ชิ้นส่วนของจรวดเก่าลำหนึ่งของสเปซเอ็กซ์ กำลังมุ่งหน้าเข้าหาดวงจันทร์ และคาดหมายว่าจะพุ่งชนดวงจันทร์ในเดือนมีนาคม สำนักข่าวสกายนิวส์ และซีเอ็นเอ็นรายงานโดยอ้างข้อมูลจากพวกผู้เชี่ยวชาญ
จรวดบูทเตอร์ฟอลคอล 9 ของบริษัทอวกาศของอีลอน มัสก์ ล่องลอยอยู่ในอวกาศมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2015 ครั้งที่มันช่วยนำดาวเทียมพยากรณ์อากาศดวงหนึ่งขึ้นสู่วงโคจร
เวลานี้คาดหมายว่ามันจะพุ่งชนดวงจันทร์ในวันที่ 4 มีนาคม ด้วยความเร็ว 2.58 กิโลเมตรต่อวินาที จากความเห็นของบิล เกรย์ นักวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งติดตามวัตถุใกล้โลก พร้อมระบุว่า เท่าที่ทราบมันถือเป็นเคสขยะอวกาศพุ่งชนดวงจันทร์โดยไม่ตั้งใจเป็นกรณีแรกเลยก็ว่าได้
ด้าน โจนาธาน แมคโดเวลล์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็คาดหมายว่าชิ้นส่วนจรวดดังกล่าวจะพุ่งชนดวงจันทร์ "สำหรับคนที่สอบถามมา ใช่ ท่อนที่ 2 ของจรวดเก่าฟอลคอล 9 ซึ่งล่องลอยอยู่ในวงโคจรมาตั้งแต่ปี 2015 กำลังพุ่งชนดวงจันทร์ในวันที่ 4 มีนาคม มันเป็นเรื่องน่าสนใจ แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร" เขาเขียนบนทวิตเตอร์
แมคโดเวลล์ บอกว่า ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ชิ้นส่วนจรวดซึ่งไม่สามารถควบคุมได้พุ่งชนดวงจันทร์ แต่จะมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ที่ผ่านมา เคยมีการส่งยานอวกาศพุ่งชนดวงจันทร์เพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มาก่อน
แมคโดเวลล์ บอกด้วยว่า ที่ผ่านมาชิ้นส่วนจรวดถูกเหวี่ยงไปมาด้วยแรงโน้มถ่วงของทั้งโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ ทำให้ลอยอย่างไร้ทิศทาง และเราจะไม่สามารถเห็นผลกระทบขณะชิ้นส่วนจรวดน้ำหนัก 4 ตันพุ่งชนดวงจันทร์จากโลกในเวลาจริงได้ แต่แรงกระแทกจะทำให้เกิดหลุมที่นักวิทยาศาสตร์จะสามารถสังเกตเห็นได้จากยานอวกาศและดาวเทียม และจากการสำรวจสภาพธรณีวิทยาของดวงจันทร์
บิล เกรย์ นักวิจัยอิสระที่มุ่งเน้นเรื่องพลวัตของวงโคจร ซึ่งเป็นคนแรกที่ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ระบุว่า จากการคำนวณของเขา ชิ้นส่วนจรวดจะพุ่งชนดวงจันทร์ บริเวณด้านเหนือของเส้นศูนย์สูตรเล็กน้อย "ภายในช่วงนาทีของ 7.26 น. (ตามเวลาเขตเวลาตะวันออก ET) ของวันที่ 4 มีนาคม แนวทางการเคลื่อนไหวของวัตถุนี้ทำให้มันเป็นเรื่องยากที่จะระบุตำแหน่งที่แน่ชัด" แม้มีความเป็นไปได้ที่มันจะเปลี่ยนเส้นทางเพียงไม่กี่กิโลเมตร
"ตอนนี้เราไม่อาจได้ข้อมูลเพิ่มเติม เพราะว่าวัตถุเข้าใกล้พระอาทิตย์บนท้องฟ้า ในวันที่ 7 และ 8 กุมภาพันธ์ เราจะมีโอกาสสั้นๆ ที่จะดูมันและจะได้ข้อมูลเพิ่มเติม นอกเหนือจากได้ข้อสรุปเรื่องเวลาและสถานที่ที่แน่ชัดกว่าเดิม" เกรย์ กล่าว
นอกจากนี้ เกรย์ เตือนว่า อาจมีวัตถุพุ่งชนดวงจันทร์โดยไร้การควบคุมอีกในอนาคต ในเมื่อโครงการอวกาศของทั้งสหรัฐฯ และจีน จะทำให้มีขยะโคจรอยู่ในอวกาศมากยิ่งขึ้น ส่วนแมคโดเวลล์ บอกด้วยว่า ถึงเวลาที่ควรจะเริ่มกำหนดกฎข้อบังคับเพื่อติดตามขยะอวกาศที่ถูกทิ้งอยู่ในวงโคจรของโลก
ด้านองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) เผยแพร่ถ้อยแถลงเกี่ยวกับการติดตามวัตถุดังกล่าวในวันพฤหัสบดี (27 ม.ค.) "นาซากำลังติดตามการโคจรของจรวดท่อน 2 ของฟอลคอล 9 ของสเปซเอ็กซ์ ซึ่งสนับสนุนกองทัพอากาศสหรัฐฯ (เวลานี้คือกองกำลังอวกาศสหรัฐฯ) ในการส่งดาวเทียม Deep Space Climate Observatory (DSCOVR) ขึ้นไปปฏิบัติภารกิจในปี 2015"
ถ้อยแถลงจาก คาเรน ฟ็อกซ์ เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของฝ่ายสื่อสารวิทยาศาสตร์ของนาซา เปิดเผยต่อว่า "ภารกิจนี้เป็นความร่วมมือระหว่างนาซา องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติและกองทัพอากาศสหรัฐฯ ท่อนที่ 2 ถูกใส่เข้าไปในเจตนาให้จรวดพุ่งออกนอกโลก และจากวงโคจรในปัจจุบันของมัน คาดหมายว่าท่อนที่ 2 จะตกกระทบด้านไกลของดวงจันทร์ในวันที่ 4 มีนาคม 2022"
(ที่มา : สกายนิวส์/ซีเอ็นเอ็น)