ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในวันพฤหัสบดี (7 เม.ย.) ระงับรัสเซียจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เกี่ยวกับรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและเป็นระบบในยูเครน ความเคลื่อนไหวที่กระตุ้นให้มอสโกประกาศถอนตัวจากองค์กรแห่งนี้
ในความเคลื่อนไหวที่ผลักดันโดยสหรัฐฯ สมาชิกสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ 93 ประเทศ ลงมติเห็นด้วย ส่วน 24 ประเทศ โหวตไม่เห็นด้วย และ 58 ประเทศงดออกเสียง ในนั้นรวมถึงประเทศไทย ทั้งนี้ คะแนนเสียงข้างมาก 2 ใน 3 ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ 193 ชาติในนิวยอร์ก ไม่รวมคะแนนของประเทศที่งดออกเสียง มีความจำเป็นสำหรับระงับรัสเซียจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่มีสมาชิก 47 ประเทศ และมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเจนีวา
เกนนาดี คาซิม รองเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติ ให้สัมภาษณ์หลังการโหวต ให้คำจำกัดความความเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า "เป็นก้าวย่างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีแรงจูงใจทางการเมือง" และจากนั้นก็แถลงว่ารัสเซียตัดสินใจถอนตัวออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติโดยสิ้นเชิง
"คุณไม่ต้องยื่นใบลาออกหรอก หลังจากคุณถูกไล่ออกแล้ว" เซอร์กีย์ คิสลิตสยา เอกอัครราชทูตยูเครนประจำสหประชาชาติกล่าวกับผู้สื่อข่าว
รัสเซียอยู่ในปีที่ 2 ของวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี และภายใต้มติในวันพฤหัสบดี (7 เม.ย.) ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติอาจเห็นพ้องในภายหลังให้ยกเลิกการระงับดังกล่าว แต่เรื่องนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้แล้วในตอนนี้ หลังจากรัสเซียถอนตัวโดยสิ้นเชิงจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ดังเช่นครั้งที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกไปในปี 2018 ตอบโต้ในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าการมีอคติต่อต้านอิสราเอลมาอย่างยาวนานและขาดการปฏิรูป
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ได้รับการเลือกตั้งกลับเข้าสู่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว
มติระงับประเทศใดประเทศหนึ่งจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติถือว่าเกิดขึ้นน้อยครั้งมาก ลิเบียเคยถูกระงับในปี 2011 สืบเนื่องจากกองกำลังที่ภักดีต่อ มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำ ณ ขณะนั้น ใช้ความรุนแรงกับพวกผู้ประท้วง
ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ จาง จุน เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ บอกว่าสหประชาชาติ "ส่งสารอย่างชัดเจนว่าความทุกข์ทรมานของเหยื่อและผู้รอดชีวิตจะไม่ถูกเพิกเฉย" เธอกล่าว "เรารับประกันว่าผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องและชั่วร้าย จะไม่ถูกปล่อยให้ยึดครองตำแหน่งหนึ่งๆ ในแกนนำด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ"
การตัดสินใจของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ไม่มีพันธะทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม มันเป็นการส่งสารทางการเมืองที่สำคัญ และให้อำนาจการสืบสวนต่างๆ โดยเมื่อเดือนที่แล้ว คณะมนตรีแห่งนี้ได้เปิดการสืบสวนข้อกล่าวหาต่างๆ เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในนั้นรวมถึงความเป็นไปได้ของการก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน
มติในวันพฤหัสบดี (7 เม.ย.) ถือเป็นครั้งที่ 3 ของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครน ประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ โดย 2 ครั้งก่อนหน้านี้ได้ลงมติประณามรัสเซีย ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 141 เสียงและ 140 เสียงตามลำดับ
จีนพันธมิตรของรัสเซีย งดออกเสียงในการโหวต 2 ครั้งก่อนหน้านี้ของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และในวันพฤหัสบดี (4 เม.ย.) ปักกิ่งลงมติไม่เห็นด้วย
"ความเคลื่อนไหวที่เร่งรีบเช่นนี้ของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ บีบให้ประเทศต่างๆ ต้องเลือกข้าง ซึ่งจะซ้ำเติมความแตกแยกในบรรดาสมาชิกและโหมกระพือการเผชิญหน้าหนักหน่วงขึ้นระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มันเหมือนกับการราดน้ำมันเข้าสู่กองไฟ" จาง จุน เอกอัครราชทูตจีนประจำสหประชาชาติกล่าว
รอยเตอร์อ้างพบเห็นบันทึกฉบับหนึ่ง ระบุว่ารัสเซียเตือนประเทศต่างๆ ที่ลงมติเห็นชอบหรืองดออกเสียง จะถูกมองว่ามีท่าทางที่ไม่เป็นมิตร และจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคี
(ที่มา : รอยเตอร์)