นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นและเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่นเตือนรัสเซียเรื่องการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในระหว่างการเยือนเมืองฮิโรชิมาในวันเสาร์ (26) สถานที่ทิ้งระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่ 2
คำเตือนนี้ออกมาหลังจากเมื่อวันอังคาร (22) มอสโกไม่ปิดกั้นทางเลือกที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ โดยระบุว่า มันอาจถูกใช้ในสงครามยูเครน หากรัสเซียเผชิญภัยคุกคามจริงๆ
นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น และเอกอัครราชทูต ราห์ม เอ็มมานูเอล ไปเยือนอนุสรณ์สถานและพิพิธภัณฑ์สันติภาพ และที่นั่น เอ็มมานูเอล เรียกจุดยืนของรัสเซียว่า "ไร้สามัญสำนึก"
ในปี 1945 มีผู้เสียชีวิตจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาประมาณ 140,000 คน ตัวเลขดังกล่าวรวมถึงผู้ที่รอดชีวิตจากการระเบิด แต่เสียชีวิตในภายหลังจากสัมผัสกัมมันตรังสี
หลังจากนั้น 3 วัน สหรัฐฯ ก็ทิ้งระเบิดพลูโตเนียมที่เมืองนางาซากิของญี่ปุ่น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 74,000 คน และนำไปสู่จุดจบของสงครามโลกครั้งที่ 2 และจนถึงตอนนี้ สหรัฐฯ ยังคงเป็นเพียงประเทศเดียวที่เคยใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงคราม
เอ็มมานูเอล ออกถ้อยแถลงประณามจุดยืนของมอสโก โดยกล่าวว่า "ประวัติศาสตร์ของฮิโรชิมาสอนเราว่า มันเป็นเรื่องไร้สามัญสำนึกที่ประเทศใดก็ตามกล้าออกคำข่มขู่เช่นนี้"
"เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เวลาที่รัสเซียขู่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ สิ่งที่ครั้งหนึ่งไม่เคยมีใครกล้าคิดหรือกล้าพูด"
คิชิดะ กล่าวว่า "ฝันร้ายจากอาวุธนิวเคลียร์จะต้องไม่เกิดขึ้นอีกครั้ง"
ไม่กี่วันหลังทหารรัสเซียบุกยูเครนเมื่อเดือนก่อน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ประกาศว่า เขาสั่งให้กองกำลังนิวเคลียร์ยุทธศาสตร์ของมอสโกอยู่ในความเตรียมพร้อมขั้นสุด ความเคลื่อนไหวที่สร้างความกังวลไปทั่วโลก
"เรามีนโยบายความมั่นคงภายในและมันอยู่ในสื่อที่เข้าถึงได้ คุณสามารถอ่านเหตุผลทั้งหมดสำหรับการนำอาวุธนิวเคลียร์ออกมาใช้ได้" ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกเครมลิน บอกกับซีเอ็นเอ็นเมื่อวันอังคาร (22)
"ดังนั้นถ้าเกิดภัยคุกคามจริงๆ กับประเทศนี้ มันก็อาจถูกนำมาใช้ตามนโยบายของเรา"