xs
xsm
sm
md
lg

‘สหรัฐฯ’ ยังคงนำเข้า ‘สินค้าจีน’ เพิ่มขึ้นอีก 60% หลังเปิด ‘สงครามการค้า’ เก็บภาษีมหาโหดยุคโดนัลด์ ทรัมป์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน ***


การค้าของจีนกับสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวในระดับสูง ในระหว่างเกิดวิกฤตโรคระบาดใหญ่โควิด-19
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China’s trade boom defies new Cold War
By DAVID P. GOLDMAN
14/04/2022

ห่วงโซ่อุปทานของจีนคือแหล่งที่มาเพียงแหล่งเดียวของผลิตภัณฑ์จำนวนมาก และการตัดสินค้าออกของจีนที่ส่งไปยังสหรัฐฯ จะส่งผลทำให้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าสำคัญจำเป็นต่างๆ จนถึงขั้นวิกฤต

นิวยอร์ก - ยอดส่งออกของจีนไปยังสหรัฐอเมริกาพุ่งลิ่วแตะขีดสูงสุดใหม่ที่เกือบๆ 700,000 ล้านดอลลาร์ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นข้อมูลตัวเลขซึ่งเผยแพร่โดยสำนักงานสถิติของแดนมังกร

ลองเอาตัวเลขนี้มาเปรียบเทียบกับยอดส่งออกสู่สหรัฐฯ ของจีนในเดือนสิงหาคม 2019 ซึ่งเป็นเวลาที่คณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นอัตราภาษีศุลกากรเอากับสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนอย่างกว้างขวางหลายหลากประเภท ทั้งนี้ตามตัวเลขที่ผ่านการปรับปัจจัยฤดูกาลและคิดเป็นอัตราการเติบโตรายปี (seasonally adjusted annual rate) แล้ว ยอดส่งออกสู่สหรัฐฯ ของจีนในเดือนดังกล่าว จะอยู่ที่ระดับ 410,000 ล้านดอลลาร์





เท่ากับว่ายอดมูลค่ารวมของสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน ทะยานขึ้นไปถึงราวๆ 60% ทีเดียวตั้งแต่ที่อัตราภาษีศุลกากรดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ด้านหนึ่งนี่เป็นการสะท้อนการใช้จ่ายของผู้บริโภคในอเมริกาซึ่งพุ่งพรวดพราดด้วยแรงขับดันจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลในระหว่างโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ซึ่งมีมูลค่ารวมสูงถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นการสะท้อนการลงทุนด้านเงินทุนในอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในสภาพอ่อนปวกเปียกเต็มที รวมทั้งภาวะที่โรงงานอุตสาหกรรมขาดแคลนคนงานที่มีคุณภาพ

จีนในเวลานี้มีส่วนอยู่ถึงราว 28% ของสินค้าอุตสาหกรรมนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ ทีเดียว

ระหว่างช่วงสงครามเย็น ยอดการนำเข้าสินค้าจากรัสเซียของสหรัฐฯ อยู่ในระดับที่เล็กน้อยจนไม่มีความสำคัญอะไร ขณะที่สินค้าจากอเมริกาที่รัสเซียนำเข้านั้นที่หลักๆ เลยก็คือข้าวสาลี การเข้าเผชิญหน้าทางยุทธศาสตร์กับประเทศๆ หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้จัดส่งสินค้าสำคัญจำเป็นต่างๆ - ตั้งแต่พวกอิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงยาเวชภัณฑ์และส่วนประกอบทางเคมี - ในสัดส่วนที่สูงมาก จึงต้องถือว่าเป็นแนวคิดใหม่อย่างสิ้นเชิงในประวัติศาสตร์แห่งยุทธศาสตร์

ทีนี้ถ้าหากพิจารณาจากบัญชีสินค้าขาเข้า-ขาออกของจีนบ้าง ทางฟากการนำเข้านั้นปรากฏว่า ไต้หวัน คือผู้นำหน้าใครเพื่อนในการส่งสินค้าเข้าสู่แผ่นดินใหญ่แดนมังกร - ถึงแม้ปักกิ่งกับไทเปเวลานี้อยู่ในภาวะตึงเครียดทั้งจากการที่ไต้หวันซื้อหาอาวุธประณีตซับซ้อนจากสหรัฐฯ และจากการที่ไทเปแสดงทีท่าทางการเมืองซึ่งสามารถตีความได้ว่าเป็นก้าวเดินที่โน้มเอียงไปสู่การประกาศตัวเป็นเอกราช

เกาะที่มีประชากร 24 ล้านคน ซึ่งจีนถือว่าเป็นมณฑลกบฏของตนแห่งนี้ เวลานี้กลายเป็นแหล่งที่มาของสินค้านำเข้าของจีนแห่งสำคัญที่สุดในเอเชียไปแล้ว รวมทั้งยังเป็นส่วนประกอบที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดของการนำเข้าของจีนอีกด้วย การส่งออกของไต้หวันสู่แผ่นดินใหญ่นั้นเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวทีเดียวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และแซงหน้ายอดนำเข้าทั้งจากญี่ปุ่นและจากเกาหลีใต้ไปแล้วตั้งแต่เมื่อปี 2020



ไต้หวันกำลังส่งออกไปยังจีนด้วยอัตราปีละประมาณ 270,000 ล้านดอลลาร์ เท่ากับ 40% ของผลิตภัณฑ์ภายใน (จีดีพี) ของเกาะแห่งนี้ที่ทำได้ราว 668,000 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน การลงทุนของไต้หวันในแผ่นดินใหญ่ อาจจะเกินกว่าหลัก 200,000 ล้านดอลลาร์ไปแล้ว

ตามข้อมูลในเว็บไซต์ของรัฐบาลไต้หวันระบุว่า “ทุกวันนี้ ไต้หวันเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในจีน ระหว่างปี 1991 จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2021 ยอดการลงทุนของไต้หวันในจีนที่ได้รับอนุมัติแล้วมีจำนวน 44,577 ราย คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 193,510 ล้านดอลลาร์สหรัฐ”

พวกบริษัทผู้ผลิตชิปของไต้หวัน กำลังช่วยจีนสร้างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ขึ้นมา โดยที่อุตสาหกรรมนี้ จีนกำลังให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ หลังจากคณะบริหารทรัมป์ออกมาตรการจำกัดการส่งออกไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งชิปที่มีความละเอียดอ่อนซับซ้อนของสหรัฐฯ และทั้งอุปกรณ์ทำชิปและซอฟต์แวร์สำหรับดีไซน์ชิปของสหรัฐฯ ด้วย

วิศวกรรมผู้ผลิตชิปของไต้หวันจำนวนมากมายทีเดียว - สื่อมวลชนสำนักต่างๆ ประมาณการเอาไว้ต่างๆ กัน ตั้งแต่ระดับ 10% จนถึง 20% ของวิศวกรทางด้านนี้ทั้งหมดของไต้หวัน - เวลานี้ทำงานอยู่ในแผ่นดินใหญ่โดยได้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้นมาก เพื่อช่วยสร้างโรงงานตลอดจนสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในการผลิตชิปของจีน

การพึ่งพาอาศัยกันและการขึ้นต่อกันและกันในระหว่างจีน สหรัฐฯ และไต้หวัน เพิ่มพูนขึ้นมากอย่างน่าสังเกตในระยะเวลา 2 ปีหลังมานี้ ถ้าหากเกิดการสะดุดติดขัดในความสัมพันธ์ทางการค้าใดๆ ขึ้นมา สืบเนื่องจากความตึงเครียดทางยุทธศาสตร์ในระหว่าง 3 รายนี้ ก็จะส่งผลกลายเป็นการลดฮวบลงอย่างสำคัญในผลผลิตและในการบริโภค

ห่วงโซ่อุปทานของจีนคือแหล่งที่มาเพียงแหล่งเดียวของผลิตภัณฑ์จำนวนมากในปริมาณขนาดใหญ่โต และการตัดสินค้าออกของจีนที่ส่งไปยังสหรัฐฯ จะส่งผลทำให้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าสำคัญจำเป็นต่างๆ จนถึงขั้นวิกฤตขึ้นมา

การที่ไต้หวันยังคงดำเนินการลงทุนอย่างลุยแหลกในศักยภาพด้านการผลิตชิปนั้น เป็นสิ่งที่ต้องพึ่งพาอาศัยความหิวกระหายอย่างมโหฬารในสินค้าพวกแผงวงจรรวมของจีน ในปี 2020 จีนนำเข้าชิปคิดเป็นมูลค่าถึง 350,000 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุดของตลาดโลก และถ้าการส่งออกชิปไปยังจีนเกิดการสะดุดติดขัดจะทำให้อุตสาหกรรมสำคัญที่สุดของไต้หวันนี้ตกลงสู่ภาวะวิกฤต

พิจารณาจากจุดยืนทางยุทธศาสตร์ ไต้หวันเปรียบเสมือนห่านที่คอยออกไข่ทองคำให้แก่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของจีน ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จีนเป็นผู้ประกอบเครื่องมืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 35% ของทั่วโลก ณ ปี 2020 มองกันทั้งในด้านเซมิคอนดักเตอร์และด้านความเชี่ยวชาญแล้ว ไต้หวันคือผู้ที่ให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่จีนต้องการแก่จีน

สภาพเช่นนี้ทำให้ไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จีนจะทำให้สถานะเดิมเกิดการสะดุดติดขัด ด้วยการใช้กำลังเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายในการนำเอาเกาะไต้หวันกลับเข้ามารวมตัวเป็นอันหนึ่งเดียวกันกับแผ่นดินใหญ่ - เว้นเสียแต่ว่าสหรัฐฯ จะดำเนินก้าวเดินต่างๆ ไปในทิศทางของการไปสู่เอกราชของไต้หวัน

ผลพวงต่อเนื่องในทางเศรษฐกิจของการเผชิญหน้าเช่นนี้ จะกลายเป็นความเสียหายอย่างมหาศาลชนิดเกินกว่าจะคาดคำนวณกันได้ โดยที่มันจะส่งผลกระทบกระเทือนไปถึงอุตสาหกรรมแทบทุกอุตสาหกรรมและตลาดแทบทุกตลาดที่มีอยู่ในโลกใบนี้ทีเดียว

หมายเหตุ : การปรับปัจจัยทางฤดูกาลของตัวเลขการค้าของจีน ใช้วิธีคำนวณด้วย TRAMO algorithm โดยใช้แพลตฟอร์ม Eviews econometrics platform


กำลังโหลดความคิดเห็น