xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญชี้สงครามถล่มยูเครน วัดใจจีนมิตรแท้รัสเซียแน่หรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สามสัปดาห์ที่แล้ว ผู้นำจีนและรัสเซียประกาศว่า มิตรภาพระหว่างสองประเทศ “ไร้ขีดจำกัด” ระหว่างพบกันในปักกิ่งก่อนเปิดงานโอลิมปิกฤดูหนาว และก่อนที่มอสโกจะเปิดฉากบุกยูเครน ซึ่งถือเป็นเดิมพันสำคัญวัดใจว่า ปักกิ่งจริงจังกับมิตรภาพนี้มากน้อยแค่ไหน

ช่วงไม่กี่ปีมานี้สองชาติเพื่อนบ้านที่ครอบครองนิวเคลียร์ใกล้ชิดกันมากขึ้น บ่งชี้แนวโน้มการจับมือเป็นพันธมิตรของประเทศเผด็จการที่อาจท้าทายตะวันตกในสงครามเย็นยุคใหม่ อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์เป็นเช่นนั้นจริงๆ จีนก็มีความเสี่ยงจะตองสูญเสียอะไรมากมาย และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็โจมตีพวกที่วาดภาพจีนเป็นภัยคุกคามว่า เป็นพวกที่มีความคิดจิตใจล้าหลังเหมือนยังอยู่ในยุคสงครามเย็น

การอุบัติขึ้นของพันธมิตรจีน-รัสเซีย เวลานี้ยังห่างไกลจากข้อสรุป ข้อเท็จจริงยังมีอยู่ว่า การค้าที่ทำกับยุโรปและอเมริกายังคงเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน ถึงแม้เรื่องที่ปักกิ่งงัดข้อกับวอชิงตันในหลายประเด็น และความต้องการพลังงานทำให้จีนต้องกระชับสัมพันธ์กับรัสเซียใกล้ชิดขึ้น

แอนโทนี ซิช ผู้เชี่ยวชาญด้านจีน ระบุในโพสต์ถาม-ตอบบนเว็บไซต์ของแอช เซ็นเตอร์ ฟอร์ เดโมเครติก กอฟเวอร์แนนซ์ แอนด์ อินโนเวชันของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดว่า ความขัดแย้งในยูเครนจะเป็นตัวตีแผ่ให้ทราบว่า จีนกับรัสเซียมีความผูกพันลึกซึ้ง หรือเป็นเรื่องการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เป็นหลักเท่านั้น

ซิชเบอกว่า มีการกระทำอยู่ 3 อย่างที่จะบ่งชี้ว่า จีนล่มหัวจมท้ายกับรัสเซีย ได้แก่ การที่ปักกิ่งใช้อำนาจวีโต้แทนที่จะงดออกเสียงในร่างญัตติของสหประชาชาติที่วิจารณ์การกระทำของรัสเซีย, การรับรองรัฐบาลหุ่นเชิดในยูเครนที่รัสเซียจัดตั้งขึ้น, และการปฏิเสธที่จะเรียกการโจมตียูเครนของรัสเซียว่าเป็นการรุกรานแม้หลังจากมีการยืนยันว่า มีพลเรือนเสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ (25 ก.พ.) ในการลงมติร่างญัตติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็น ที่เรียกร้องให้รัสเซียยุติการโจมตียูเครน ปรากฏว่า จีน อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต่างงดออกเสียง ส่วนรัสเซียเองใช้อำนาจวีโต้

จีนงดออกเสียงอีกครั้งในวันอาทิตย์ (27 ก.พ.) แม้เป็นขั้นตอนที่ไม่เปิดโอกาสให้วีโต้ก็ตาม

สือ อินหง ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยเหรินหมิน ของจีน ตีความว่า การงดออกเสียงสองครั้งแสดงว่า จีนระมัดระวังมากขึ้นขณะที่ทั่วโลกวิจารณ์และต่อต้านการบุกของรัสเซียอย่างกว้างขวาง

ด้านหลี่ ฟาน อาจารย์ด้านรัสเซียศึกษา ของมหาวิทยาลัยเหรินหมิน กล่าวว่า จีนและรัสเซียเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นมิตรกันและเป็นมิตรกัน แต่จีนไม่เข้าข้างฝ่ายใดในวิกฤตยูเครน

สำหรับเรื่องที่รัสเซียประกาศยกระดับการเตรียมพร้อมของกองกำลังนิวเคลียร์เมื่อวันอาทิตย์ (27 ก.พ.) ซึ่งส่งผลให้วิกฤตการณ์ตึงเครียดมากขึ้นนั้น อาจทำให้จีนระวังยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ

การที่จีนกระทำการต่างๆ โดยคำนึงถึงการรักษาสมดุลเช่นนี้ ช่วยอธิบายว่าทำไมบางครั้งบางคราวจีนจึงดูเหมือนมีจุดยืนที่ขัดแย้งกันเองในเรื่องที่รัสเซียบุกยูเครน ตลอดจนการที่พวกเจ้าหน้าที่จีนพยายามหลีกเลี่ยงไม่ต้องการตอบคำถามบางข้อ
เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้เรียกว่า การรุกรานหรือไม่

ปักกิ่งกล่าวว่า อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของทุกประเทศเป็นสิ่งที่ต้องเคารพ ซึ่งเป็นจุดยืนที่ตรงข้ามกับการรุกราน แต่ขณะเดียวกัน จีนไม่เห็นด้วยกับการแซงก์ชันรัสเซีย ซ้ำกล่าวโทษว่า ต้นเหตุของวิกฤตการณ์ครั้งนี้มาจากการที่อเมริกาและองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) แผ่ขยายอิทธิพลในยุโรปตะวันออก

ระหว่างการหารือทางโทรศัพท์กับรัฐมนตรีต่างประเทศของยุโรปหลายคนเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันคือสิ่งที่จีนไม่ต้องการให้เกิดขึ้น และเรียกร้องให้เปิดเจรจาเพื่อยุติวิกฤต แต่ละเว้นการวิจารณ์รัสเซียเช่นเคย

นอกจากนั้นยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า ปูตินขอการสนับสนุนจากสีหรือไม่ตอนที่ไปร่วมพิธีเปิดโอลิมปิกเมื่อวันที่ 4 เดือนที่แล้ว

หลังการพบกันของสีกับปูตินมีการออกแถลงการณ์ร่วมประกาศว่า มิตรภาพของสองชาติไร้ขีดจำกัด และไม่มีกรณีต้องห้ามสำหรับการร่วมมือกัน

แถลงการณ์ดังกล่าวต่อต้านการขยายอิทธิพลและแนวร่วมของนาโตโดยวิจารณ์ว่า เป็นการปลุกปั่นความเป็นปฏิปักษ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งน่าจะหมายถึงความพยายามของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในการกระชับสัมพันธ์กับประเทศประชาธิปไตยขณะที่อิทธิพลของจีนแผ่ขยายมากขึ้น

แถลงการณ์สี-ปูตินกล่าวหา “ตัวละคร” ที่ไม่ระบุชื่อว่า ส่งเสริมแนวทางทำอะไรตามอำเภอใจตนเองฝ่ายเดียว และหันไปใช้กำลังเป็นตัวจัดการปัญหาระหว่างประเทศ การพูดเช่นนี้อาจไม่ได้หมายถึงสงครามของอเมริกาในอิรักและอัฟกานิสถานเท่านั้น แต่ยังอาจรวมถึงสงครามของรัสเซียในยูเครนด้วย

อย่างไรก็ดี คำแถลงนี้ยังประกาศว่า ความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างรัสเซียและจีน นั้นเหนือกว่าพันธมิตรทางการเมืองและการทหารในยุคสงครามเย็น

ซิชมองว่า แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นก้าวย่างสำคัญในความสัมพันธ์ของสองมหาอำนาจ แต่ยังเร็วเกินไปที่จะมองว่าทั้งคู่เป็นพันธมิตรกันอย่างแน่นอนแล้วชัดเจนแล้ว

เมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วท่ามกลางสงครามเย็น จีนกับอเมริกามีจุดยืนร่วมกันในการต่อต้านรัสเซีย แต่เดือนนี้ซึ่งจะเป็นวาระครบรอบ 50 ปีการเยือนจีนครั้งประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันของอเมริกา ความสัมพันธ์สามเส้าของมหาอำนาจเหล่านี้เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน เพราะอเมริกากับจีนบาดหมางกันอย่างหนัก ขณะเดียวกับที่ปักกิ่งและมอสโกถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมากขึ้น

(ที่มา: เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น