“มาครง” ประกาศในวันจันทร์ (25 เม.ย.) มุ่งฟื้นฟูความสามัคคีปรองดองของคนฝรั่งเศสที่แตกแยกแบ่งขั้วกันหนัก ภายหลังที่เขาคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสอง ท่ามกลางความโล่งอกของผู้นำทั่วยุโรป โดยที่ “เลอเปน” แคนดิเดตปีกขวาจัดกวาดคะแนนได้มากที่สุดเท่าที่เคยทำมา
เอมมานูเอล มาครง ผู้นำแนวทางสายกลาง ได้คะแนนในการเลือกตั้งรอบสอง 58.54% ได้ครองตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสต่อเป็นสมัยสอง ขณะที่คู่แข่งขันของเขา มารีน เลอเปน ได้ 41.46% ทั้งนี้ จากผลการนับคะแนนขั้นสุดท้ายของกระทรวงมหาดไทย ทั้งคู่ต้องมาตัดสินชิงดำกันอีกครั้ง ภายหลัง มาครง แม้ชนะอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งรอบแรกเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน แต่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ที่จะทำให้มีชัยอย่างเด็ดขาด
แม้ผลการเลือกตั้งซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (25) ทำให้ มาครง กลายเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนแรกในรอบ 2 ทศวรรษที่ได้ครองตำแหน่งสมัยที่สอง แต่คะแนนที่เขาได้รับก็ลดลงอย่างมากจากการแข่งขันกับ เลอเปน ครั้งก่อนในการเลือกตั้งประมุขแดนน้ำหอมรอบสองเมื่อปี 2017 ที่มาครงกวาดเสียงไปได้กว่า 66%
คะแนนนิยมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่พรรคฝ่ายขวาจัดของฝรั่งเศสทำได้ในคราวนี้ ทำให้บรรยากาศการฉลองชัยชนะของมาครงเมื่อคืนวันอาทิตย์กร่อยลงถนัด ขณะที่เขาประกาศต่อผู้สนับสนุนที่ไปรวมตัวกันบริเวณหอไอเฟลในกรุงปารีสว่า ต่อจากนี้ไปเขาไม่ใช่ผู้สมัครของกลุ่มใด แต่เป็นประธานาธิบดีของทุกคนและจะเยียวยาฝรั่งเศสที่มีความแตกแยกร้าวลึก
เวลาเดียวกัน จำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิคราวนี้ยังมีเพียง 72% ต่ำที่สุดสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสองนับจากปี 1969 ข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยระบุ ไม่เพียงเท่านั้น มีผู้มีสิทธิออกเสียง 8.6% ทีเดียวไม่กาบัตรหรือตั้งใจทำบัตรเสีย อันสะท้อนถึงความท้อแท้ผิดหวังกับการเมืองของคนฝรั่งเศสจำนวนไม่ใช่น้อยๆ
สำหรับความท้าทายสำคัญเฉพาะหน้าที่ประธานาธิบดีวัย 44 ปีผู้นี้ต้องเผชิญ ก็คือ การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในเดือนมิถุนายน ซึ่งมาครงจำเป็นต้องหาทางทำให้พรรคที่สนับสนุนเขารักษาเสียงข้างมากไว้ให้ได้เพื่อให้สามารถผลักดันแผนการนโยบายต่างๆ
อย่างไรก็ดี ผลสำรวจความคิดเห็น 2 สำนัก ที่เผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ พบว่าผู้มีสิทธิออกเสียงส่วนใหญ่ไม่ปรารถนาให้มาครงมีอำนาจควบคุมสภาด้วย
ทารา วาร์มา นักวิชาการอาวุโสด้านนโยบายและหัวหน้าสำนักงานในปารีสของกลุ่มคลังสมอง “สภาวิเทศสัมพันธ์ยุโรป” ชี้ว่า ความท้าทายใหญ่สุดของมาครงคือการสร้างความสามัคคีท่ามกลางความแตกแยกอย่างรุนแรงของฝรั่งเศส ขณะที่เลอเปนจะต้องใช้ฐานเสียงผู้สนับสนุนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมา ให้เป็นประโยชน์แก่พรรคของเธอมากที่สุดในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภากลางปีนี้
ในการปราศรัยหลังได้รับชัยชนะ มาครงให้สัญญาว่า จะใช้เวลา 5 ปีของการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 แก้ไขความไม่พอใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ให้การสนับสนุนเลอเปน รวมถึงเริ่มต้นยุคใหม่
ทางด้านเลอเปน วัย 53 ปี ประกาศว่า จะไม่ทอดทิ้งประเทศ และเตรียมพร้อมแล้วสำหรับการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน และสำทับว่า ผลการเลือกตั้งล่าสุดคือชัยชนะที่สดใสของตน
สำหรับเลอเปนนั้น นี่คือการพ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 3 หลังจากทุ่มความพยายามนานปีเพื่อให้ตนเองได้เป็นผู้สมัครลงเลือกตั้ง และฉีกตัวจากภาพลักษณ์ของพรรคขวาจัดแข็งกร้าวที่ตกทอดมาจาก ฌอง-มารี เลอเปน ผู้ก่อตั้งพรรคที่เป็นพ่อของเธอเอง ทว่าในเวลาต่อมามีความคิดเห็นแตกแยกกับเธออย่างแรง
ในคืนวันอาทิตย์ ยังมีผู้ประท้วงหลายร้อยคนจากกลุ่มซ้ายจัดของฝรั่งเศส ชุมนุมกันตามถนนในหลายเมืองเพื่อคัดค้านผลการเลือกตั้ง และตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมทั้งในกรุงปารีส และที่เมืองแรนส์
ขณะเดียวกัน ชัยชนะของมาครงทำให้ยุโรปหายใจทั่วท้อง เนื่องจากก่อนหน้านี้มีคนจำนวนมากกังวลว่า ถ้าเลอเปนได้เป็นผู้นำฝรั่งเศส ภูมิภาคนี้อาจระส่ำระสายหลังจากการถอนตัวออกจากอียูของสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) และการอำลาการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ซึ่งถือเป็นผู้นำอาวุโสของยุโรปที่มีบทบาทสำคัญในการคอยประคับประคองให้อียูยังสามารถจับมือเดินหน้ากันต่อไปได้
มาริโอ ดรากี นายกรัฐมนตรีของอิตาลี กล่าวว่า ชัยชนะครั้งนี้ของมาครงเป็น “ข่าวดีสำหรับยุโรปทั้งหมด” ขณะที่นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี ระบุว่า คนฝรั่งเศส “ส่งสัญญาณความเชื่อมั่นแรงกล้าในยุโรป”
เห็นกันว่านับจากนี้ไป มาครงจะพยายามสานต่อวิสัยทัศน์ในการปฏิรูปที่มุ่งส่งเสริมธุรกิจ และการกระชับความร่วมมือใกล้ชิดยิ่งขึ้นในหมู่สมาชิกสหภาพยุโรป หลังจากการบริหารประเทศสมัยแรกของเขา เผชิญทั้งปัญหาการประท้วงของชนชั้นล่างชาวฝรั่งเศส วิกฤตโควิด และสงครามยูเครน
(ที่มา : เอเอฟพี, เอพี, เอเจนซีส์)