xs
xsm
sm
md
lg

ลงลึก ‘ปูติน’ จับมือ ‘สีจิ้นผิง’ เป็นหุ้นส่วนแบบ ‘ไม่มีขีดจำกัด’ หนุนหลังกันและกันเรื่องยูเครน-ไต้หวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน หารือกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันศุกร์ (4 ก.พ.) ก่อนทั้งคู่ไปร่วมพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิปิกฤดูหนาว
จีนกับรัสเซียประกาศในวันเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งวันศุกร์ (4 ก.พ.) ว่า ทั้งสองชาติจับมือเป็นหุ้นส่วนแบบ “ไม่มีขีดจำกัด” รวมทั้งประกาศหนุนหลังซื่งกันและกันในกรณียูเครนและไต้หวัน พร้อมกับคำมั่นสัญญาที่จะประสานร่วมมือเพิ่มมากขึ้นในการต่อต้านสหรัฐฯและฝ่ายตะวันตก

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เป็นเจ้าภาพการประชุมซัมมิตกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ในวันศุกร์คราวนี้ ซึ่งทั้งสองประเทศบอกว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาในปัจจุบันเหนือล้ำกว่าที่เคยเป็นพันธมิตรใดๆ กันมาในยุคสงครามเย็น นอกจากนั้น พวกเขาบอกว่าจะทำงานร่วมกันทั้งในอวกาศ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และการควบคุมอินเทอร์เน็ต

ฝ่ายปักกิ่งบอกว่า สนับสนุนข้อเรียกร้องของมอสโกที่ว่า องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรทางทหารของโลกตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ ไม่ควรยอมรับเอายูเครนเข้าเป็นสมาชิก สืบเนื่องจากเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของรัสเซีย ขณะที่เวลานี้รัสเซียชมนุมทหารราว 100,000 นายเอาไว้ใกล้ๆ ชายแดนติดกับเพื่อนบ้านของตนรายนี้ เวลาเดียวกันฝ่ายมอสโกก็แสดงการคัดค้านการเป็นเอกราชของไต้หวันไม่ว่ารูปแบบใดๆ

“มิตรภาพระหว่างรัฐทั้งสองนั้นไม่มีขีดจำกัดใดๆ ไม่มีพื้นที่แห่งการร่วมมือประสานงานใดๆ ที่ ‘ต้องห้าม’” ทั้งสองประเทศระบุเอาไว้ในคำแถลงร่วม

จังหวะเวลาในการประกาศของพวกเขาครั้งนี้มีลักษณะเป็นสัญลักษณ์อย่างสูง โดยเป็นขณะที่มหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพกำลังตัดริบบิ้นเริ่มต้นขึ้นมา แต่สหรัฐฯ นำทีมบางชาติตะวันตกบอยคอตต์ไม่ส่งผู้แทนทางการทูตไปเข้าร่วม

คำแถลงเรื่องสิ่งที่ตกลงกันในคราวนี้ถือเป็นคำแถลงซึ่งมีรายละเอียดมากที่สุดและแสดงท่าทียืนกรานหนักแน่นที่สุดของรัสเซียและจีน ที่จะทำงานร่วมกันอย่างเด็ดเดี่ยวเพื่อสร้างระเบียบระหว่างประเทศใหม่ซึ่งอิงอยู่กับทัศนะเรื่องสิทธิมนุษยชนและระบอบประชาธิปไตยของพวกเขา

ปูตินยังใช้โอกาสนี้ประกาศชัยชนะในการทำข้อตกลงซื้อขายแก๊สธรรมชาติและน้ำมันฉบับใหม่ๆ กับจีน ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 117,500 ล้านดอลลาร์ และมีหวังทำให้ยอดส่งออกจากดินแดนภาคตะวันออกไกลของรัสเซียพุ่งทะยาน

ด้านสหรัฐฯ ได้ตอบโต้กลับ โดยกล่าวว่า สี ควรใช้การหารือคราวนี้มาผลักดันให้มีการลดความตึงเครียดในยูเครนมากกว่า

แดเนียล คริเทนบริงค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียและแปซิฟิก บอกว่า การกระทำในแนวทางที่เขาเสนอนี้ คือสิ่งที่โลกคาดหวังจาก “พวกมหาอำนาจที่มีความรับผิดชอบ”

“ถ้ารัสเซียรุกรานยูเครนต่อไปอีก และจีนมองเมินไปอีกทางหนึ่ง มันก็จะบ่งชี้ว่า จีนมีความตั้งใจที่จะอดทนหรือสนับสนุนอ้อมๆ ต่อความพยายามของรัสเซียในการใช้อำนาจบังคับกับยูเครน ...” เขากล่าว ทั้งนี้เห็นชัดว่า เขาพูดเช่นนี้เพื่อให้ปักกิ่งพะวักพะวนกับความสัมพันธ์อันดีที่จีนยังคงมีอยู่กับยูเครน

มอสโกนั้นปฏิเสธเรื่อยมาว่า ไม่มีแผนการรุกรานยูเครน

แดเนียล รัสเซล แห่งสมาคมเอเชีย ซึ่งเคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียและแปซิฟิก ในคณะบริหารประธานาธิบดีบารัค โอบามา ให้ความเห็นว่า สี กับ ปูติน “กำลังประกาศความมุ่งมั่นของพวกเขาที่จะยืนอยู่ด้วยกัน และยืนคัดค้านสหรัฐฯ กับฝ่ายตะวันตก - พร้อมแล้วที่จะต้านทานการแซงก์ชัน และมุ่งแข่งขันกับความเป็นผู้นำในระดับโลกของอเมริกัน”

ขณะที่ยังไม่ได้ประกาศตัวเป็นพันธมิตรกันอย่างเป็นทางการ แต่ทั้งสอง “กำลังชูสิ่งที่ถือเป็นประเด็นร่วมขึ้นมา เพื่อใช้เป็นยุทธวิธีในการปกป้องผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องของพวกเขาให้ดียิ่งขึ้น และปกป้องระบบเผด็จการรวบอำนาจของพวกเขาจากแรงกดดันของฝ่ายตะวันตกได้ดียิ่งขึ้น” รัสเซล กล่าว

ทางด้าน เควิด รัดด์ อดีตนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประธานของสมาคมเอเชียอยู่ในปัจจุบัน ระบุในข้อเขียนซึ่งเผยแพร่วันเสาร์ (5) ว่า การที่ปักกิ่งหนุนหลังมอสโกเรื่องคัดค้านการขยายตัวของนาโต้เช่นนี้ “มีความสำคัญอย่างสูง”

ถือเป็น “ครั้งแรกภายหลังจากจีนกับสหภาพโซเวียตเกิดการแตกแยกกัน ที่จีนประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนในด้านความมั่นคงของยุโรป ด้วยการสนับสนุนรัสเซียในเรื่องซึ่งถือเป็นเรื่องระดับพื้นฐานอย่างเช่นนาโต้” รัดด์ ระบุ

“มันทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับทางยุโรปในวงกว้างตกอยู่ในความเสี่ยง” รัดด์ กล่าวต่อ “ทว่า สี เชื่อว่าเวลานี้เขามีอำนาจเพียงพอ และมีฐานะต่อรองทางเศรษฐกิจอย่างเพียงพอกับยุโรป จนสามารถเอาตัวรอดจากการกระทำเช่นนี้ได้ นอกจากนั้น มันยังเป็นสัญญาณแสดงว่า จีนเวลานี้มองตนเองในฐานะเป็นตัวแสดงด้านความมั่นคงในระดับโลกแล้ว ไม่ใช่ระดับภูมิภาคเท่านั้น”

การให้ความสนับสนุนซึ่งกันและกัน

ประเทศทั้งสองกำลังเคลื่อนเข้าหากันใกล้ชิดยิ่งขึ้นในระยะหลังๆ นี้ ขณะทั้งคู่ถูกฝ่ายตะวันตกกดดันหนักทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชนและประเด็นปัญหาอื่นๆ

ในเอกสารยาวเหยียด - ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษมีความยาวเกือบๆ 5,400 คำ - ที่ทั้งสองฝ่ายประกาศออกมาเมื่อวันศุกร์ แสดงให้เห็นว่า แต่ละฝ่ายต่างก้าวไปไกลยิ่งกว่าก่อนเป็นอย่างมาก ในการหนุนหลังอีกฝ่ายหนึ่งในเรื่องเกี่ยวกับจุดร้อนแรงแห่งความตึงเครียดกับฝ่ายตะวันตก เป็นต้นว่า
-- รัสเซียแสดงการสนับสนุนจุดยืนของจีนในเรื่องที่ว่าไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนที่ไม่อาจถูกแบ่งแยกกลายเป็นอย่างอื่นไปได้ รวมทั้งคัดค้านการที่เกาะแห่งนี้จะเป็นเอกราชไม่ว่าในรูปแบบใดๆ

-- มอสโกกับปักกิ่งแสดงการคัดค้านการจับกลุ่มเป็นพันธมิตรทางทหาร “ออกัส” (AUKUS) ระหว่างออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐฯ โดยระบุว่าเป็นการเพิ่มอันตรายให้เกิดการแข่งขันด้านกำลังรบในภูมิภาค

-- จีนเข้าร่วมกับรัสเซียในการเรียกร้องให้นาโต้ยุติการขยายสมาชิกภาพ และสนับสนุนข้อเรียกร้องของรัสเซียที่ต้องการได้หลักประกันด้านความมั่นคงจากฝ่ายตะวันตก

-- ทั้งสองประเทศแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับ “ความคืบหน้าในแผนการต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่มุ่งพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธขอบเขตทั่วโลก และติดตั้งส่วนประกอบของระบบนี้ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก โดยที่สหรัฐฯ มุ่งรวมระบบเช่นนี้เข้ากับการสร้างสมรรถนะของอาวุธที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ซึ่งมีความแม่นยำสูง เพื่อมุ่งขัดขวางการเข้าโจมตี (ของฝ่ายตรงข้าม) ตลอดจนบรรลุวัตถุประสงค์ในทางยุทธศาสตร์อื่นๆ”

นอกจากนั้น โดยที่ไม่ได้เอ่ยชื่อสหรัฐฯ ทั้งสองประเทศยังวิพากษ์วิจารณ์ความพยายามของ “บางรัฐที่ทราบกันอยู่” ซึ่งมุ่งวางตัวเป็นเจ้าผู้ครอบงำเหนือโลก แพร่ขยายการประจันหน้ากัน และบังคับกะเกณฑ์ให้ใช้ระบอบประชาธิปไตยตามมาตรฐานของพวกเขาเอง”

เทคโนโลยีและพลังงาน

ในเรื่องเทคโนโลยี รัสเซียกับจีนบอกว่า พวกเขาพร้อมแล้วที่จะเพิ่มความร่วมมือกันให้เข้มแข็งขั้นอีกในเรื่องปัญญาประดิษฐ์ และความมั่นคงด้านของข้อมูลข่าวสาร

พวกเขาบอกว่า พวกเขาเชื่อว่า “ความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะจำกัดสิทธิตามอธิปไตยของพวกเขาในการจัดระเบียบภาคส่วนระดับชาติต่างๆ ของอินเทอร์เน็ต และให้หลักประกันแก่ความมั่นคงของพวกเขานั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้”

เวลาเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายยังได้ลงนามในข้อตกลงทางยุทธศาสตร์หลายฉบับ รวมทั้งดีลทางด้านพลังงาน

รอสเนฟต์ รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานโดยเฉพาะเรื่องน้ำมันของรัสเซีย กับซีเอ็นพีซี กลุ่มรัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันของจีน ลงนามทำข้อตกลงที่จะส่งน้ำมันรัสเซียรวม 100 ล้านตันไปยังจีนโดยผ่านคาซัคสถาน ในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ไป โดยที่ รอสเนฟต์ ประกาศว่า ตนกลายเป็นผู้ส่งน้ำมันรายใหญ่กว่าใครๆ ให้แก่แดนมังกร รวมแล้วเป็นผู้ซัปพลายน้ำมันคิดเป็น 7% ของความต้องการทั้งหมดของจีนในแต่ละปี

นอกจากนั้น ซีเอ็นพีซี ยังลงนามในข้อตกลงกับ กาซปรอม รัฐวิสาหกิจด้านแก๊สธรรมชาติของรัสเซีย โดยทาง กาซปรอม แถลงว่า เมื่อมีการผลิตและจัดส่งกันเต็มศักยภาพแล้ว ปริมาณแก๊สที่ส่งไปให้จีน “จะเพิ่มขึ้นราว 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และยอดรวมจะไปถึงระดับ 48,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี”

ข้อตกลงเหล่านี้เป็นการปฏิบัติตามการขับดันของปูติน ที่ต้องการกระจายการส่งออกพลังงานของรัสเซีย ไม่ให้รวมศูนย์อยู่ที่การขายแก่โลกตะวันตก โดยแนวทางนี้เริ่มขึ้นหลังจากเขาขึ้นครองอำนาจในปี 1999 ไม่นานนัก นับแต่นั้นมารัสเซียก็กลายเป็นซัปพลายเออร์ด้านพลังงานรายใหญ่ที่สุดของจีน และลดทอนการที่มอสโกต้องพึ่งพารายรับจากโลกตะวันตกลงไป

เครมลินแถลงว่า ประธานาธิบดีทั้งสองยังได้หารือถึงความจำเป็นในการขยายการค้าที่ใช้สกุลเงินตราของแต่ละชาติ สืบเนื่องจากการใช้เงินดอลลาร์อเมริกันมีปัจจัยที่ไม่สามารถคาดทายได้

ทั้งนี้เห็นได้ชัดว่าหมายถึงการที่สหรัฐฯ อาจใช้เงินดอลลาร์เป็นเครื่องมือในการดำเนินการแซงก์ชัน ดังที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ แถลงว่า ถ้ารัสเซียรุกรานยูเครน มาตรการแซงก์ชันอย่างหนึ่งที่อาจนำมาใช้ คือ การทำให้พวกบริษัทรัสเซียถูกตัดขาดไม่สามารถใช้เงินดอลลาร์เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรม

(ที่มา : รอยเตอร์/เอพี/เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น