xs
xsm
sm
md
lg

ภูมิสถาปนิกไทยสุดยอด! “โครงการอุทยานจุฬา 100 ปี” คว้ารางวัลชนะเลิศงานออกแบบที่ดูไบ Dubai International Award for Best Practices

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภูมิสถาปนิกไทย “กชกร วรอาคม” และทีมผู้ออกแบบโครงการอุทยานจุฬา 100 ปี ผลงานของบริษัท LANDPROCESS สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยในงาน World Government Summit และ Expo 2020 Dubai ด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศ จากรางวัล 12th Dubai International Award for Best Practices

รางวัลดังกล่าวรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จัดขึ้นร่วมกับ UN Habitat เพื่อเฟ้นหานวัตกรรมโครงการ (Innovation) จากทั่วโลก ในการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อโลก ภายใต้หัวข้อ Urban Regeneration and Public Spaces หรือการพัฒนาและฟื้นฟูเมืองด้วยพื้นที่สาธารณะที่ยั่งยืนต่อโลก

มีโครงการเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ทั้งหมด 2,950 โครงการ จาก 150 ประเทศ โดยประเทศไทยได้รับการประกาศชื่อเป็นผู้ชนะคนแรกบนเวทีเพื่อรับรางวัลจาก Sheikh Maktoum bin Mohammed bin Rashid Al Maktoum รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผู้ครองนครเมืองดูไบ ต่อหน้าผู้นำและแขกผู้มีเกียรติจากทั่วโลก ในงาน Expo 2020 Dubai


ก่อนจะปิดตัวลงอย่างสมเกียรติและเป็นทางการกับงาน World Expo 2020 ในวันนี้ ( 31 มีนาคม 2565) ซึ่งจัดงานที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ โดยงาน World Expo ครั้งนี้ ถูกเรียกว่าเป็น Expo 2020 เนื่องจากเลื่อนระยะเวลาจัดงานมาเกือบสองปี ด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

ทางรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์จึงถือโอกาสจัดงาน World Government Summit ในวันที่ 29-30 มีนาคม 2565 ร่วมด้วย ซึ่งเป็นการประชุมที่รวมผู้นำประเทศต่างๆ มาร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์โลก และร่วมงานปิด Expo ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ ภายในงานมีการประกาศผลรางวัล Dubai International Award for Best Practice ครั้งที่ 12 ที่จัดขึ้นทุก 2 ปีในการแข่งขันโครงการจากทั่วโลก ในทุกแขนงวิชาชีพ


กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกไทย กล่าวว่าถือเป็นอีกครั้งที่โครงการอุทยานจุฬา 100 ปี แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ฉายภาพสู่สายตานานาชาติ และการออกแบบด้านภูมิสถาปัตยกรรมก็ได้สร้างชื่อให้กับวงการออกแบบของไทยและวงการออกแบบส่วนของเมืองในระดับโลกอีกด้วย

โครงการอุทยานจุฬา 100 ปี เป็นจุดเริ่มต้นของแนวความคิดการพัฒนาเมืองด้วยพื้นที่สาธารณะสีเขียว แนวคิดการออกแบบและวิสัยทัศน์ของโครงการได้ถูกนำเสนอสู่สายตาชาวโลก ทั้งภายในงานที่ดูไบและผ่านการถ่ายทอดสดไปยังประเทศต่างๆ

"พูดได้ว่า พื้นที่เล็กๆ ในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ กลายเป็นแรงบันดาลใจที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่พื้นที่สาธารณะในเมืองต่างๆ ด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนข้อจำกัดที่ท้าทายของสภาวะโลกรวน ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกอย่างน่าภาคภูมิใจต่อไป"
กำลังโหลดความคิดเห็น