยู่ในบัญชีดำของทั้งอังการา อียู และสหรัฐฯ
การสมัครเข้าเป็นสมาชิกใดๆ จำเป็นต้องได้รับการเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จาก 30 ชาติสมาชิกปัจจุบันของนาโต้ "ทั้ง 2 ประเทศไม่ได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนเลยในการต่อต้านองค์กรก่อการร้าย" แอร์โดอัน กล่าว
(ที่มา : ซีเอ็นเอ็น/เอเอฟพี)