ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ในวันอังคาร (12 เม.ย.) กล่าวหากองกำลังรัสเซียของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน กำลังฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยูเครน ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลของเขาใช้คำจำกัดความดังกล่าว
"ใช่ ผมเรียกมันว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ไบเดนบอกกับพวกผู้สื่อข่าวที่ร่วมคณะของเขาเดินทางไปยังรัฐไอโอวา เมื่อถูกสอบถามเกี่ยวกับถ้อยคำดังกล่าวที่ประธานาธิบดีรายนี้เพิ่งกล่าวออกไประหว่างกล่าวปราศรัยก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน
"มันชัดเจนขึ้น ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ปูติน แค่กำลังพยายามล้างบางมโนคติ แม้กระทั่งการจะเป็นชาวยูเครน" ผู้นำสหรัฐฯ ระบุ
อย่างไรก็ตาม ไบเดน บอกว่าท้ายที่สุดแล้วมันจะขึ้นอยู่กับศาล ที่จะตัดสินว่าพฤติกรรมต่างๆ ของรัสเซียในเพื่อนบ้านอดีตสหภาพโซเวียตนั้น เข้าองค์ประกอบของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่ หลังจากก่อนหน้านี้เขาเคยกล่าวหารัสเซียกระทำการโหดร้ายป่าเถื่อนกับพลเรือนและก่ออาชญากรรมสงคราม
"เราจะปล่อยให้พวกนักกฎหมายตัดสินใจในระดับสากลว่ามันเข้าข่ายหรือไม่ แต่สำหรับผมแล้ว ผมมั่นใจว่ามันดูเหมือนจะเป็นแบบนั้น" เขากล่าว พร้อมเผยว่า กำลังมีหลักฐานต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ "หลักฐานเพิ่มเติมของสิ่งน่าสยดสยองที่รัสเซียทำในยูเครนกำลังปรากฏออกมา และสิ่งที่เรากำลังได้รับรู้เพิ่มเติม มีแต่การทำลายล้าง"
ยูเครนกล่าวหารัสเซียก่ออาชญากรรมสงคราม ตั้งแต่ก่อนหน้าการพบศพเรือนหลายร้อยคนถูกสังหารในเมืองบูชาแล้ว
ส่วน โจ ไบเดน ประณาม ปูติน ก่ออาชญากรสงคราม ท่ามกลางความเดือดดาลจากทั่วโลกและเรียกร้องให้มีการไต่สวนเพื่อเอาผิดผู้นำรัสเซียต่อความโหดร้ายป่าเถื่อนในยูเครน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ยังไม่เคยใช้คำนิยาม "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ตามข้อกฎระเบียบที่ยึดถือมาอย่างยาวนาน สืบเนื่องจากการตีความทางกฎหมายที่เคร่งครัดของพวกเขาและผลกระทบใหญ่หลวงที่ตามมาเมื่อมีการกล่าวหา
ไบเดน ยกระดับคำกล่าวหา ปูติน ครั้งแรกระหว่างการปราศรัยเกี่ยวกับราคาเบนซินที่กำลังพุ่งสูง ก่อนหน้านี้ในวันอังคาร (12 เม.ย.) โดยระบุว่าความสามารถของอเมริกันชนในการเติมเต็มถังน้ำมันรถ "ไม่ควรขึ้นอยู่กับเผด็จการรายหนึ่งซึ่งประกาศสงครามและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนครึ่งโลก"
รัฐบาลไบเดน กำลังหาทางกล่าวโทษการรุกรานยูเครนของปูติน ว่าเป็นต้นตอของราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวเคยถาม ไบเดน ว่าเหตุสังหารหมู่ในเมืองบูชา เทียบเท่ากับ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" หรือไม่ ซึ่งในตอนนั้นเขาตอบว่า "ไม่ ผมคิดว่ามันเป็นอาชญากรรมสงคราม"
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นความผิดระหว่างประเทศร้ายแรงที่สุด ถูกใช้เป็นครั้งแรกในการจำกัดความการสังหารเพื่อทำลายเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยนาซี มันถูกบัญญัติขึ้นในปี 1948 ในฐานะอาชญากรรมหนึ่งภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ในอนุสัญญาฉบับหนึ่งของสหประชาชาติ
นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เคยใช้คำนิยมดังกล่าวมาแล้ว 7 ครั้ง ประกอบด้วย เหตุสังหารหมู่ในบอสเนีย รวันดา อิรัก และดาร์ฟูร์ การโจมตีชนกลุ่มน้อยยาซิดี และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ โดยฝีมือพวกรัฐอิสลาม (ไอเอส) การปฏิบัติกับคนอุยกุร์และชาวมุสลิมอื่นๆ ของจีน และล่าสุดในปีนี้ ต่อกรณีกองทัพพม่าประหัตประหารชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา ทั้งนี้ จีนปฏิเสธคำกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ณ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ข้อสรุปใดๆ ปกติแล้วจะมีขึ้นตามหลังกระบวนการภายในที่เต็มไปด้วยความละเอียดรอบคอบ กระนั้นการตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาว่าความเคลื่อนไหวนี้จะส่งเสริมผลประโยชน์ของสหรัฐฯ หรือไม่ เจ้าหน้าที่เผย
(ที่มา : เอเอฟพี/รอยเตอร์)