xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : รัฐบาล 'มาครง' เทอม 2 จ่อเผชิญศึกหนัก สังคมฝรั่งเศสแตกแยก-ขวาจัดมาแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับเป็นข่าวดีที่ทำให้บรรดาชาติยุโรปโล่งใจไปตามๆ กัน หลังจาก “เอมมานูเอล มาครง” ผู้นำสายกลางของฝรั่งเศส สามารถเอาชนะผู้ท้าชิงขวาจัดอย่าง "มารีน เลอเปน" รั้งเก้าอี้ประธานาธิบดีเอาไว้ได้เป็นสมัยที่ 2 ขณะที่นักวิเคราะห์เตือนว่าเส้นทางการบริหารประเทศของ มาครง นับจากนี้คงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ และจะต้องเตรียมรับมือกับมรสุมความแตกแยกทางสังคม รวมไปถึงกระแสนิยมขวาจัดที่มาแรงเป็นประวัติการณ์

กระทรวงมหาดไทยฝรั่งเศสประกาศผลการนับคะแนนในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบ 2 เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่า มาครง ได้รับคะแนนโหวตทั้งสิ้น 58.54% ขณะที่ เลอเปน ได้ไป 41.46%

ชัยชนะครั้งนี้ทำให้ มาครง วัย 44 ปี กลายเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนแรกในรอบ 20 ปีที่ได้ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องถึง 2 สมัย

มาครง กล่าวสุนทรพจน์ประกาศชัยชนะที่ด้านหน้าหอไอเฟลในกรุงปารีสเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 24 เม.ย. โดยยอมรับถึงความท้าทายที่รัฐบาลของเขาจะต้องเผชิญนับจากนี้

"ประเทศของเรากำลังถูกครอบงำด้วยความลังเลสงสัยและความแตกแยก การเลือกตั้งในวันนี้ทำให้เราต้องหวนนึกถึงผู้คนที่ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก และหาวิธีที่จะสนองตอบความต้องการของพวกเขา รวมถึงความโกรธเกรี้ยวที่ถูกแสดงออกมา" มาครง กล่าว

ภารกิจสำคัญเฉพาะหน้าของ มาครง คือการเตรียมตัวสู้ศึกเลือกตั้งรัฐสภาในเดือน มิ.ย. ซึ่ง มาครง จำเป็นจะต้องรักษาเสียงข้างมากเอาไว้ให้ได้เพื่อให้การผลักดันนโยบายต่างๆ เป็นไปอย่างสะดวก รวมถึงต้องหาวิธีรับมือผลกระทบทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

มาครง ยังต้องคำนึงถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มฝ่ายซ้ายซึ่งส่วนใหญ่โหวตเลือก “ฌ็อง-ลุค เมลองชง” ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรก และที่หันมาเทคะแนนให้แก่ มาครง ในรอบที่ 2 ก็เพื่อให้มั่นใจว่า เลอเปน จะไม่มีโอกาสชนะ

บรีซ เตียนตูริเยร์ ผู้บริหารสถาบันโพล Ipsos บอกกับสถานีวิทยุ France Inter Radio ว่า "เวลานี้ฝรั่งเศสไม่ได้มีเพียงแค่ 2 ขั้ว แต่มีถึง 3 เป็นอย่างน้อย" และกลุ่มซ้ายจัดที่เป็นฐานเสียงของ เมลองชง คงจะไม่สามารถปรองดองกับค่ายขวาจัดของ เลอเปน ได้ เนื่องจากอุดมการณ์ต่างกันเกินไป

"ความยุ่งยากต่างๆ คงจะเริ่มปรากฏให้เห็นเร็วๆ นี้" เขาให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

มาครง ประกาศต่อหน้าผู้สนับสนุนเมื่อวันอาทิตย์ (24) ว่า เขาจะ "เยียวยา" ความแตกแยกในสังคมฝรั่งเศส และให้สัญญาว่าจะตอบสนองต่อความคับแค้นใจต่างๆ ที่ทำให้ชาวฝรั่งเศสจำนวนมากหันไปเทคะแนนให้แก่ผู้สมัครขวาจัด

การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ออกมาใช้สิทธิต่ำที่สุดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบ 2 นับตั้งแต่ปี 1969 เป็นต้นมา และจำนวนผู้ที่หย่อนบัตรเปล่าหรือกาบัตรเสียเพื่อประท้วงซึ่งมีมากถึง 8.6% ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกว่าคนฝรั่งเศสเริ่มเหนื่อยหน่ายการเมือง

ทารา วาร์มา นักวิชาการอาวุโสด้านนโยบายและหัวหน้าสำนักงานในปารีสของกลุ่มคลังสมอง “สภาวิเทศสัมพันธ์ยุโรป” ชี้ว่า ความท้าทายใหญ่สุดของ มาครง คือการสร้างความสามัคคีท่ามกลางความแตกแยกอย่างรุนแรงของฝรั่งเศส ขณะที่ เลอเปน จะต้องใช้ฐานเสียงผู้สนับสนุนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมาให้เป็นประโยชน์แก่พรรคของเธอมากที่สุดในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภากลางปีนี้


- ชัยชนะที่ไม่สดใส

ผู้สังเกตการณ์ชี้ว่า ช่วงห่างระหว่างคะแนนของ มาครง กับ เลอเปน นั้นแคบลงมากเมื่อเทียบกับผลเลือกตั้งรอบ 2 เมื่อ 5 ปีก่อน ซึ่งตอนนั้น มาครง กวาดคะแนนเสียงไปได้ถึง 66% ส่วน เลอแปน ได้เพียง 34%

คราวนี้แม้ว่า เลอเปน จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ตามเคย แต่การที่เธอได้คะแนนเสียงจากคนฝรั่งเศสถึง 41.5% ก็ถือว่ามากเป็นประวัติการณ์สำหรับผู้สมัครค่ายขวาจัด และบ่งบอกว่ามีคนฝรั่งเศสจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เริ่มคล้อยตามแนวคิดที่ว่า ประเทศของพวกเขาจะรุ่งเรืองมั่งคั่ง และมี “ความเป็นฝรั่งเศส” มากยิ่งขึ้น หากเปิดกว้างต่อคนต่างชาติและโลกภายนอกน้อยลง

ยัสมินา อักซาส นักศึกษาหญิงมุสลิมวัย 19 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า ความพ่ายแพ้ของ เลอเปน “ไม่ใช่เวลาที่น่าเฉลิมฉลอง” สำหรับเธอ

“ยังมีคนกว่า 40% ที่โหวตให้ เลอเปน นี่คงไม่เรียกว่าเป็นชัยชนะหรอก” เธอกล่าว

หากได้กลายเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของฝรั่งเศส เลอเปน ประกาศว่าเธอจะเดินหน้าต่อสู้กับ “ลัทธิก่อการร้าย” ด้วยการจำกัดสิทธิเสรีภาพของชาวมุสลิม เช่น ห้ามสตรีมุสลิมสวมผ้าคลุมศีรษะในที่สาธารณะ เป็นต้น และยังเสนอที่จะให้พลเมืองฝรั่งเศสได้รับสิทธิพิเศษในด้านอาชีพ สวัสดิการ และที่พักอาศัย

ด้วยการชูนโยบายแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ การเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้แรงงาน รวมถึงการเปลี่ยนชื่อพรรคเสียใหม่ มีส่วนทำให้ เลอเปน สามารถขยายฐานเสียงได้เพิ่มขึ้น และทำให้ภาพลักษณ์ของเธอดู “น่ากลัว” น้อยลงในสายตาของกลุ่มคนฝรั่งเศสที่รู้สึกว่าพวกเขากำลังถูกมองข้ามจากบรรดาผู้บริหารในปารีสและบรัสเซลส์

ในแง่การต่างประเทศ เลอเปน ประกาศจะนำฝรั่งเศสปลีกตัวออกห่างจากสหภาพยุโรป องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) รวมถึงเพื่อนบ้านอย่างเยอรมนี ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงก็จะถือเป็น “แผ่นดินไหวใหญ่” ที่สั่นคลอนความเป็นปึกแผ่นของยุโรป ท่ามกลางความตึงเครียดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

แม้การแพ้เลือกตั้งประธานาธิบดีหนที่ 3 จะเป็นเสมือนยาขมที่ เลอเปน ยากจะกล้ำกลืนลงไปได้ แต่นักการเมืองหญิงวัย 53 ปี ยังคงประกาศชัดเจนว่าเธอจะ “ไม่ทอดทิ้งคนฝรั่งเศส” และผลการเลือกตั้งล่าสุดถือเป็น “ชัยชนะที่สดใส” สำหรับเธอ

- ยุโรปหายใจทั่วท้อง

ชัยชนะของ มาครง ช่วยปลดล็อกความกังวลให้แก่บรรดาเพื่อนบ้านในยุโรป ซึ่งก่อนหน้านี้ต่างหวาดกลัวกันว่าถ้า เลอเปน ได้เป็นผู้นำฝรั่งเศสจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้แก่ยุโรป ซึ่งเผชิญความระส่ำระสายจากการที่อังกฤษถอนตัวออกจากอียู (เบร็กซิต) รวมไปถึงการอำลาแวดวงการเมืองของอดีตผู้นำหญิงแกร่ง “อังเกลา แมร์เคิล” ของเยอรมนี ซึ่งถือเป็นผู้นำอาวุโสของยุโรปที่มีบทบาทสำคัญในการคอยประคับประคองให้อียูยังสามารถจับมือเดินหน้ากันต่อไปได้

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด แห่งแคนาดา และนายกรัฐมนตรี สก็อตต์ มอร์ริสัน แห่งออสเตรเลีย ต่างส่งสาส์นแสดงความยินดีต่อชัยชนะของ มาครง ขณะที่ มาริโอ ดรากี นายกรัฐมนตรีของอิตาลี ระบุว่าการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ของ มาครง ถือเป็น “ข่าวดีสำหรับยุโรปทั้งหมด”

ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนออกมากล่าวยกย่อง มาครง ว่าเป็น “เพื่อนแท้ของยูเครน” ส่วนประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ผู้ซึ่ง มาครง เคยพยายามเกลี้ยกล่อมให้ยุติปฏิบัติการรุกรานยูเครนแต่ก็ไม่เป็นผล ได้ส่งคำอวยพรถึงผู้นำฝรั่งเศสเช่นกันว่า “ขอให้ประสบความสำเร็จในกิจการงานเมือง และขอให้มีสุขภาพที่ดี”

นักวิเคราะห์เชื่อว่าหลังจากนี้ มาครง คงจะพยายามสานต่อวิสัยทัศน์ในการปฏิรูปที่มุ่งส่งเสริมธุรกิจและการกระชับความร่วมมือใกล้ชิดยิ่งขึ้นในหมู่สมาชิกอียู หลังจากที่การบริหารประเทศสมัยแรกของเขาต้องเผชิญทั้งปัญหาการประท้วงของชนชั้นล่างชาวฝรั่งเศส วิกฤตโควิด-19 และสงครามในยูเครน


กำลังโหลดความคิดเห็น