สหรัฐฯ ประกาศมาตรการคว่ำบาตรบริษัท นอร์ด สตรีม ทู เอจี (Nord Stream 2 AG) ซึ่งรับผิดชอบโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติ “นอร์ด สตรีม 2” จากรัสเซียเข้าไปยังเยอรมนี เพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลเครมลิน หลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ประกาศรับรองเอกราชให้แก่ 2 แคว้นกบฏยูเครนตะวันออก
บทลงโทษของสหรัฐฯ นั้นพุ่งเป้าไปที่ตัวบริษัท นอร์ด สตรีม ทู เอจี รวมถึงแมทเธียส วาร์นิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) โดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ออกใบอนุญาตทั่วไป (general license) ให้มีการ “ลด” การทำธุรกรรมการเงินกับบริษัทแห่งนี้ไปจนถึงวันที่ 2 มี.ค.
รัฐบาลเยอรมนีได้สั่งระงับโครงการท่อส่งก๊าซมูลค่า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนี้เมื่อวันอังคาร (22 ก.พ.) เพื่อตอบโต้การกระทำของรัสเซียต่อยูเครน ซึ่งที่ผ่านมาโครงการนอร์ด สตรีม 2 เผชิญกระแสคัดค้านจากสหรัฐฯ และหลายประเทศในอียู เนื่องจากเกรงกันว่ามันจะทำให้ยุโรปพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียมากเกินไป และยังกระทบต่อรายได้ของยูเครนซึ่งเป็นเส้นทางผ่านของท่อส่งก๊าซจากรัสเซียอีกสายหนึ่ง
ปัจจุบันท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม 2 แม้จะก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดใช้งาน เนื่องจากต้องรอการอนุมัติจากเยอรมนีและสหภาพยุโรปเสียก่อน
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ แถลงวานนี้ (23) ว่า วอชิงตันได้ประสานงานใกล้ชิดกับเยอรมนีเกี่ยวกับโครงการนอร์ด สตรีม 2
“และวันนี้ผมได้มีคำสั่งให้คณะบริหารของผมออกมาตรการแซงก์ชัน นอร์ด สตรีท ทู เอจี รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง” ไบเดน กล่าว
“มาตรการเหล่านี้คือหนึ่งในบทลงโทษชุดแรกๆ ที่เราใช้ตอบโต้การกระทำของรัสเซียในยูเครน อย่างที่ผมได้กล่าวชัดเจนไปแล้วว่า เราไม่ลังเลที่จะดำเนินการเพิ่มเติม หากรัสเซียยังไม่หยุดกระพือความตึงเครียด”
ทั้งนี้ มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ จะไม่ส่งผลกระทบไปถึง แกร์ฮาร์ท ชเรอเดอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนีซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับปูติน และดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการผู้ถือหุ้นนอร์ด สตรีม มาตั้งแต่ปี 2005
ที่มา : รอยเตอร์