(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
US, China moment of decision in Rome
By DAVID P. GOLDMAN
14/03/2022
เจค ซุลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ นัดพบเจรจาหารือเร่งด่วนในวันนี้ (จันทร์ที่ 14 มี.ค.) หยาง เจียฉือ เจ้าหน้าที่ระดับท็อปด้านนโยบายการต่างประเทศของจีน
นิวยอร์ก - ตัววัดที่น่าตื่นตะลึงตัวหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าโลกของเราได้เปลี่ยนแปลงไปขนาดไหนในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่การที่ เจค ซุลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เดินทางไปยังกรุงโรม, อิตาลี ในวันจันทร์ (14 มี.ค.) เพื่อพบหารือกับ หยาง เจียฉือ เจ้าหน้าที่ระดับท็อปด้านนโยบายการต่างประเทศของจีน
การที่วอชิงตันตัดสินใจหาทางให้จีนเข้าเกี่ยวข้องกับสงครามที่อยู่ห่างออกไป 7,000 กิโลเมตรจากปักกิ่ง เป็นตัวประเมินให้เห็นว่า อเมริกากำลังเผชิญความอิหลักอิเหลื่อในทางยุทธศาสตร์อย่างล้ำลึกถึงขนาดไหน รวมทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนกำลังมีความสำคัญในฐานะเป็นปัจจัยหนึ่งในกิจการของโลกเพียงใด
สหรัฐฯจำเป็นต้องเลือกว่าจะเสี่ยงขยายการสู้รบขัดแย้งครั้งนี้ให้บานปลายออกไปหรือไม่ ซึ่งรวมถึงการเร่งรัดเพิ่มจัดส่งอาวุธต่างๆ ไปให้ยูเครน อันเป็นเรื่องที่อาจกระตุ้นให้รัสเซียเข้าโจมตีขัดขวาง หรือว่าสหรัฐฯจะปล่อยให้รัสเซียได้ชัยชนะอย่างที่น่าจะเกิดขึ้นมาหากวอชิงตันไม่ขยับทำอะไร ในทางตรงกันข้าม สำหรับจีนนั้นมีความผูกพันทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแรงกับทั้งยูเครนและก็รัสเซีย โดยที่จีนมีฐานะเป็นหุ้นส่วนทางการค้ารายสุดท้ายซึ่งรัสเซียสามารถพึ่งพาได้ (trading partner of last resort)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ เรื่อง Could China mediate the Ukraine war? ของผู้เขียน ในเอเชียไทมส์ออนไลน์วันที่ 9 มีนาคม 2022 https://asiatimes.com/2022/03/could-china-mediate-the-ukraine-war/)
สภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ (US National Security Council) เผยแพร่คำแถลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ในวันอาทิตย์ (13 มี.ค.) โดยบอกว่า “ในวันจันทร์ (14 มี.ค.) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ เจค ซุลลิแวน และคณะเจ้าหน้าที่จากสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกระทรวงการต่างประเทศ จะอยู่ที่กรุงโรม
ซุลลิแวน จะพบหารือกับ หยาง เจียฉือ สมาชิกกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน และผู้อำนวยการของสำนักงานคณะกรรมการกิจการต่างประเทศ (ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน) โดยเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามอย่างต่อเนื่องของเราที่จะธำรงรักษาสายการติดต่อสื่อสารระหว่างสหรัฐฯกับสาธารณรัฐประชาชนจีนให้เปิดเอาไว้
ทั้งสองฝ่ายจะอภิปรายหารือกันเกี่ยวกับความพยายามที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อบริหารจัดการการแข่งขันระหว่างประเทศของเราทั้งสอง และอภิปรายหารือกันถึงผลกระทบของสงครามที่รัสเซียกระทำกับยูเครน ซึ่งจะมีต่อความมั่นคงระดับภูมิภาคและระดับโลก”
นาโต้ส่อแสดงให้เห็นว่าอยู่ในอาการรวนเรสับสนในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากสหรัฐฯปฏิเสธไม่ยอมรับฝูงเครื่องบินขับไล่ มิก-29 ที่ล้าสมัย ซึ่งโปแลนด์ได้มาจากอดีตเยอรมันตะวันออก และเวลานี้เสนอที่จะส่งต่อไปให้แก่ยูเครน โปแลนด์นั้นหวาดกลัวว่าการส่งเครื่องบินเหล่านี้ไปให้ยูเครนโดยตรง จะเป็นการกระทำซึ่งทำให้โปแลนด์ถูกถือว่าเป็นผู้เข้าร่วมการสู้รบทำสงครามรายหนึ่ง และการที่สหรัฐฯปฏิเสธไม่ยอมให้ฝ่ายโปแลนด์บิน มิก-29 เหล่านี้มาส่งที่ฐานทัพสหรัฐฯในเมือง รัมสไตน์ (Ramstein), เยอรมนี ก็ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้แหละ
เมื่อวันอาทิตย์ (13 มี.ค.) รัสเซียออกมาเตือนว่า อาวุธต่างๆ ที่จัดส่งลำเลียงเข้าไปในยูเครนนั้น กองทัพของตนถือว่าเป็น “เป้าหมายที่ถูกกฎหมาย” สำหรับการเข้าโจมตี จึงกำลังเพิ่มลู่ทางโอกาสที่จะเกิดการสู้รบกันโดยตรงระหว่างกองกำลังของรัสเซียกับของนาโต้ เรื่องนี้ทำให้วอชิงตันตกอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก อย่างที่กรณี มิก-29 แสดงให้เห็นแล้วอย่างชัดเจน วอชิงตันไม่ได้ต้องการให้เกิดการสู้รบโดยตรงระหว่างกองกำลังของรัสเซียกับของนาโต้ ซึ่งเป็นอะไรที่อาจนำไปสู่การบานปลายขยายตัวถึงขั้นการใช้อาวุธนิวเคลียร์
หากไม่จัดส่งจรวดต่อสู้รถถัง “เจฟลิน” (Javelin anti-tank rocket), ขีปนาวุธต่อสู้อากาศยาน “สติงเจอร์” (Stinger anti-aircraft missile) และฮาร์ดแวร์ไฮเทคของสหรัฐฯอย่างอื่นๆ ไปเพิ่มเติมให้ โอกาสที่ยูเครนจะสามารถยืนหยัดต้านทานการโจมตีของรัสเซียก็ดูมืดมน แต่พฤติการณ์ของการจัดส่งอาวุธเหล่านี้เพิ่มเติมไปให้ ในตัวของมันเองก็สามารถนำไปสู่สงครามที่มีขอบเขตกว้างขวางยิ่งขึ้น
ในการให้สัมภาษณ์ที่เผยแพร่เมื่อวันเสาร์ (12 มี.ค.) กับเว็บไซต์ข่าวเยอรมัน “ชปีเกล” (Spiegal) พลเรือเอก (เกษียณอายุ) เจมส์ สตาฟริดิส (James Stavridis) กล่าวว่า เขาไม่คาดหมายว่ารัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการสู้รบขัดแย้งที่ยูเครนคราวนี้ แต่ว่า “การคาดคำนวณอย่างผิดพลาด” เป็นเรื่องที่ถือว่ามีความเสี่ยงอย่างสำคัญที่อาจเกิดขึ้นได้
(ดูเพิ่มเติมการให้สัมภาษณ์นี้ได้ที่ https://www.spiegel.de/international/world/u-s-admiral-on-the-war-in-ukraine-putin-doesn-t-have-a-tactical-reason-to-use-nuclear-weapons-a-6a834b53-694d-43eb-9d46-ad71507a6006)
(พลเรือเอก (เกษียณอายุ) เจมส์ สตาฟริดิส รับราชการในกองทัพเรือสหรัฐฯอยู่ 37 ปี ตำแหน่งสุดท้ายของเขาคือ ผู้บัญชาการสูงสุดกองทหารสัมพันธมิตรยุโรป The Supreme Allied Commander Europe (SACEUR) ซึ่งก็คือผู้บัญชาการของกองบัญชาการปฏิบัติการกองทหารสัมพันธมิตรขององค์การนาโต้ หลังเกษียณอายุจากกองทัพ เขาไปเป็นคณบดีของวิทยาลัยกฎหมายและการทูตเฟลตเชอร์ แห่งมหาวิทยาลัยทัฟส์ (Fletcher School of Law and Diplomacy at Tufts University) อยู่ 6 ปี ในเดือนมีนาคม 2021 นวนิยายเรื่อง “2034: A Novel of the Next World War ” (ปี 2034: นิยายของสงครามโลกครั้งต่อไป) ซึ่งเขาเขียนร่วมกับ เอลเลียต แอคเคอร์แมน ได้รับการตีพิมพ์ และกลายเป็นหนังสือขายดี โดยในตอนเริ่มออกวางจำหน่ายติดอันดับ 6 ในรายชื่อหนังสือขายดีนิวยอร์กไทมส์ (New York Times bestseller list ) ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/James_G._Stavridis)
“สิ่งที่ผมรู้สึกกังวลจริงๆ” สตาฟริดิส บอก “คือมันอาจจะเกิดการคาดคำนวณอย่างผิดพลาดขึ้นมาในบางครั้ง เมื่อขีปนาวุธรัสเซียบินข้ามชายแดนโปแลนด์เข้าไป โจมตีใส่ศูนย์บัญชาการและควบคุมของสหรัฐฯ (U.S. command and control center) สักแห่งหนึ่ง แล้วทาง SACEUR (The Supreme Allied Commander Europe ผู้บัญชาการสูงสุดกองทหารสัมพันธมิตรยุโรป นั่นคือ ผู้บัญชาการของกองบัญชาการปฏิบัติการกองทหารสัมพันธมิตรขององค์การนาโต้) ตอบโต้เล่นงานกองทหารรัสเซีย และจากนั้นรัสเซียก็ขยายการปฏิบัติการบานปลายออกไปอีก จริงๆ แล้วนี่คือฉากทัศน์ของนวนิยายเรื่อง “2034” เลย มันสามารถเกิดขึ้นได้ไหม? มันเป็นไปได้ แต่ว่าในความเป็นจริงของเวลานี้ก็คือ เรากำลังเห็นสงครามเกิดขึ้นมาอยู่แล้ว เป็นสงครามที่เราจะเรียกว่า “สงครามยูเครน” ในอีก 50 ปีข้างหน้าต่อจากนี้”
สตาฟริดิส พูดเปรียบเทียบสถานการณ์ในเวลานี้กับครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาปี 1962 (Cuban Missile Crisis 1962) โดยอธิบายว่า “สิ่งที่ทำให้ทั้งสองครั้งนี้มีอะไรที่ออกจะคล้ายๆ กัน ก็คือ คุณมีอภิมหาอำนาจนิวเคลียร์ 2 รายซึ่งเกิดไม่ลงรอยกันอย่างรุนแรงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเทศที่ 3 รายหนึ่ง --ในกรณีนี้คือ ยูเครน ส่วนในกรณีนั้นคือ คิวบา”
ความกังวลใจของวอชิงตันอีกเรื่องหนึ่ง ได้แก่ ผลกระทบกระเทือนอย่างต่อเนื่องของมาตรการแซงก์ชั่นทางการเงินต่อรัสเซียที่เรียกกันว่า ทางเลือก “ระเบิดนิวเคลียร์” ซึ่งอายัดส่วนใหญ่ของทรัพย์สินมูลค่า 630,000 ล้านดอลลาร์ในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของแดนหมีขาวเอาไว้ พวกนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญๆ รวมทั้ง เคนเนธ โรกอฟฟ์ (Kenneth Rogoff) แห่งฮาร์วาร์ด ที่เคยเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) พากันออกมาเตือนว่าการเข้ายึดทุนสำรองของทางการในขนาดมหึมาเช่นนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีตัวอย่างมาก่อนเลย อาจลุกลามส่งผลกลายเป็นการทำลายความมั่นอกมั่นใจในระบบสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
วิลเลียม เพเซค (William Pesek) ในข้อเขียนเรื่อง Russia sanctions threaten to backfire on the buck (การแซงก์ชั่นรัสเซียกลายเป็นภัยคุกคามสะท้อนกลับมายังเงินดอลลาร์) ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2022/03/us-sanctions-threaten-to-backfire-on-the-buck/ และผู้เขียนคนนี้ (เดวิด พี. โกลด์แทน) ในข้อเขียนเรื่อง Gold will soar as China seeks US dollar alternatives (ทองจะพุ่งพรวดขณะที่จีนมองหาตัวเลือกอื่นมาทดแทนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ) ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2022/03/gold-will-soar-as-china-seeks-us-dollar-alternatives/ รายงานเรื่องนี้ไว้แล้วในเอเชียไทมส์ก่อนหน้านี้
โซลตัน พอสซาร์ (Zoltan Poszar) นักวิเคราะห์ของ เครดิตสวิส (Credit Suisse) หนึ่งในผู้ซึ่งได้รับการติดตามมากที่สุดคนหนึ่ง เมื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับตลาดเงินในวอลล์สตรีท กล่าวเตือนเอาไว้ในบทวิเคราะห์สั้นชิ้นหนึ่งส่งถึงลูกค้าในสัปดาห์ที่แล้วว่า ผลสะท้อนกลับอย่างรุนแรงจากการยึดทุนสำรองคราวนี้ อาจจะถึงขั้นทำลายกรอบโครงด้านเงินตราที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยกำลังผลักดันให้มีการสร้าง “ข้อตกลงเบรตตันวู้ดส์ 3 (Bretton Woods III) ที่หนุนหลังโดยตัวเงินภายนอก” (เขาหมายถึงทองคำและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ)
พอสซาร์ เขียนเอาไว้ดังนี้ “เรากำลังเป็นประจักษ์พยานการถือกำเนิดขึ้นมาของข้อตกลง เบรตตันวู้ดส์ 3 – ระเบียบ (ทางด้านเงินตรา) ของโลกฉบับใหม่ ที่มีศูนย์กลางอยู่รอบๆ พวกสกุลเงินตราอ้างอิงกับสินค้าโภคภัณฑ์ในโลกตะวันออก ซึ่งน่าจะทำให้ระบบยูโรดอลลลาร์ (Eurodollar system) อ่อนแอลง รวมทั้งยังมีส่วนทำให้เกิดพลังด้านเงินเฟ้อในโลกตะวันตกอีกด้วย”
สหรัฐฯกำลังแบกรับความเสี่ยงทั้งทางด้านยุทธศาสตร์และทางด้านเศรษฐกิจเอาไว้อย่างมโหฬารยิ่ง จากความพยายามที่จะปิดล้อมจำกัดรัสเซียเอาไว้ เรื่องนี้อธิบายถึงการตัดสินใจอย่างพิเศษผิดธรรมดาของที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ในการบินไปยังกรุงโรม ณ ห้วงเวลาที่วิกฤตการณ์ระดับโลกกำลังพุ่งแรง เพื่อพูดจากับจีนในช่วงที่ความสัมพันธ์จีน-อเมริกันเสื่อมทรามลงมาถึงขีดต่ำสุด
รัฐบุรุษอาวุโสชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผู้หนึ่ง ซึ่งมีประสบการณ์ในการเจรจาต่อรองกับปักกิ่งมาอย่างยาวนาน ทำนายว่าจีนจะไม่ยอมรับข้อเสนอใดๆ ที่จะให้ตนเองกลาย “เป็นคนกลางไกล่เกลี่ย” ระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ตรงกันข้ามจีนจะเสนอตัวในการ “อำนวยความสะดวกให้แก่การอภิปรายหารือ” ของสองประเท ความแตกต่างของ 2 สิ่งนี้มีความสำคัญ เนื่องจากอย่างหลังนั้น มันจะเปิดทางให้จีนสามารถอ้างประโยชน์จากความสำเร็จใดๆ ก็ตามที่อาจเกิดขึ้นมา โดยไม่ต้องเข้าไปเป็นเจ้าของกระบวนการเจรจาต่อรองกันซึ่งอาจจะประสบความล้มเหลวก็ได้
ไม่ว่าจะมีอะไรออกมาจากการพบปะหารือในกรุงโรมครั้งนี้ก็ตามที การปฏิวัติในทางการทูตก็ได้เกิดขึ้นมาแล้ว หลังจากอดทนมาเป็นเวลานานปีท่ามกลางการถูกตำหนิกล่าวโทษในทางการทูต ทั้งจากเรื่องการเรียกร้องต้องการดินแดนในทะเลจีนใต้, การจัดการกับเรื่องฮ่องกง, การปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ ฯลฯ จีนจะก้าวเดินเข้าสู่พื้นที่ซึ่งสาดส่องเจิดจ้าด้วยแสงไฟสปอตไลต์ระดับโลก ในฐานะผู้มีส่วนร่วมรายหนึ่งที่ไม่อาจขาดหายไปได้ ในการเสาะแสวงหาทางออกให้แก่วิกฤตการณ์ระหว่างประเทศครั้งที่มีอันตรายมากที่สุดของโลกในรอบ 1 เจเนอเรชั่น