xs
xsm
sm
md
lg

มาตรการแซงก์ชั่นรัสเซียแบบ‘สุดโหด’เริ่มส่งผลสะท้อนกลับมาสร้างความเสียหายแก่ฐานะของเงินดอลลาร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน


ธนบัตรฉบับละ 10 รูปี ของอินเดีย กับ ธนบัตรฉบับละ 5,000 รูเบิล ของรัสเซีย  ทั้งนี้อินเดียกำลังช่วยเหลือรัสเซียในทางพฤตินัย ให้หลบหลีกมาตรการแซงก์ชั่นของฝ่ายตะวันตก
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Dollar reserve system frays with India-Russia currency deals
By DAVID P. GOLDMAN
26/03/2022

การแซงก์ชั่นเล่นงานรัสเซีย กลายเป็นบูเมอแรงวนกลับมาสร้างความเสียหายให้แก่ฐานะของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากการยึดทุนสำรองหลายแสนล้านดอลลาร์ของแบงก์ชาติแดนหมีขาว ก่อให้เกิดคำถามถึงหลักเหตุผลแห่งการดำรงคงอยู่ของระบบการเงินในปัจจุบัน

นิวยอร์ก - ด้วยการยึดทุนสำรองมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ของแบงก์ชาติรัสเซีย จึงเท่ากับว่าวอชิงตันเขียนเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ ให้แก่หลักเหตุผลแห่งการดำรงคงอยู่ของระบบการเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน และกระตุ้นส่งเสริมให้ประเทศอื่นๆ ในโลก “หันมาขบคิดทบทวนกันใหม่ในเรื่องสกุลเงินตราสำรองที่จะใช้ถือครอง” อย่างที่ไอเอ็มเอฟเขียนเอาไว้

รัสเซีย กับ อินเดีย ร่วมกันเดินก้าวเล็กๆ แต่ทรงความสำคัญในการมุ่งหน้าสู่การชำระหนี้เคลียร์บัญชีทางการค้าและการลงทุนโดยไม่ใช้สกุลเงินเดอลลาร์ ในวันศุกร์ (25 มี.ค.) ที่ผ่านมา เมื่อธนาคารกลางของอินเดีย (Reserve Bank of India) อนุญาตให้รัสเซียสามารถนำเอารายรับจากการขายอาวุธของตนให้แก่อินเดีย มาลงทุนในตราสารหุ้นกู้ภาคเอกชนสกุลเงินท้องถิ่นได้

บัญชีเงินฝากของรัสเซียที่มีอยู่กับธนาคารกลางอินเดียเวลานี้มีขนาดเล็กๆ โดยรายงานข่าวระบุว่าอยู่ในระดับ 262 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทว่าลู่ทางโอกาสที่จะเอื้อประโยชน์ต่างๆ ให้แก่ทั้งสองประเทศจากการอนุมัติครั้งนี้นั้นมีอยู่อย่างมโหฬาร กล่าวคือ อินเดียจะสามารถจ่ายเงินสำหรับสินค้านำเข้าที่สำคัญที่สุดรายการหนึ่งของตน อันได้แก่อาวุธของรัสเซีย ด้วยเงินรูปีท้องถิ่น และรัสเซียจะนำเอารายรับเหล่านี้ไปลงทุนในตลาดการเงินซึ่งปลอดภัยจากการถูกแซงก์ชั่นจากฝ่ายตะวันตก

สื่อบลูมเบิร์กนิวส์ (Bloomberg News) รายงานว่า การดำเนินการเช่นนี้เป็นไปได้ ภายหลังแบงก์ชาติอินเดียได้เปลี่ยนแปลงระเบียบกฎเกณฑ์ของตนในเรื่องการกู้ยืมเพื่อการพาณิชย์จากภายนอกประเทศ เพื่อให้สามารถรองรองรับข้อเสนอนี้ของฝ่ายรัสเซีย ในเวลาที่ทั้งสหรัฐฯ, สหภาพยุโรป (อียู), และญี่ปุ่น ได้ยึดทุนสำรองของธนาคารกลางรัสเซีย ตลอดจนสินทรัพย์ของชาวรัสเซียผู้มั่งคั่งเอาไว้ ภายหลังกองทหารของมอสโกบุกรุกรานยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

อันที่จริงแล้ว ยังมีรอยแตกร้าวเล็กๆ แต่มีความหมายนัยระยะยาวอีกรอยหนึ่งของระบบทุนสำรองสกุลเงินดอลลาร์ ได้แก่ รายงานข่าวที่ว่าซาอุดีอาระเบียจะยอมรับสกุลเงินเหรินหมินปี้ (หยวน) ของจีน ในการชำระหนี้เคลียร์บัญชีค่าน้ำมันที่บรรทุกส่งไปให้จีน ซึ่งเวลานี้เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของซาอุดีอาระเบีย

เรื่องนี้มีความหมายโดยนัยต่อไปด้วยว่า ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียจะธำรงทุนสำรองของตนในสัดส่วนที่สำคัญทีเดียวเอาไว้เป็นสกุลเงินตราของจีน รวมทั้งเป็นไปได้ว่าจะมีการดำเนินการคล้ายๆ กับข้อตกลงระหว่างอินเดีย-รัสเซียในการนำเอารายรับจากการขายอาวุธไปลงทุนต่อ

พวกองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเวลานี้ติดตามประณามซาอุดีอาระเบียว่า “มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่อยมาอย่างยาวนาน” ดังที่องค์การ ฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ (Human Rights Watch)โพสต์เอาไว้เช่นนี้บนเว็บไซต์ของตน ภายหลังที่ได้เห็นตัวอย่างทุนสำรองของรัสเซียที่อยู่ในโลกตะวันตกถูกยึดเช่นนี้แล้ว ชาวซาอุดีก็มีความลังเลที่จะเก็บรักษาทรัพย์สินความมั่งคั่งของตนเอาไว้ในสถานที่ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯและชาติตะวันตกอื่นๆ สามารถเข้าไปอายัดได้ การกระจายความเสี่ยงมาสู่สกุลเงินเหรินหมินปี้ย่อมเป็นหนทางเลือกหนึ่งที่สมเหตุสมผล
(ดูเพิ่มเติม ฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ ประณามซาอุดีอาระเบียเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้ที่ https://www.hrw.org/world-report/2021/country-chapters/saudi-arabia)

เวลาเดียวกัน รัสเซียเพิ่งประกาศเรียกร้องให้พวกประเทศ “ไม่เป็นมิตร” ทั้งหลายต้องจ่ายค่าแก๊สธรรมชาติรัสเซียที่ส่งไปให้เป็นสกุลเงินรูเบิลของแดนหมีขาว เป็นการบังคับให้พวกลูกค้าแก๊สชาวยุโรปต้องวิ่งวุ่นซื้อเงินรูเบิลในตลาดเปิด ทำให้รูเบิลพุ่งแรงแข็งขึ้นทันตา จากที่เคยอยู่จุดต่ำสุด 140 รูเบิลแลกได้ 1 ดอลลาร์เมื่อวันที่ 8 มีนาคม มาอยู่ที่แค่ 100 รูเบิลก็แลกได้ 1 ดอลลาร์ในวันที่ 25 มีนาคม

หลังจากสหรัฐฯ, ยุโรป, และญี่ปุ่น ยึดเอาทุนสำรองของรัสเซียที่มีราว 630,000 ล้านดอลลาร์ไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง สืบเนื่องจากสงครามยูเครน เวลานี้รัสเซียก็แทบไม่เหลือสถานที่ปลอดภัยใดๆ สำหรับเก็บรักษาเงินรายได้ค่าน้ำมันและแก๊สในรูปสกุลเงินดอลลาร์และยูโร

ด้วยการยอมรับให้ชำระเงินในสกุลรูเบิล มันก็เท่ากับรัสเซียได้โยกย้ายสกุลเงินตราของตนเองบางส่วนออกมาจากระบบการหมุนเวียน จึงเป็นการรักษาให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินรูเบิลอยู่ในระดับที่มั่นคงขึ้น และสยบแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากการที่เงินตรารัสเซียลดค่าลง


มาตรการแซงก์ชั่นที่มุ่งส่งผลสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจของรัสเซียอย่างแรง จนมีการขนานนามว่าเป็น มาตรการ “ระเบิดนิวเคลียร์” นี้ จะทำให้รัสเซียเกิดการหดตัว 10% ในปีนี้ ติดตามด้วยการลบลงไปอีก 3-4% ในปี 2023 และ 2024 ทั้งนี้ตามการคำนวณของ คลีเมนส์ แกรฟ (Clemens Grafe) นักเศรษฐศาสตร์ค่ายโกลด์แมนแซคส์ (Goldman Sachs) ความเสียหายระดับนี้ยังยากที่จะเป็นส่วนประกอบสำหรับก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นมาได้

ด้วยยอดขายน้ำมันและแก๊สได้อย่างต่อเนื่องในระดับซึ่งประมาณกันว่าอยู่ที่ 1,100 ล้านดอลลาร์ต่อวันในเวลานี้ บางทีรัสเซียจะสามารถโชว์ตัวเลขการได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 200,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ด้วยซ้ำ สูงขึ้นนิดหน่อยจากยอดการได้เปรียบที่ทำได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2021 แบบแปลงให้เป็นอัตรารายปีแล้ว ซึ่งอยู่ที่ 165,000 ล้านดอลลาร์

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) สถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1944 เพื่อบริหารจัดการสกุลเงินตราต่างๆ ของโลกโดยอิงอยู่กับมาตรฐานทองคำและเงินดอลลาร์ ตอนนี้กำลังแสดงความวิตกกังวล ทั้งนี้ส่วนที่เป็นทองคำของมาตรฐานดังกล่าวนี้ได้หายสูญไปแล้วตั้งแต่ปี 1971 ตอนที่สหรัฐฯประกาศตูมออกมาฝ่ายเดียวว่าจะเลิกชำระส่วนต่างในการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของตนในรูปของการโอนทองคำให้

ทว่าบทบาทการเป็นการศูนย์กลางทุนสำรองของเงินดอลลาร์กลับมั่นคงขึ้นมาอีกในปี 1974 เมื่อซาอุดีอาระเบียและพวกชาติผู้ผลิตน้ำมันริมอ่าวเปอร์เซียรายอื่นๆ ตกลงที่จะให้ยังคงซื้อขายน้ำมันกันโดยคำนวณราคาเป็นสกุลเงินดอลลาร์ต่อไป เพื่อเป็นการตอบแทนสำหรับการที่สหรัฐฯรับประกันทางด้านความมั่นคงแก่ประเทศเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ทั้งหลายทั้งปวงนี้อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเสียแล้ว ไอเอ็มเอฟเขียนเอาไว้บนเว็บไซต์ของตนเมื่อวันที่ 15 มีนาคมว่า “สงครามอาจจะเปลี่ยนแปลงระเบียบทางภูมิรัฐศาสตร์และทางเศรษฐกิจของโลกไปจนถึงระดับรากฐาน ถ้าหากการค้าพลังงานเกิดการปรับเปลี่ยน, ห่วงโซ่อุปทานมีการปรับรูปปรับร่างกันใหม่, เครือข่ายการชำระหนี้อยู่ในสภาพแตกเป็นเสี่ยงๆ , และประเทศทั้งหลายหันมาขบคิดทบทวนกันใหม่ในเรื่องสกุลเงินตราสำรองที่จะใช้ถือครอง”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://blogs.imf.org/2022/03/15/how-war-in-ukraine-is-reverberating-across-worlds-regions/)

เครื่องบ่งชี้ประการหนึ่งถึงความสงสัยข้องใจเกี่ยวกับบทบาทการเป็นศูนย์กลางของทุนสำรองของเงินดอลลาร์ ได้แก่การที่ราคาทองคำทะยานขึ้นมา ทองคำโดยปกติแล้วซื้อขายกันด้วยราคาขึ้นลงซึ่งใกล้เคียงกับอัตราผลตอบแทน (yields) ของพันธบัตรคลังสหรัฐฯชนิดป้องกันภาวะเงินเฟ้อ (Treasury inflation-protected securities หรือ TIPS) ซึ่งเป็นเครื่องมือการลงทุนที่มุ่งทำหน้าที่อย่างเดียวกัน โดยทั้งคู่ต่างมุ่งสร้างหลักประกันความเสี่ยงในเวลาที่เกิดอัตราเงินเฟ้อพุ่งแรงและค่าเงินตราสหรัฐฯอ่อนยวบอย่างไม่คาดหมาย

ปรากฏว่าระหว่างช่วงเดือนที่ผ่านมา ราคาทองคำแยกขาดออกมาจากอัตราผลตอบแทนของ TIPS โดยยังคงขยับสูงขึ้นแทนที่จะหล่นลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยซึ่งยึดโยงอยู่กับเงินเฟ้อไต่สูง และดังนั้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจึงไหลรูดลงไป
เมื่อวินิจฉัยจากความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ระหว่างราคาทองคำกับอัตราผลตอบแทน TIPS ราคาของโลหะมีค่าชนิดนี้เวลานี้มีราคาแพงเกินไปราวๆ 300 ดอลลาร์ นี่บ่งชี้ให้เห็นว่ามันคือค่าพรีเมี่ยมความเสี่ยงในทางภูมิรัฐศาสตร์นั่นเอง

กระทรวงการคลังสหรัฐฯแถลงเมื่อวันพฤหัสบดี (24 มี.ค.) ว่า มาตรการแซงก์ชั่นต่างๆ ที่ประกาศใช้ในเวลานี้ สามารถป้องกันรัสเซียไม่ให้ขายทุนสำรองทองคำที่พวกเขาถือครองอยู่ ซึ่งมีมูลค่าราวๆ 140,000 ล้านดอลลาร์ ณ ระดับราคาปัจจุบันที่ราวๆ 1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ปรากฏว่ามีรายงานข่าวต่างๆ จำนวนมากพูดถึง “การอายัด” ทองคำสำรองของรัสเซียสืบเนื่องจากการแซงก์ชั่นของฝ่ายตะวันตก ซึ่งนี่เป็นการเข้าใจผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง และอันที่จริงรัสเซียก็ไม่ได้มีความจำเป็นถึงขั้นต้องขายทองคำเพื่อให้มีเงินสดอยู่ในมือหรอก ในเมื่อรัสเซียกำลังได้เงิน 1,100 ล้านดอลลาร์ต่อวันจากการขายพลังงานอยู่แล้ว

พวกธนาคารกลางที่ซื้อขายกันนอกระบบเงินดอลลาร์ ตัวอย่างเช่นรัสเซียกับอินเดีย สามารถที่จะใช้ทองคำในการชำระหนี้เคลียร์บัญชีกันได้ ถ้ารัสเซียส่งออกสินค้าไปให้อินเดีย เกินกว่าที่อินเดียส่งออกไปให้รัสเซียภายใต้การดำเนินการโดยใช้สกุลเงินตราท้องถิ่น รัสเซียยังอาจนำเงินส่วนเกินไปลงทุนในสินทรัพย์อินเดีย อย่างที่ได้รับอนุญาตไว้จากข้อตกลงใหม่ที่ทำกับธนาคารกลางอินเดีย ทางเลือกอีกทางหนึ่งก็คือ อินเดียอาจโอนทองคำของตนไปให้รัสเซียเพื่อชำระหนี้ส่วนต่างก็ได้

การแซงก์ชั่นของอเมริกันหรือของยุโรปใช้บังคับไม่ได้หรอก ในกรณีของการโอนทองคำทวิภาคีระหว่างธนาคารกลางด้วยกัน

ภัยคุกคามของอเมริกาที่มีต่อโลก จริงๆ แล้วมาจากความเป็นไปได้ที่ว่าอเมริกาอาจจะยุติการกู้ยืมเงินจากประเทศอื่นๆ ในโลก (ฐานะการลงทุนในต่างประเทศสุทธิของอเมริกาในเวลานี้คือ ติดลบ 14 ล้านล้านดอลลาร์) เพื่อซื้อหาสินค้าต่างๆ จากประเทศอื่นๆ ในโลก นี่แหละคืออเมริกาที่มียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และหาเงินมาใช้อุดการขาดดุลนี้ด้วยการขายสินทรัพย์สำรองต่างๆ ให้แก่ประเทศอื่นๆ ในโลก

ด้วยการยึดทุนสำรองมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ของแบงก์ชาติรัสเซีย จึงเท่ากับว่าวอชิงตันเขียนเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ ให้แก่หลักเหตุผลแห่งการดำรงคงอยู่ของระบบการเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน และกระตุ้นส่งเสริมให้ประเทศอื่นๆ ในโลก “หันมาขบคิดทบทวนกันใหม่ในเรื่องสกุลเงินตราสำรองที่จะใช้ถือครอง” อย่างที่ไอเอ็มเอฟเขียนเอาไว้

แต่ถ้าเขียนกันเป็นภาษาเข้าใจง่ายๆ แล้ว มันหมายความว่าจะต้องหันมาขบคิดทบทวนกันใหม่ในเรื่องเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีที่ประเทศอื่นๆ ในโลกปล่อยกู้ให้แก่สหรัฐอเมริกา


กำลังโหลดความคิดเห็น