นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ แห่งเยอรมนี เดินทางถึงกรุงเคียฟของยูเครนแล้วในวันนี้ (14 ก.พ.) และมีแผนที่จะต่อไปยังกรุงมอสโกของรัสเซีย โดยหวังสกัด “ภัยคุกคามร้ายแรง” จากปฏิบัติการรุกรานของกองทัพหมีขาวซึ่งอาจกลายเป็นชนวนสู่วิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดในยุคหลังสงครามเย็น
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียได้สั่งให้กองทัพส่งทหารกว่า 100,000 นายไปตรึงกำลังล้อมพรมแดนยูเครนไว้เกือบทุกทาง นับเป็นการวางเดิมพันครั้งใหญ่ที่สุดกับโลกตะวันตก หลังจากที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) แผ่สยายอิทธิพลเข้าไปสู่ประเทศที่เคยเป็นรัฐบริวารของเครมลินมากขึ้นทุกที
สหรัฐฯ และชาติตะวันตกยังคงมีท่าทีแข็งขืนต่อข้อเรียกร้องของ ปูติน ที่ต้องการให้กลุ่มพันธมิตรนาโต้หยุดเสริมกำลังทหารมาทางตะวันออก และสัญญาว่าจะไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯ เตือนว่า การเจรจาที่ยืดเยื้อมานานหลายสัปดาห์อาจยิ่งทำให้รัสเซียมี “เวลา” สำหรับการเตรียมความพร้อมบุกยูเครน หากท้ายที่สุดแล้ว ปูติน ตัดสินใจเด็ดขาดว่าจำเป็นต้องทำ
วอชิงตันได้แถลงย้ำเตือนอีกครั้งในวันอาทิตย์ (13) ว่า รัสเซียพร้อมจะส่งทหารโจมตียูเครน “ได้ทุกเมื่อ” ซึ่งอาจจะเริ่มจากการ “ระดมยิงขีปนาวุธและโจมตีด้วยระเบิด”
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยืนยันว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน “ต่างเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่จะต้องยึดแนวทางการทูตและการป้องปราม” ต่อไป ขณะที่ตัวผู้นำยูเครนเองได้เชื้อเชิญไบเดน ให้ไปเยือนกรุงเคียฟด้วย
ด้านผู้นำเยอรมนีระบุว่า พร้อมที่จะให้การสนับสนุนยูเครนเต็มที่ และจะมีมาตรการคว่ำบาตรสถานหนัก “ทันที” หากรัสเซียเริ่มต้นก่อสงคราม
“ในกรณีที่มีการส่งทหารรุกรานจนเป็นภัยคุกคามต่อบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตยของยูเครน มันจะนำไปสู่การคว่ำบาตรที่เราได้ตระเตรียมเอาไว้อย่างดีแล้ว และสามารถบังคับใช้ได้ทันที” ชอลซ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนจะออกเดินทางไปยูเครน
เยอรมนีและฝรั่งเศสมีบทบาทสำคัญในการช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อยุติการสู้รบระหว่างยูเครนกับกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออก ซึ่งได้คร่าชีวิตพลเมืองไปแล้วกว่า 14,000 คน แต่เนื่องจากรัสเซียมีสายสัมพันธ์ด้านธุรกิจที่ใกล้ชิดกับมอสโก แถมยังต้องพึ่งพา “ก๊าซธรรมชาติ” นำเข้าจากรัสเซีย จึงเป็นประเด็นที่ทำให้กลุ่มผู้นำยูเครนที่โปรตะวันตก รวมไปถึงทีมงานของไบเดน กังวลอยู่พอสมควร
แม้ ชอลซ์ จะเตือนรัสเซียว่า “ไม่ควรดูเบาความเป็นเอกภาพและความมุ่งมั่น” ของนาโต้ แต่ก็ไม่ได้เอออวยไปกับแผนของ ไบเดน ที่ขู่จะปิดท่อส่งก๊าซ “นอร์ดสตรีม 2” ที่ลำเลียงก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเข้าไปยังเยอรมนี อีกทั้งยังปฏิเสธที่จะเอาอย่างบางประเทศที่ส่ง “อาวุธ” เข้าไปเสริมเขี้ยวเล็บให้แก่ยูเครน ซึ่งข้อนี้ทำให้รัฐบาลเคียฟไม่ค่อยพอใจเยอรมนีนัก
สำหรับการเยือนมอสโกของ ชอลซ์ ในวันพรุ่งนี้ (15) ยังเกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศมึนตึง หลังจากที่เยอรมนีสั่งแบนสถานีโทรทัศน์ RT DE ซึ่งเป็นสื่อของรัสเซียภาคภาษาเยอรมัน จนทำให้รัสเซียลุกขึ้นมาตอบโต้ด้วยการปิดสำนักงานของสื่อ Deutsche Welle ประจำกรุงมอสโกบ้าง
ที่มา : เอเอฟพี