xs
xsm
sm
md
lg

ผลกระทบจาก “อาวุธนิวเคลียร์” ความกังวลที่ถูกพูดถึงมากขึ้น และไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกครั้ง ในสงครามรัสเซีย – ยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้จะมีการพูดถึง “อาวุธนิวเคลียร์” อยู่บ่อยครั้งในสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองของภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในคาบสมุทรเกาหลี อิหร่าน ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว เพราะการนำมาใช้คงจะเป็นเรื่องที่ยาก ส่วนใหญ่ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อเป็นข้อต่อรองทางการเมือง จนกระทั่งได้เกิด “สงครามรัสเซีย – ยูเครน” ขึ้น ทำให้คำว่า อาวุธนิวเคลียร์ กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง เนื่องจากประเทศรัสเซีย เป็นหนึ่งในประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์มากที่สุดในโลก

และทั่วโลกต่างได้เคยเห็นภาพประวัติศาสตร์อันโหดร้าย ในการใช้ “อาวุธนิวเคลียร์” ที่เกิดขึ้นจริงในสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะถูกใช้เพียงแค่ 2 ลูกในประวัติศาสตร์ แต่ทุกๆ คนบนโลกนี้ ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกครั้ง

นครฮิโรชิมะ ภายหลังการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ ในปลายสงครามโลกครั้งที่สอง
“อาวุธนิวเคลียร์” เป็นวัตถุระเบิดซึ่งมีอำนาจทำลายล้างมาจาก ปฏิกิริยานิวเคลียร์ ไม่ว่าจะเป็นปฏิกิริยาฟิชชัน (atomic bomb) อย่างเดียว หรือ ฟิชชันและฟิวชัน (hydrogen bomb) รวมกัน อาวุธนิวเคลียร์โดยทั่วไป หมายถึง อาวุธที่ใช้ปฏิกิริยาฟิชชัน หรือ ฟิวชันเป็นหลัก ในการให้พลังงานออกมา ความแตกต่างระหว่างพลังงานทั้งสองชนิดนี้ไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากเป็นอาวุธสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อน มีการใช้ระเบิดฟิชชันขนาดเล็ก สำหรับทำให้อุณหภูมิ และความดันสูงพอ ที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยาฟิวชันได้ ในทำนองเดียวกันถ้าใช้ระเบิดฟิวชันเสริมด้วย จะทำให้ปฏิกิริยาฟิชชันมีประสิทธิภาพในการให้พลังงานออกมาได้มากขึ้น แต่ลักษณะพิเศษของอาวุธแบบฟิชชันกับแบบฟิวชัน คือพลังงานที่ให้ออกมาจากนิวเคลียสของอะตอม จึงทำให้ระเบิดลักษณะนี้ทุกประเภท เรียกว่า “อาวุธนิวเคลียร์”


การระเบิดที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นจาก “ปฏิกิริยานิวเคลียส” คือในนิวเคลียสของอะตอมมีแรงยึดเหนี่ยวสูงมากการที่จะทำให้นิวเคลียสซึ่งเดิมอยู่ในสภาพเสถียรแยกออกจากอะตอมต้องให้พลังงานสูงมากเมื่อนิวตรอนและโปรตอนแยกออกจากนิวเคลียสได้แล้ว นิวตรอนที่มีพลังงานสูงจะพยายามคายพลังงานออกมาโดยการวิ่งไปชนกับนิวเคลียสอื่นๆ ด้วยแรงที่สูงมากเหมือนการดึงสปริง ดังนั้นเมื่อเรายิงนิวตรอนเข้าไปชนอะตอมอื่น จะเกิดแรงเนื่องจากการชนของนิวตรอนกับนิวเคลียสซึ่งเรียกว่า แรงนิวเคลียร์ ทำให้นิวเคลียสที่ถูกชนแตกสลายคายพลังงานออกมามหาศาลและมีอนุภาคนิวตรอนเกิดขึ้นใหม่ ทำให้เกิดการชนของนิวตรอนกับอะตอมอื่นขึ้นอีก เกิดปฏิกิริยาอย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปเรื่อยๆ เรียกว่า ปฏิกิริยานิวเคลียร์แบบลูกโซ่ ปฏิกิริยานิวเคลียร์มี 2 แบบ คือ

1.ปฏิกิริยาฟิสชัน (fission reaction) เกิดจากการแตกตัวของนิวเคลียสธาตุหนักหรือธาตุที่มีเลขมวลมาก ซึ่งนิวเคลียสแตกออกเป็นสองส่วนได้เมื่อถูกยิงด้วยนิวตรอน ทำให้ได้ธาตุอื่นที่มีมวลลดลง รวมถึงพลังงานและนิวตรอนออกมา นิวตรอนนี้จะออกมาด้วยความเร็วสูง แล้ววิ่งไปชนนิวเคลียสอื่นให้แตกตัวไปเรื่อยๆ เรียกว่า ปฏิกิริยาลูกโซ่ (chain reaction)

2.ปฏิกิริยาฟิวชัน (fusion reaction) เกิดจากธาตุที่มีมวลอะตอมน้อยหรือธาตุเบามารวมกันจนเป็นธาตุหนัก แล้วปล่อยพลังงานออกมา

ระเบิด ลิตเติลบอย ระเบิดนิวเคลียร์ 1 ใน 2 ลูก ที่ถูกใช้จริง
ผลของการระเบิดจากอาวุธนิวเคลียร์ จะสร้างแรงของคลื่นกระแทกและรังสีความร้อน เช่นเดียวกับระเบิดแบบธรรมดา สิ่งที่แตกต่างกัน คือ อาวุธนิวเคลียร์ปลดปล่อยพลังงานออกมามากกว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดการระเบิดด้วย และจะปลดปล่อยรังสีเอกซ์ (soft X-rays) พลังงานส่วนหนึ่งจะเป็นพลังงานจลน์ ที่ส่งให้ส่วนประกอบของระเบิดกระจายออกอย่างรวดเร็ว

ถ้าเกิดการระเบิดที่ระดับสูง ซึ่งอากาศมีความหนาแน่นต่ำ รังสีเอกซ์จะไปได้ไกลก่อนจะถูกดูดกลืน ทำให้พลังงานมีความหนาแน่นน้อยกว่า จึงมีแรงกระแทกน้อยกว่า พลังงานจึงกระจายออกไปในรูปของคลื่นความร้อนมากกว่า และถ้าเกิดการระเบิดเหนือผิวดิน หรือผิวน้ำ ความร้อนจากลูกไฟของการระเบิด จะทำให้วัตถุถูกทำให้กลายเป็นไอ ลอยขึ้นไปเป็นกลุ่มเมฆกัมมันตรังสี วัตถุเหล่านี้จะรวมเข้ากับผลผลิตฟิชชันและวัสดุอื่น ที่กลายเป็น “สารกัมมันตรังสี”

ความเสียหายของนครฮิโรชิมะ ภายหลังการทิ้งระเบิด - NationalGeographic
ฝุ่นกัมมันตรังสีสามารถกระจายไปเป็นบริเวณกว้าง ขึ้นอยู่กับแรงของคลื่นกระแทกหรือความร้อน โดยเฉพาะกรณีที่ระเบิดขนาดใหญ่เหนือพื้นดิน ส่วนการระเบิดเหนือพื้นน้ำ จะทำให้เกิดอนุภาคที่เล็กและเบากว่า ทำให้เกิดฝุ่นกัมมันตรังสีน้อยกว่า แต่กินพื้นที่ในบริเวณที่กว้างกว่า อนุภาคส่วนใหญ่จะเป็นน้ำทะเลซึ่งประกอบด้วยน้ำและเกลือ ซึ่งจะทำให้กลายเป็นฝนของกัมมันตภาพรังสีตกลงมา

อันตรายจากกัมมันตรังสีที่สามารถแผ่กระจายและส่งผลกระทบไปทั่วโลก ฝุ่นพิษเหล่านี้จะสามารถเข้าไปในร่างกายได้จากการสัมผัสและการกินอาหารที่มีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อน แต่เมื่อเทียบกันแล้วอันตรายจากฝุ่นรังสีที่กระจายไปทั่วโลก น้อยกว่าอันตรายจากฝุ่นรังสีที่ตกลงใกล้กับจุดระเบิด และอาการที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากได้รับกัมมันตรังสีโดยไม่มีการควบคุม เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เม็ดเลือดขาวถูกทําลาย ระบบการสร้างโลหิตจากที่ไขกระดูกบกพร่อง ร่างกายมีความต้านทานโรคต่ํา

เมฆรูปเห็ดสูง 18 กิโลเมตร ที่เกิดจากอาวุธนิวเคลียร์ ที่ถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิของญี่ปุ่น
ในประวัติศาสตร์มีอาวุธนิวเคลียร์เพียงสองลูกเท่านั้น ที่ถูกใช้จริงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยทั้งสองครั้ง ถูกใช้โดยประเทศสหรัฐอเมริกา และถูกใช้ที่ประเทศญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียว ซึ่งถูกใช้ในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ในชื่อรหัส "ลิตเติลบอย" เป็นประเภทจุดระเบิดยูเรเนียม (uranium gun-type) ระเบิดเหนือเมืองฮิโรชิมา และในวันที่ 9 สิงหาคม ปีเดียวกัน ในชื่อรหัสว่า "แฟตแมน" เป็นประเภทจุดระเบิดภายในพลูโตเนียม (plutonium implosion-type) ระเบิดเหนือเมืองนางาซากิ การทิ้งระเบิดทั้งสองลูกส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตไปประมาณ 200,000 คน บ้าน อาคารต่างๆ ถูกทำลายจนสิ้น สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก และแม้จะถูกใช้จริงเพียงแค่สองลูก แต่ด้วยภาพความเสียหายที่โหดร้ายสิ้นหวังสะเทือนอารมณ์ และเรื่องราวคำบอกเล่าที่ถูกบันทึกไว้ ทำให้ประวัติศาสตร์ได้จาลึกถึงผลพวงจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ว่าไม่ควรเกิดขึ้นอีกครั้ง


ขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น