xs
xsm
sm
md
lg

โอละพ่อ! ข้อมูลใหม่ชี้ชิ้นส่วนจรวดที่จะ ‘พุ่งชนดวงจันทร์’ เป็นของ 'จีน' ไม่ใช่ SpaceX

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักดาราศาสตร์ออกมาเผยล่าสุดว่า ชิ้นส่วนจรวดที่คาดว่าจะพุ่งชนดวงจันทร์ในราวๆ เดือน มี.ค. ไม่ได้มาจากจรวดเก่าของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) อย่างที่พวกเขาเข้าใจกันแต่แรก แต่น่าจะเป็นชิ้นส่วนของจรวดที่ “จีน” ใช้ส่งยานไปสำรวจดวงจันทร์เมื่อปี 2014

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการพุ่งชนครั้งนี้จะไม่ก่อผลกระทบที่รุนแรงอะไรนัก

นักดาราศาสตร์เริ่มสังเกตเห็นเจ้าชิ้นส่วนนี้เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา และคำนวณว่ามันจะพุ่งเข้าชนกับดวงจันทร์ในวันที่ 4 มี.ค.

ก่อนหน้านี้ บิลล์ เกรย์ (Bill Gray) ซึ่งเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูล เชื่อว่ามันคือบูสเตอร์ของจรวด Falcon 9 ที่สเปซเอ็กซ์ใช้นำดาวเทียมพยากรณ์อากาศดวงหนึ่งขึ้นสู่อวกาศในปี 2015 ทว่าล่าสุด เกรย์ ได้ออกมายอมรับว่าเขาวิเคราะห์พลาดไป และชิ้นส่วนนี้น่าจะมาจากการส่งยานอวกาศหุ่นยนต์ทดลอง “ฉางเอ๋อ 5-T1” ไปดวงจันทร์เมื่อเดือน ต.ค. ปี 2014

ศาสตราจารย์โจนาธาน แมคโดเวลล์ จากศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียน (based Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics) ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า ตน “เห็นด้วย” กับการวิเคราะห์ล่าสุดของ เกรย์ และมั่นใจถึง 80% ว่าเศษชิ้นส่วนที่กำลังจะพุ่งชนดวงจันทร์ในวันที่ 4 มี.ค. มาจากจรวดที่จีนส่งขึ้นไปอวกาศเมื่อปี 2014 และถือเป็นขยะอวกาศ (space junk) ชิ้นแรกที่มีการรับรู้กันว่าจะพุ่งชนดวงจันทร์อย่างไร้การควบคุม

แมคโดเวลล์ ย้ำว่า การระบุแหล่งที่มาของขยะอวกาศแต่ละชิ้นนั้น “เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน” และบางครั้งก็อาจผิดพลาดกันได้

กองกำลังอวกาศสหรัฐฯ (US Space Force) มีทีมเจ้าหน้าที่ซึ่งคอยเฝ้าติดตามวัตถุต่างๆ ที่จะเข้ามาใกล้โลก ส่วนขยะอวกาศซึ่งอยู่ไกลออกไปจะถูกทิ้งให้ล่องลอยไปเรื่อยๆ โดยไม่ถูกติดตาม

ด้านองค์การอวกาศแห่งยุโรป (ESA) ชี้ว่า “ผลวิเคราะห์ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องยกระดับประสิทธิภาพด้านการติดตามวัตถุในอวกาศ รวมถึงมีการแชร์ข้อมูลให้มากขึ้นระหว่างผู้ควบคุมยานอวกาศ ผู้ให้บริการจรวดขนส่งอวกาศ ตลอดจนประชาคมนักดาราศาสตร์และเครือข่ายเฝ้าระวังอวกาศ”

ที่มา : บีบีซี
กำลังโหลดความคิดเห็น