xs
xsm
sm
md
lg

WHO รับรองยาเม็ดโควิดไฟเซอร์รักษาคนไข้เสี่ยงสูง บริษัทหวังฟันเงิน $22,000 ล้านในปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์การอนามัยโลก (WHO) ในวันพฤหัสบดี (21 เม.ย.) รับรองให้ใช้ยาเม็ดต้านโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ กับกลุ่มคนไข้เสี่ยงสูง หลังผลวิเคราะห์ข้อมูลการทดลองโดยหน่วยงานของสหประชาชาติแห่งนี้ พบว่ายาเม็ดดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้อย่างมาก

คำแนะนำนี้มีขึ้นท่ามกลางจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 หลายพันคนในทุกสัปดาห์ แม้อัตราการติดเชื้อทั่วโลกค่อยๆ ลดลง และองค์การอนามัยโลกระบุว่า ในบรรดายารักษาโควิด-19 ในปัจจุบัน จนถึงตอนนี้แพ็กซ์โลวิดมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ผลการวิเคราะห์ขององค์การอนามัยโลกต่อการทดลองทางคลินิกยาเม็ดแพ็กซ์โลวิด 2 การทดลอง เกี่ยวข้องกับคนไข้อาสาสมัครเกือบ 3,100 คน บ่งชี้ว่ามันลดความเสี่ยงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในคนไข้กลุ่มเสี่ยงสูงถึง 85% และด้วยอัตราความเสี่ยงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลราว 10 กว่า% นั่นหมายความว่า การใช้ยาแพ็กซ์โลวิดอาจช่วยให้ลดจำนวนคนไข้โควิด-19 ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเหลือแค่ราวๆ 84 ต่อคนไข้ 1,000 คน

"วิธีการรักษานี้ไม่ได้มาแทนที่วัคซีน แต่แค่มอบอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนไข้ผู้ติดเชื้อที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง" เจเน็ต ดิอาซ หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการทางคลินิกขององค์การอนามัยโลกกล่าว อ้างถึงบรรดาคนไข้ที่มีโรคประจำตัว มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือยังไม่ฉีดวัคซีน

อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายต่างๆ ที่อาจนำมาซึ่งข้อจำกัดในการใช้ยาเม็ดแพ็กซ์โลวิด เนื่องจากยาตัวนี้จำเป็นต้องให้ตั้งแต่ระยะแรกๆ ของการติดเชื้อถึงจะมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การเข้าถึงการตรวจเชื้อที่รวดเร็วและถูกต้องเพื่อระบุตัวคนไข้ จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ มันยังมีปฏิกิริยากับยาสามัญหลายตัว ก่อความยุ่งยากซับซ้อนในการใช้ และแพ็กซ์โลวิดยังไม่ผ่านการตรวจสอบสำหรับใช้กับผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างให้นมลูก และเด็ก

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้อุปทานแพ็กซ์โลวิดมีมากกว่าความต้องการในหลายประเทศ หลังจากสามารถเข้าถึงยาเม็ดแพ็กซ์โลวิดมาได้ระยะหนึ่งแล้ว

ไฟเซอร์บรรลุข้อตกลงในการขายยาเม็ดตัวนี้แก่หลายชาติเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการเจรจากับอีกหลายประเทศ อย่างไรก็ตามรายละเอียดเกี่ยวกับราคายังคงเป็นความลับเป็นส่วนใหญ่

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นปี ไฟเซอร์คาดหมายว่าแพ็กซ์โลวิดจะนำมาซึ่งยอดขาย 22,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 ในขณะที่ผู้ผลิตยาสัญชาติสหรัฐฯ แห่งนี้ตกลงขายยาเม็ดแพ็กซ์โลวิดแก่ยูนิเซฟ สูงสุด 4 ล้านคอร์ส สำหรับใช้ในบรรดาประเทศที่มีรายได้ต่ำ 95 แห่ง ซึ่งคิดเป็นราวๆ ครึ่งหนึ่งของประชากรโลก

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวคิดเป็นแค่ราวๆ 3% ของตัวเลขประมาณการกำลังผลิตของไฟเซอร์ในปีนี้ ซึ่งคาดหมายว่าในปี 2022 จะสามารถผลิตแพ็กซ์โลวิดได้ราวๆ 120 ล้านคอร์ส

องค์การอนามัยโลกระบุว่า บรรดาผู้ผลิตยาทั่วไปมากกว่า 30 แห่ง ได้รับอนุญาตให้ผลิตยาเม็ดตัวนี้ในเวอร์ชันราคาถูกกว่า สำหรับจำหน่ายใน 95 ประเทศ แต่ทรัพยกรด้านรับประกันคุณภาพของเวอร์ชันลอกเลียนแบบไม่น่าจะพร้อมในระยะเวลาอันใกล้นี้ พร้อมเน้นย้ำว่าการขาดความโปร่งใสทางราคา อาจหมายความว่าบรรดาชาติที่มีรายได้ต่ำหรือปานกลาง อาจถูกผลักให้ไปอยู่ในท้ายแถว แบบเดียวกับวัคซีนโควิด-19 ก่อนหน้านี้

ในรายงานแยกกัน องค์การอนามัยโลกได้อัปเดตคำแนะนำการใช้เรมดิซิเวียร์ ของกิลเลียด โดยบอกมันควรใช้กับคนไข้โควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยหรือปานกลาง ในกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หลังจากก่อนหน้านี้ ทางองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้กับคนไข้โควิด-19 ทุกราย โดยไม่พิจารณาถึงความรุนแรงของโรค

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น