ทางการเยอรมนี เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (26 เม.ย.)ว่าจะส่งรถถังต่อต้านอากาศยานให้ยูเครน ซึ่งถือเป็นการปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างระมัดระวังของเบอร์ลินเพื่อให้การสนับสนุนทางทหารแก่เคียฟ ทำให้สหรัฐฯ ส่งเสียงขานรับด้วยความยินดี
รัฐบาลเยอรมนีเห็นพ้องอนุมัติส่งมอบรถถังต่อต้านอากาศยาน "เกพาร์ด" มือสอง ให้แก่ยูเครน จากการเปิดเผยของ คริสติน แลมเบรชท์ รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนีที่บอกกับที่ประชุมบรรดารัฐมนตรีกลาโหมนานาชาติ ณ ฐานทัพอากาศแรมสไตน์ของกองทัพสหรัฐฯ ในเมืองแฟรงก์เฟิร์ต
ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ต่อกรณีปฏิเสธส่งอาวุธหนักให้ยูเครนโดยตรง แม้ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายกลาโหม ตอบสนองต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซีย
ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ บอกว่าคำสัญญาจัดส่งระบบต่อต้านอากาศยาน ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า ชีตาห์ จำนวน 50 คัน ของเยอรมนี "เป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่ง"
ออสติน กล่าวยินดีในช่วงท้ายของการประชุมร่วม 40 ชาติ ณ ฐานทัพอากาศแรมสไตน์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมนี ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มศักยภาพการป้องกันตนเองแก่ยูเครน
ก่อนหน้านี้ประเทศอื่นๆ ในยุโรปได้มอบอาวุธหนักแก่ยูเครน ในนั้นรวมถึงฝรั่งเศส ซึ่งจัดส่งปืนใหญ่อัตตาจรซีซาร์ พิสัยทำการ 40 กิโลเมตรไปให้ และสหราชอาณาจักรที่ส่งมอบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานสตาร์สตรีคและรถถังให้แก่ยูเครน
แหล่งข่าวรัฐบาลเปิดเผยกับเอเอฟพีว่า รถถังเกพาร์ดที่ส่งมอบให้ยูเครน จะไม่ได้มาจากกองทัพเยอรมนี แต่มาจากสต๊อกของบริษัทผู้ผลิตยุทโธปกรณ์ Krauss-Maffei Wegmann (KMW)
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวเปิดเผยว่ารถถังเหล่านี้ถูกปลดประจำการมาตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน และจำเป็นต้องอัปเกรดทางเทคนิคก่อนใช้งาน
แลมเบรชท์ ยอมรับสต๊อกอาวุธของกองทัพเยอรมนีมีจำกัด แต่บอกว่าจะหันไปหาคลังสำรองของบรรดาผูุ้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์สัญชาติเยอรมนี เพื่อช่วยเหลือยูเครน "ยูเครนสั่งและเยอรมนีเป็นคนจ่าย" เธอกล่าว
นายกรัฐมนตรีโชลซ์ แถลงในเดือนกุมภาพันธ์ ยกเครื่องนโยบายกลาโหมของเยอรมนี ตอบสนองต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซีย แต่พวกนักวิจารณ์มองว่านับตั้งแต่นั้น ผู้นำรายนี้ไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปเป็นร่างมากพอ
พวกเขากล่าวหา โชลซ์ เป็นผู้นำที่อ่อนแอและบอกว่าพรรคโซเชียล เดโมแครตส์ (เอสดีพี) ของเขาลังเลมากเกินไปในการละทิ้งนโยบายผ่อนคลายความตึงเครียดกับรัสเซียที่ยึดถือมาช้านาน
ท่าทีของ โชลซ์ ถึงขั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์จากบุคคลภายในรัฐบาลผสมของเขาเอง ซึ่งประกอบด้วยพรรคเอสดีพี พรรคกรีนส์ และพรรคเอฟดีพี
โชลซ์ อ้างความชอบธรรมต่อท่าทีระมัดระวังของเขา ด้วยบอกว่าเขาปรารถนาหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างนาโต้กับรัสเซีย อย่างไรก็ตาม จากร่างเอกสารที่พบเห็นโดยเอเอฟพีในวันอังคาร (26 เม.ย.) พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 3 พรรค เวลานี้มีแผนนำเสนอข้อเสนอร่วมต่อรัฐสภา เรียกร้องให้ส่งอาวุธหนักแก่ยูเครน
ในเอกสารเรียกร้องให้รัฐบาล "เดินหน้าทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ในการเร่งส่งมอบเครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็นแก่ยูเครน ในนั้นรวมถึงขยายสู่การส่งมอบอาวุธหนักและระบบที่ซับซ้อนมากขึ้น" นอกจากนี้ ยังบ่งชี้ว่าอาจช่วยฝึกทหารยูเครนใช้อาวุธที่จัดหาให้ ทั้งในเยอรมนี และประเทศสมาชิกนาโต้อื่นๆ
(ที่มา : เอเอฟพี)