ไปกันคนละทิศ ผู้อำนวยการซีไอเอเชื่อ สี จิ้นผิง “หวั่นไหว” กับปัญหาต่างๆ ที่รัสเซียเผชิญในการรุกรานยูเครน ตลอดจนเรื่องที่สงครามคราวนี้ทำให้อเมริกาและยุโรปยิ่งแนบแน่น แต่ทางด้านบิ๊กข่าวกรองออสเตรเลียกลับมองต่างมุมว่า ขณะนี้ได้เกิด “การบรรจบกันทางยุทธศาสตร์ครั้งใหม่” ระหว่างปักกิ่งกับมอสโก และดูเหมือนประมุขจีนกำลังวางแผนครอบงำภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเพื่อใช้เป็นฐานชิงตำแหน่งมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลกจากอเมริกา
วิลเลียม เบิร์นส์ ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ไปให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันอังคาร (8 มี.ค.) ว่า เขาคิดว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และบรรดาผู้นำจีนรู้สึกหวั่นไหวเล็กน้อยกับสิ่งที่เห็นในยูเครน เพราะไม่คิดว่า รัสเซียจะเจอปัญหาหนักขนาดนี้
หลังจากบุกยูเครนเกือบ 2 สัปดาห์ ฝ่ายตะวันตกบอกว่ากองทหารรัสเซียยังรุกคืบได้ไม่มากนัก โดยที่กระทรวงกลาโหมอเมริกัน (เพนตากอน) ประเมินว่ามอสโกเสียทหารถึง 4,000 นายแล้ว และเผชิญการต้านทานแข็งแกร่งเกินคาดจากกองกำลังของฝ่ายยูเครน
ปักกิ่งปฏิเสธที่จะเรียกการบุกยูเครนของรัสเซียว่าเป็น “การรุกราน” รวมทั้งย้ำว่า มิตรภาพระหว่างสองประเทศยังคง “มั่นคงดั่งหินผา” ถึงแม้มอสโกถูกประณามจากนานาชาติก็ตามที ขณะเดียวกัน จีนแสดงท่าทีเปิดกว้างในการเข้าช่วยเหลือเป็นตัวกลางเพื่อยุติสงครามคราวนี้
เมื่อวันอังคาร (8) ระหว่างการประชุมทางไกลกับประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี สี เรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้นระดับสูงสุดในเรื่องยูเครน พร้อมกับเรียกวิกฤตคราวนี้ว่า “น่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง”
ประธานาธิบดีของจีนกล่าวด้วยว่า เขาต้องการให้รัสเซียกับยูเครน “รักษาโมเมนตัมของการเจรจากัน เอาชนะความยากลำบากต่างๆ และพูดจากันต่อไปเพื่อบรรลุข้อตกลง” ทั้งนี้ ตามรายงานของ ซีซีทีวี สถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของทางการจีน
สำหรับ เบิร์นส์ ผู้อำนวยการซีไอเอคนปัจจุบัน เป็นนักการทูตที่ได้รับความยอมรับนับถือมานาน 3 ทศวรรษ รวมทั้งเคยเป็นเอกอัครราชทูตประจำมอสโก เขาบอกกับคณะกรรมาธิการของสภาล่างสหรัฐฯ ด้วยว่า คณะผู้นำจีนมีความกังวลว่า ชื่อเสียงของพวกเขาจะเสียหายจากการร่วมมือใกล้ชิดกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน รวมทั้งวิตกถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเป็นพันธมิตรกับมอสโก ขณะที่อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนชะลอลงมากอยู่แล้วเมื่อเทียบกับช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา
นายใหญ่ซีไอเอสำทับว่า ปักกิ่งยังกังวลกับผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์ในวงกว้างจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งรวมถึงการผลักดันให้ยุโรปหันไปร่วมมือกับอเมริกาใกล้ชิดขึ้น
อย่างไรก็ดี ทางด้านออสเตรเลียซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญรายหนึ่งของสหรัฐฯ กลับมองตรงกันข้าม โดย แอนดรูว์ เชียเรอร์ อธิบดีสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ กล่าวในการประชุมที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ออสเตรเลียน ไฟแนนเชียล รีวิวเมื่อวันพุธ (9) ว่า ขณะนี้ปักกิ่งกับมอสโกมี “การบรรจบกันทางยุทธศาสตร์ครั้งใหม่ที่มีแนวโน้มจะสร้างความยุ่งยากขึ้นมา” รวมทั้งมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นที่จะเกิดการขัดแย้งสู้รบกันระหว่างมหาอำนาจ สืบเนื่องจากรัสเซียรุกรานยูเครน
เชียเรอร์ แจงว่า ดูเหมือน สี กำลังวางแผนครอบงำอินโด-แปซิฟิก และใช้ภูมิภาคนี้ใช้เป็นฐานสำหรับการเอาชนะอเมริกาในการเป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลก
ความคิดเห็นของเชียเรอร์ตอกย้ำคำเตือนที่ว่า การบุกยูเครนของรัสเซียอาจลุกลามกลายเป็นการขัดแย้งสู้รบระดับภูมิภาคหรือระดับโลกขึ้นมา โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย ออกมาเรียกร้องเหล่าประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยม หยุดยั้งกลุ่มแนวร่วมเผด็จการ ซึ่งกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าของโลก
บิ๊กข่าวกรองแดนจิงโจ้ยังสนับสนุนข้อสังเกตของพวกนักวิจารณ์ในตะวันตกที่ว่า ประหลาดใจที่เห็นยูเครนต้านทานรัสเซียอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เขาคิดว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นลางบอกเหตุว่า จะเกิดการนองเลือดและการโจมตีอย่างโหดร้ายอีก 2-3 สัปดาห์ เนื่องจากปูตินต้องเดิมพันทุกสิ่งในขณะนี้ และยากที่จะเห็นการลงจากหลังเสืออย่างสง่างาม
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์)