xs
xsm
sm
md
lg

อ้าว! ปธน.เซอร์เบียแฉถูกขู่คว่ำบาตร แบล็กเมล์ให้หนุนมติระงับรัสเซียจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดีอเล็กซานดาร์ วูซิช แห่งเซอร์เบีย ออกมาเปิดเผยว่า ประเทศของเขาถูกกดดันข่มขู่ด้วยมาตรการคว่ำบาตร ให้หนุนหลังมติระงับสมาชิกสภาพรัสเซียในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ พร้อมระบุไม่สนับสนุนการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานประเทศไหนๆ และเน้นย้ำต้องการคงความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งยุโรปและรัสเซีย

เซอร์เบียมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางประวัติศาสตร์กับรัสเซีย แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้เข้าร่วมกับบรรดาชาติตะวันตกอื่นๆ ในการลงมติระงับสมาชิกภาพของมอสโกในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ตอบโต้กรณีรัสเซียยกพลรุกรานยูเครน "การตัดสินใจในเบื้องต้นของเราคืองดออกเสียง แต่จากนั้นเราอยู่ภายใต้แรงกดดันที่ยากลำบากและเหลือคณานับ" วูซิชให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนท้องถิ่นเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (7 เม.ย.)

"พวกเขาบอกว่า คุณรู้ไหมว่ากำลังมีการตัดสินใจว่าเซอร์เบีย จะได้รับข้อยกเว้นจากแพกเกจคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียหรือไม่ และจะสามารถนำเข้าน้ำมันต่อไปได้หรือไม่ หลังจากวันที่ 15 พฤษภาคม?" ประธานาธิบดีรายนี้กล่าว พร้อมเปรียบเทียบผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตรที่มีกับเซอร์เบีย คงไม่ต่างจากการ "โจมตีทางนิวเคลียร์" หากมันเกิดขึ้นจริง

ต่างจากอียู เซอร์เบียไม่ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อมอสโก "สาธารณรัฐเซอร์เบียเชื่อว่ามันไม่มีประโยชน์ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรประเทศไหนๆ" วูซิช กล่าว พร้อมเน้นย้ำว่าเขาต้องการคงความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มอียู เช่นเดียวกับรัสเซีย

ก่อนหน้านี้ เบลเกรดบอกว่าการตัดขาดพลังงานจากรัสเซียจะก่อความเสียหายแก่เศรษฐกิจของพวกเขา และในวันศุกร์ (8 เม.ย.) สื่อมวลชนหลายแห่งของเซอร์เบียรายงานอ้างแหล่งข่าวในบรัสเซลส์ ระบุว่า เซอร์เบียจะได้รับการยกเว้นจากความเป็นไปได้ของมาตรการคว่ำบาตรใดๆ ที่กำหนดเล่นงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ Blic รายงานอ้างคำกล่าวของปีเตอร์ สตาโน โฆษกของอียู บอกว่าทางกลุ่มคาดหมายว่าเซอร์เบียจะปฏิบัติตามข้อจำกัดต่างๆ ที่อียูกำหนดเล่นงานรัสเซีย หรือไม่ก็เซอร์เบียจะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรของตนเองเล่นงานมอสโก

เมื่อวันพฤหัสบดี (7 เม.ย.) ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ลงมติระงับรัสเซียจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เกี่ยวกับรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและเป็นระบบในยูเครน และเซอร์เบีย เป็นหนึ่งใน 93 ชาติ ที่ลงคะแนนสนับสนุนมติดังกล่าว

อียูได้แบนนำเข้าถ่านหินจากรัสเซียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่ห้ามนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ทางชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป ระบุเมื่อวันพุธ (6 เม.ย.) ว่าไม่ช้าก็เร็ว ทางกลุ่มจะจำเป็นต้องกำหนดมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น