ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เมื่อวันจันทร์ (18 เม.ย.) ระบุมาตรการคร่ำบาตรเป็นชุดที่กำหนดเล่นงานรัสเซียต่อกรณีรุกรานยูเครน "ประสบความล้มเหลว" และมันกำลังนำมาซึ่งความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจในตะวันตกเสียเอง
ปูติน ระบุว่า ตะวันตกคาดหมายว่าจะก่อความสับสนอลหม่านอย่างรวดเร็วในสถานการณ์ทางการเงินและเศรษฐกิจ โหมกระพือความตื่นตระหนกในตลาด การล่มสลายของระบบธนาคาร และภาวะขาดแคลนตามห้างร้านต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ปูติน ระบุว่า "ยุทธศาสตร์โจมตีทางเศรษฐกิจแบบสายฟ้าแลบดังกล่าว ประสบความล้มเหลว" และมันนำมาซึ่งความตกต่ำทางเศรษฐกิจในตะวันตกแทน ความคิดเห็นนี้มีขึ้นระหว่างที่เขาพูดคุยผ่านวิดีโอคอลกับบรรดาเจ้าหน้าที่เศรษฐกิจระดับสูง ซึ่งมีการออกอากาศทางโทรทัศน์
บรรดาประเทศตะวันตกกำหนดมาตรการคว่ำบาตรหนักหน่วงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเล่นงานบริษัทต่างๆ ของรัสเซีย และระบบการเงินของรัสเซีย นับตั้งแต่มอสโกส่งทหารรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ในสิ่งที่รัสเซียเรียกว่าเป็น "ปฏิบัติการพิเศษด้านการทหาร"
ปูติน เน้นว่า "รัสเซียสามารถอดทนต่อแรงกดดันที่หนักหน่วงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน" โดยอ้างรูเบิลที่แข็งค่าขึ้น และตัวเลขเกินดุลการค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 58,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาสแรกของปี
ยิ่งไปกว่านั้น ปูตินอ้างว่ามาตรการคว่ำบาตรต่างๆ กำลังย้อนกลับไปเล่นงานสหรัฐฯ และพันธมิตรยุโรปของพวกเขาเสียเอง ด้วยเป็นตัวเร่งอัตราเงินเฟ้อ และนำมาซึ่งมาตรฐานการครองชีพที่ตกต่ำลง
กระนั้น ปูติน ยอมรับเช่นกันว่าราคาผู้บริโภคได้พุ่งขึ้นอย่างแรงในรัสเซีย โดยเพิ่มขึ้นถึง 17.5% ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบเป็นรายปี และเผยว่าเขาได้สั่งการให้รัฐบาลขึ้นค่าจ้างและค่าตอบแทนอื่นๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อที่มีต่อรายได้
ปูตินบอกว่ารัสเซียควรใช้งบประมาณเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและสภาพคล่อง ภายใต้เงื่อนไขธุรกรรมการกู้ยืมที่หดตัว แม้ว่าทางธนาคารกลางรัสเซียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ถูกลงก็ตาม
นอกจากนี้ ปูติน ยังแนะนำว่ารัสเซียควรเร่งรัดกระบวนการใช้สกุลเงินแห่งชาติในการค้าขายระหว่างประเทศภายใต้เงื่อนไขใหม่ๆ
ธนาคารโลกคาดหมายว่าเศรษฐกิจของรัสเซียจะหดตัวมากกว่า 11% ในปีนี้
ทางธนาคารกลางรัสเซียได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าเท่าตัวเป็น 20% ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ หลังถูกเล่นงานด้วยมาตรการคว่ำบาตรชุดแรกๆ ก่อนปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 17% ในวันที่ 8 เมษายน และคาดหมายว่าจะปรับลดลงไปกว่านี้อีกในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินในวันที่ 29 เมษายน
"มีความเป็นไปได้ที่เราต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากกว่านี้" เอลวิรา นาบิอุลลินา ผู้ว่าการธนาคารกลางรัสเซียกล่าวในวันจันทร์ (18 เม.ย.) "เราต้องสร้างสภาพแวดล้อมต่างๆ เพื่อเพิ่มเครดิตเศรษฐกิจ"
แม้ตัวเลขเงินเฟ้อในรัสเซียพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2002 แต่ทางธนาคารกลาง "จะไม่พยายามปรับลดดอกเบี้ยในแนวทางใดๆ ที่จะขัดขวางการปรับตัวของภาคธุรกิจ" นาบิอุลลินา กล่าว
ภาวะเงินเฟ้อปัจจุบันมีต้นตอจากอุปทานในระดับต่ำ ไม่ใช่เพราะอุปสงค์ในระดับสูง ดังนั้น ทางธนาคารกลางรัสเซียจึงมีเป้าหมายฉุดอัตราเงินเฟ้อลงสู่ระดับเป้าหมาย 4% ในปี 2024 ในระหว่างที่เศรษฐกิจปรับตัวเข้ากับมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก
เธอกล่าวว่า มอสโกมีแผนดำเนินการทางกฎหมายต่อการอายัดทองคำ เงินสกุลต่างประเทศและสินทรัพย์ใดๆ ที่เป็นของพลเมืองชาวรัสเซีย พร้อมระบุว่ามาตรการออย่างหนึ่งอย่างใดจำเป็นต้องมีการคิดทบทวนอย่างระมัดระวัง
มาตรการคว่ำบาตรของต่างชาติได้อายัดทรัพย์สินของรัสเซียราว 300,000 ล้านดอลลาร์ จากทั้งหมดประมาณ 640,000 ล้านดอลลาร์ ที่รัสเซียถือครองในรูปแบบทองคำและทุนสำรองระหว่างประเทศ
นาบิอุลลินา ระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรส่วนใหญ่แล้วส่งผลกระทบกับตลาดเงิน "แต่เวลานี้มันเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้น" เธอกล่าว "ปัญหาหลักๆ จะเกี่ยวข้องกับข้อจำกัดด้านการนำเข้าและโลจิสติกส์การค้าระหว่างประเทศ และในอนาคตจะเกี่ยวข้องกับข้อจำกัดด้านการส่งออก"
ผู้ว่าการธนาคารกลางรัสเซียแนะนำว่าบรรดาบริษัทต่างๆ ของรัสเซียจำเป็นต้องปรับตัว "พวกผู้ผลิตรัสเซียจำเป็นต้องค้นหาพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ โลจิสติกส์ใหม่ๆ หรือเปลี่ยนสู่การผลิตสินค้ายุคก่อนๆ" เธอกล่าว พร้อมระบุว่าทั้งหมดนี้จะต้องใช้เวลา
ในเดือนกุมภาพันธ์ รัสเซียสั่งการให้บรรดาบริษัทส่งออกทั้งหลาย ในนั้นรวมถึงก๊าซพรอมและรอสเนฟต์ 2 ผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ของโลกแปลงรายได้ถึง 80% เป็นสกุลเงินรูเบิล ในขณะที่ความสามารถในการเข้าแทรกแซงตลาดเงินของธนาคารกลางนั้นมีจำกัด
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นาบิอุลลินา ระบุว่าธนาคารกลางแห่งนี้อาจผ่อนปรนเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาและปริมาณการบังคับขายรายได้ดังกล่าว
พวกนักวิเคราะห์ของ Promsvyazbank มองว่าความคิดเห็นของ นาบิอุลลินา "มีเป้าหมายทั้งทางตรงและทางอ้อมในการสกัดไม่ให้รูเบิลแข็งค่าไปมากกว่านี้" อย่างไรก็ตาม สกุลเงินของรัสเซียยังแข็งค่าต่อเนื่องในวันจันทร์ (18 เม.ย.) แตะระดับ 81.4025 ต่อยูโร สูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน ฤดูกาลจ่ายภาษีที่กำลังมาถึง กระตุ้นให้พวกผู้ส่งออกเปลี่ยนรายได้เงินตราต่างประเทศเป็นสกุลเงินรูเบิล
(ที่มา : อัลจาซีราห์)