xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ-พันธมิตร กระเทือน ‘ศก.รัสเซีย’ แค่ไหน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การทำสงครามรุกรานยูเครนส่งผลให้ “รัสเซีย” ต้องเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรที่ถือได้ว่ารุนแรงที่สุดจากสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรทั่วโลก บทลงโทษที่ถาโถมมาอย่างหนักหน่วงและรวดเร็วเช่นนี้ทำให้ค่าเงินรูเบิลดิ่งเหวทันทีในช่วงแรกๆ ตลาดหลักทรัพย์รัสเซียต้องปิดทำการชั่วคราว และคนรัสเซียจำนวนมากแห่กันไปต่อคิวถอนเงินสดออกจากธนาคารด้วยความตื่นตระหนก

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจรัสเซียซึ่งมีวี่แววว่าจะทรุดหนัก ก็ยังไม่พังทลายลงง่ายๆ

ธนาคารกลางรัสเซียรับมือวิกฤตที่เกิดขึ้นด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 20% และควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเข้มงวด มาตรการแทรกแซงเหล่านี้เมื่อประกอบกับการที่รัสเซียยังคงสามารถส่งออกน้ำมันและก๊าซให้หลายๆ ประเทศ ได้กลายเป็น “กันชน” ชั้นเยี่ยมที่ช่วยฟื้นเศรษฐกิจจากภาวะช็อกจากการถูกตะวันตกแซงก์ชันในช่วงแรกๆ

แอดัม เอ็ม.สมิธ อดีตที่ปรึกษาอาวุโสของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดี บารัค โอบามา ชี้ว่า กลยุทธ์ซึ่งงัดออกมาจาก “คู่มือจัดการวิกฤตเศรษฐกิจของรัสเซีย” นี้นับว่าได้ผลในการบรรเทาวิกฤตเฉพาะหน้า และทำให้ค่าเงินรูเบิลกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ก็ประกาศเมื่อเดือน เม.ย. ว่า แผนทำลายเศรษฐกิจรัสเซียของตะวันตกนั้น “ล้มเหลว”

กระนั้นก็ตาม ยุทธศาสตร์พยุงค่าเงินรูเบิลของเครมลินไม่อาจปกปิดผลกระทบจากการที่รัสเซียถูกโดดเดี่ยวและกีดกันไม่ให้สามารถเข้าถึงสินค้าจำเป็นจากต่างประเทศ ตั้งแต่ไมโครชิปที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาวุธ เรื่อยไปจนถึงสินค้าทั่วไปอย่างกระดุมเสื้อ

มาเรีย ชากีนา จากสถาบันกิจการระหว่างประเทศแห่งฟินแลนด์ ชี้ว่า เศรษฐกิจรัสเซียตอนนี้อยู่ในภาวะที่เรียกว่า “ความมีเสถียรภาพแบบปลอมๆ” (false sense of stability) และในความเป็นจริงรัสเซียกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ขั้นรุนแรง

กระทรวงเศรษฐกิจของรัสเซียประเมินว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปีนี้จะหดตัวราว 8.8% หรือในขั้นเลวร้ายที่สุดอาจจะถึง 12.4% ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็คาดว่าจะพุ่งสูงถึง 23% ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรยังส่งผลให้รัสเซียไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการชำระตราสารหนี้ด้วยสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งเท่ากับว่ามีความเสี่ยงที่จะต้องผิดนัดชำระหนี้ (default)


วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ยังส่งผลกระทบต่อรายได้ของคนรัสเซีย และมีคนจำนวนมากที่ตัดสินใจอพยพไปต่างประเทศ โดยเฉพาะแรงงานด้านเทคโนโลยี ซึ่งอาจจะนำไปสู่ภาวะ “สมองไหล”

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า รัสเซียอาจหยุดเผยแพร่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นวิธีที่พวกเขาเคยใช้มาก่อนแล้วเพื่อปกปิดผลกระทบจากการถูกคว่ำบาตร

สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ยังคงเดินหน้าเพิ่มบทลงโทษและปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ เพื่อที่จะบั่นทอนเศรษฐกิจมอสโกให้ได้มากที่สุด โดยในสัปดาห์นี้อียูได้เสนอมาตรการแบนน้ำมันรัสเซียแบบเป็นขั้นเป็นตอน ขณะที่สหรัฐฯ ก็เริ่มพิจารณามาตรการเสริมอย่างการขู่คว่ำบาตรประเทศอื่นๆ เช่น จีนและอินเดีย เพื่อกดดันให้เลิกซื้อพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย

หากจะตั้งคำถามว่า มาตรการคว่ำบาตรเหล่านี้ “เวิร์ก” หรือไม่? ก็ขึ้นอยู่กับว่าผลลัพธ์ที่ชาติตะวันตกคาดหวังนั้นคืออะไร แต่ความจริงที่ชัดเจนอย่างหนึ่งก็คือ “ในระยะยาว” บทลงโทษเหล่านี้ย่อมจะบั่นทอนศักยภาพของรัสเซียในการผลิตอาวุธและทำสงคราม รวมถึงความสามารถในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคจำพวกอาหาร และยานพาหนะด้วย

หลังจากที่ถูกตะวันตกคว่ำบาตรจากการยึดคาบสมุทรไครเมียในปี 2014 รัฐบาลมอสโกได้พยายามป้องกันเศรษฐกิจของตนเองโดยการกว้านซื้อทองคำและเพิ่มทุนสำรองระหว่างประเทศขึ้นเป็นกว่า 640,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กระนั้นมาตรการคว่ำบาตรจากสงครามในยูเครนก็ทำให้ “ปราการ” ที่รัสเซียก่อไว้สั่นสะเทือนไม่น้อย โดยเฉพาะคำสั่งแซงก์ชันธนาคารกลางของรัสเซีย ซึ่งทำให้ทุนสำรองต่างประเทศถูกอายัดไปราวๆ ครึ่งหนึ่ง

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ประกาศจะทำให้เงินรูเบิลรัสเซียมีค่าเป็นเพียง “เศษขยะ” ซึ่งการคว่ำบาตรในช่วงแรกๆ ก็ทำให้รูเบิลอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์จริง แต่ธนาคารกลางรัสเซียก็แก้ลำโดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นให้คนรัสเซียออมเงินมากขึ้น นอกจากนี้ ยังควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนของภาคธุรกิจและบุคคล ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศจะต้องนำรายได้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ 80% มาแลกเป็นรูเบิล นอกจากนี้ยังห้ามมิให้คนรัสเซียทำธุรกรรมโอนเงินไปต่างประเทศ หรือถอนเงินจากบัญชีธนาคารต่างประเทศเกินกว่า 10,000 ดอลลาร์ตลอดระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้า

นอกจากนโยบายของธนาคารกลางที่ช่วยพยุงค่าเงินไว้ได้แล้ว รัสเซียยังมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงยุโรปซึ่งพึ่งพาก๊าซธรรมชาติรัสเซียมากถึง 1 ใน 3 ของความต้องการ เงินรายได้เหล่านี้ -- เฉพาะจากอียูก็หลายร้อยล้านดอลลาร์ต่อวัน -- ถูกส่งเข้าคลังของทำเนียบเครมลินอย่างต่อเนื่อง และมีส่วนช่วยลดแรงกระแทกทางเศรษฐกิจจากการถูกคว่ำบาตรได้มาก

การที่ประธานาธิบดีปูติน ยื่นเงื่อนไขให้บรรดา “ชาติที่ไม่เป็นมิตร” ต้องจ่ายค่าก๊าซเป็นรูเบิลก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการพยุงค่าเงิน แต่รัสเซียก็ยังอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้ายุโรปด้วยการสร้างกลไกให้ลูกค้าเปิดบัญชีธนาคาร 2 บัญชีกับธนาคารก๊าซปรอมแบงก์ โดยผู้ซื้อสามารถชำระด้วยสกุลเงินดอลลาร์หรือยูโร จากนั้นธนาคารก็จะทำหน้าที่แปลงเป็นรูเบิลไปสู่อีกบัญชี ก่อนจะโอนมันไปยังผู้จัดหาอุปทานในรัสเซีย


อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่ามาตรการพยุงเศรษฐกิจเหล่านี้ไม่อาจใช้ได้ตลอดไป และแม้รัสเซียจะยังคงมีรายได้จากการส่งออกก๊าซและน้ำมันเข้ามาช่วย แต่หากสหรัฐฯ และพันธมิตรคว่ำบาตรพลังงานรัสเซียหนักขึ้นจนทำให้รัสเซียต้องยอมขายก๊าซในราคาถูกๆ หรือประเทศส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะซื้อพลังงานจากรัสเซียเพราะกลัวจะติดร่างแหคว่ำบาตร ตาข่ายความปลอดภัย (safety net) นี้ก็อาจจะพังลงในที่สุด

มาตรการคว่ำบาตรยังเผยให้เห็นว่ารัสเซียต้องพึ่งพาสินค้าและผลิตภัณฑ์จากต่างชาติอยู่ไม่น้อย ไม่เพียงแต่ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวัตถุดิบที่ภาคอุตสาหกรรมแดนหมีขาวต้องใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศด้วย

เครื่องบินในรัสเซียเวลานี้ถูกใช้สำหรับทำการบินในประเทศเป็นหลัก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตร และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัสเซียไม่สามารถหาอะไหล่จากผู้ผลิตอากาศยานตะวันตกอย่างเช่น โบอิ้ง ซึ่งทำให้พวกเขาต้องหันไปใช้วิธี “รีไซเคิล” ชิ้นส่วนจากเครื่องบินที่จอดอยู่ หรือไม่ก็ลดเที่ยวบินลง ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ก็ประสบปัญหาขาดแคลนอะไหล่เช่นเดียวกัน

สถานการณ์เช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ตัวอย่างเช่น หากโรงงานรถยนต์ไม่มีอะไหล่ใช้ก็อาจจำเป็นต้องปิดโรงงานชั่วคราว และปลดพนักงานออก หรือหากรัสเซียไม่สามารถเข้าถึงเซมิคอนดักเตอร์หรือชิปสำหรับคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารต่างๆ ก็อาจจะส่งผลให้อุปกรณ์เหล่านี้ “โลว์เทค” และมีประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐกิจลดลง

ธนาคารกลางรัสเซียได้ออกรายงานเตือนว่า แดนหมีขาวกำลังเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า “การก้าวถอยหลังของอุตสาหกรรม” (reverse industrialization)

ราเชล เซียมบา ผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเมืองจากศูนย์เพื่อความมั่นคงอเมริกันใหม่ ชี้ว่า “เราอาจจะได้เห็นเศรษฐกิจรัสเซียที่หดตัว และหันเข้าสู่ภายในมากขึ้น” ขณะที่ เอโดอาร์โด ซาราวาลล์ นักวิจัยด้านการคว่ำบาตร คาดการณ์ว่าท้ายที่สุดแล้วรัสเซียอาจเรียนรู้ที่จะปรับตัวสู่ความเป็นรัฐที่ถูกคว่ำบาตรถาวร อย่างเช่น อิหร่านและเกาหลีเหนือ เป็นต้น

เมื่อต้นเดือน เม.ย. หลังจากที่สหรัฐฯ ยกระดับคว่ำบาตรมอสโก เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวคนหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์ว่า ด้วยแรงกดดันระดับนี้อาจจะทำให้รัสเซีย “กลับไปสู่มาตรฐานของสหภาพโซเวียตในยุค 1980s”

แม้สถานการณ์ดังกล่าวอาจยังไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ แต่คำถามสำคัญก็คือ สหรัฐฯ และตะวันตกตั้งเป้าหมายในการคว่ำบาตรรัสเซียเอาไว้มากน้อยขนาดไหน?

ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แถลงเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ว่า สหรัฐฯ “ต้องการเห็นรัสเซียอ่อนแอลงจนถึงระดับที่ไม่สามารถกระทำสิ่งต่างๆ อย่างที่พวกเขาได้ทำไปในการรุกรานยูเครน” โดยวอชิงตันหวังที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวด้วยการคว่ำบาตรมอสโก และการจัดส่งความช่วยเหลือให้แก่เคียฟ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนนักว่าสหรัฐฯ และพันธมิตรหมายความอย่างไรแน่เมื่อพูดถึง “รัสเซียที่อ่อนแอลง” พวกเขาต้องการบีบให้รัสเซียยอมเปิดเจรจาใช่หรือไม่? หรือต้องการให้รัสเซียถอนทหาร หรือถึงขั้นยอมแพ้สงครามในยูเครน? และสิ่งที่จะตามมาหลังจากนั้นคืออะไร?

ทั้งนี้ หากตะวันตกคิดที่จะใช้มาตรการบีบคั้นต่อรัสเซียแบบ “ไม่มีที่สิ้นสุด” ก็อาจเป็นการยากที่จะคงความรุนแรงของบทลงโทษเอาไว้ได้นาน และแม้เวลานี้สหรัฐฯ จะได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรยุโรปและหุ้นส่วนอีกหลายประเทศในการกดดันมอสโก แต่หากสงครามยืดเยื้อและการคว่ำบาตรยาวนานออกไปเรื่อยๆ จนผลกระทบทางเศรษฐกิจแผ่ลามออกนอกพรมแดนรัสเซีย ความร่วมมือที่ว่านี้ก็อาจไม่เข้มแข็งอีกต่อไป

ผู้เชี่ยวชาญระบุด้วยว่า สหรัฐฯ และพันธมิตรยังต้องพิจารณาให้ความช่วยเหลือให้แก่กลุ่มประเทศรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ตัวอย่างเช่น เกษตรกรในบราซิลที่ต้องนำเข้าปุ๋ยจากรัสเซีย หรือบางประเทศพึ่งพาอาวุธจากแดนหมีขาว และไม่สามารถที่จะหาอะไหล่หรือสั่งซื้ออาวุธอื่นๆ มาทดแทนของเดิมได้ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น