xs
xsm
sm
md
lg

โกยเงินกันสนุก! อินโดฯ ซื้อฝูงบินรบฝรั่งเศสและอาจตามด้วยเรือดำน้ำ สหรัฐฯ อนุมัติขาย F-15 ท่ามกลางความตึงเครียดจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เครื่องบินขับไล่ราฟาลของฝรั่งเศส
อินโดนีเซียเมื่อวันพฤหัสบดี (10 ก.พ.) สั่งซื้อเครื่องบินขับไล่ราฟาลจากฝรั่งเศสจำนวน 42 ลำ และอาจซื้อเรือดำน้ำของปารีสอีก 2 ลำ ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ อนุมัติข้อเสนอจัดซื้อฝูงบิน F-15 จำนวน 36 ลำ ของจาการ์ตา ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

คำสั่งซื้อฝูงบินรบฝรั่งเศสครั้งแรกของอินโดนีเซีย มีขึ้นเนื่องจากจาการ์ตาต้องการนำมันมาทดแทนฝูงบินเดิมที่มีอายุการใช้งานมานาน หลักๆ ประกอบด้วย F-16 ของสหรัฐฯ และซูคอยของรัสเซีย ท่ามกลางความกังวลที่มีมากขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดหนักหน่วงขึ้นระหว่างอเมริกากับจีนในเอเชีย

ข้อตกลงสั่งซื้อฝูงบินราฟาลถูกแถลงออกมา ระหว่างที่ ปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีกลาโหมของอินโดนีเซียพบปะกับ ฟลอรองซ์ ปาร์ลีย์ รัฐมนตรีกลาโหมของฝรั่งเศส ในกรุงจาการ์ตา

ซูเบียนโต แถลงยืนยันบรรลุข้อตกลงซื้อเครื่องบินรบราฟาลจากฝรั่งเศส จำนวน 42 ลำ โดยสัญญาที่ลงนามในวันพฤหัสบดี (10 ก.พ.) เป็นสำหรับ 6 ลำ และจะมีตามมาภายหลังสำหรับ 36 ลำ

กระทรวงกลาโหมฝรั่งเศสระบุว่า สัญญาสำหรับขายเครื่องบิน 42 ลำ และอาวุธอื่นๆ ในครั้งนี้มีมูลค่าทั้งสิ้น 8,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 265,000 ล้านบาท)

โฆษกกระทรวงกลาโหมฝรั่งเศสระบุว่า ทั้งสองประเทศยังได้ลงนามในหนังสือฉบับหนึ่ง ในการแสดงเจตจำนงวิจัยและพัฒนา ในความตั้งใจของอินโดนีเซียที่จะสั่้่งซื้อเรือดำน้ำ Scorpene ของฝรั่งเศส จำนวน 2 ลำ

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่ากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อนุมัติความเป็นไปได้ที่จะขายฝูงบิน F-15 พร้อมด้วยยุทโธปกรณ์ทางทหารต่างๆ แก่อินโดนีเซีย มูลค่าราว 14,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 450,000 ล้านบาท)

ถ้อยแถลงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า ข้อเสนอขายนี้ "จะช่วยส่งเสริมความมั่นคงแก่พันธมิตรในภูมิภาคที่สำคัญหนึ่งๆ ซึ่งเป็นกองกำลังเพื่อเสถียรภาพทางการเมือง และความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซฟิก" พร้อมระบุต่อว่า "มันจะไม่เปลี่ยนพื้นฐานสมดุลทางทหารในภูมิภาค"

ในถ้อยแถลงไม่ได้พาดพิงจีน ซึ่งวอชิงตันกำลังหาทางคานอิทธิพลในภูมิภาค และไม่ได้บ่งชี้ว่าข้อเสนอขายนี้จะได้ข้อสรุปเมื่อไหร่

ข้อตกลงสั่งซื้อฝูงบินราฟาล เป็นสัญญาณล่าสุดแห่งความสัมพันธ์อันอบอุุ่นระหว่างจาการ์ตาและปารีส ในขณะที่ปารีสทบทวนความเป็นพันธมิตรกับภูมิภาคแห่งนี้ หลังจากข้อตกลงเรือดำน้ำมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์กับออสเตรเลียพังครืนลงในเดือนกันยายน

ฝรั่งเศสโกรธเคืองออสเตรเลียเป็นอย่างมากต่อข้อตกลงที่พังครืน โดยระบุว่า พวกเขาไม่เคยได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้าเลยว่า แคนเบอร์รากำลังเจรจาข้อตกลงใหม่ด้านกลาโหมกับสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร

เวลานี้ออสเตรเลียกำลังมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ภายใต้ข้อตกลงใหม่ด้านกลาโหมกับสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรที่เรียกว่า AUKUS ซึ่งดึงแคนเบอร์รา วอชิงตัน และลอนดอน ร่วมมือกันต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส เขียนบนทวิตเตอร์ แสดงความยินดีต่อการตัดสินใจของอินโดนีเซีย ที่เลือก "อุตสาหกรรมชั้นเลิศของฝรั่งเศส" พร้อมระบุว่าข้อตกลงฝูงบินราฟาลจะช่วยกระชับความเป็นพันธมิตรระหว่างสองชาติ

ในเดือนพฤศจิกายน ฝรั่งเศสและอินโดนีเซียกระชับความสัมพันธ์กันผ่านข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์หนึ่ง ระหว่างที่รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสเดินทางเยือนอินโดนีเซียเป็นเวลา 2 วัน

ปิแอร์ เอริต พอมเมลเลต์ ประธานบริษัทนาวาล กรุ๊ป ผูุ้ผลิตเรือและเรือดำน้ำ ซึ่งร่วมคณะไปจาการ์ตา พร้อมกับ ปาร์ลีย์ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับบริษัท พีที พาล ของอินโดนีเซีย โดยข้อตกลงดังกล่าวรวมไปถึงการถ่ายโอนเทคโนโลยี "แต่ทุกอย่างยังคงอยู่ในขั้นเจรจา" ในเรื่องของเรือดำน้ำ Scorpene แหล่งข่าวระบุ

Scorpene เป็นเรือดำน้ำจู่โจมพลังงานดีเซล-ไฟฟ้า มันมีศักยภาพบรรทุกตอร์ปิโด 18 ลูกและขีปนาวุธต่อต้านเรือ Exocet และสามารถดำลงไป ณ ความลึก 350 เมตร

นับตั้งแต่ข้อตกลงเรือดำน้ำออสเตรเลียพังครืนลง ฝรั่งเศสได้ยกระดับความสัมพันธ์กับพันธมิตรเก่าแก่อย่างญี่ปุ่น และอินเดีย เช่นเดียวกับหันหน้าสู่บรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น เช่น อินโดนีเซีย

อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในหลายชาติในเอเชียที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับข้อตกลง AUKUS โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเตือนว่ามันอาจโหมกระพือการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาค

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น