เกาหลีใต้ทำลายสถิติอีกครั้งด้วยยอดผู้ติดเชื้อทะลุ 13,000 คนเป็นครั้งแรกจากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน เช่นเดียวกับเยอรมนีที่จำนวนเคสใหม่พุ่งทำสถิติที่ 164,000 คน ด้าน WHO ออกรายงานย้ำความเสี่ยงโดยรวมของโอมิครอนยังถือว่าสูงมาก
คืนวันอังคาร (25 ม.ค.) องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกรายงานข้อมูลการระบาดของไวรัสโคโรนาประจำสัปดาห์ โดยระบุว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงวันอาทิตย์ (23) ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 21 ล้านคน ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดนับจากโควิดเริ่มระบาด และเพิ่มขึ้น 5% จากสัปดาห์ก่อนหน้าซึ่งมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 20% ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเกือบ 50,000 คน ใกล้เคียงกับสัปดาห์ก่อนหน้า
รายงานระบุว่า ประเทศที่โอมิครอนระบาดอย่างรวดเร็วในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมปีที่แล้ว ขณะนี้จำนวนเคสใหม่ลดลงแล้วหรือเริ่มลดลง กระนั้น จากหลักฐานที่มีอยู่ในขณะนี้ความเสี่ยงโดยรวมของโอมิครอนยังถือว่าสูงมาก
WHO เสริมว่า จากตัวอย่างที่เก็บในช่วง 30 วันที่ผ่านมาซึ่งได้รับการศึกษารหัสพันธุกรรมและอัปโหลดในศูนย์ข้อมูลกลางโควิดโลก “จิสเอด” พบว่า โอมิครอนคิดเป็น 89.1% ของการระบาด และ 10.7% สำหรับเดลตา
วันเดียวกันนั้น รายงานการป่วยและการเสียชีวิตของประชากรประจำสัปดาห์ของศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (ซีดีซี) ได้เผยแพร่ผลการศึกษาที่ย้ำว่า โอมิครอนมีอาการรุนแรงน้อยกว่าโควิดสายพันธุ์อื่นๆ
รายงานระบุว่า แม้โอมิครอนทำให้มีผู้ติดเชื้อและผู้เข้าโรงพยาบาลสูงสุดทำสถิติ แต่เปอร์เซ็นต์ผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวในแผนกผู้ป่วยวิกฤต (ไอซียู) ระหว่างการระบาดของโอมิครอนระลอกปัจจุบันลดลง 29% เมื่อเทียบกับการระบาดในช่วงฤดูหนาว และน้อยกว่าช่วงที่เดลตาระบาด 26% ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตระหว่างวันที่ 19 ธันวาคม ถึง 15 มกราคมซึ่งเป็นช่วงที่โอมิครอนระบาดสูงสุดอยู่ที่เฉลี่ย 9 คนต่อผู้ป่วยโควิด 1,000 คน เทียบกับ 16 คนต่อ 1,000 คนในช่วงที่โควิดระบาดสูงสุดในฤดูหนาวก่อนหน้านี้ และ 13 คนต่อ 1,000 คนในช่วงที่เดลตาระบาด
รายงานนี้สอดคล้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลจากแอฟริกาใต้ อังกฤษ และสกอตแลนด์ก่อนหน้านี้
กระนั้น โอมิครอนยังคงสร้างปัญหาในหลายประเทศ วันพุธ (26) เกาหลีใต้รายงานยอดผู้ติดโควิดรายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงก่อนหน้าโดยทำสถิติครั้งใหม่ที่ 13,012 คน หลังจากก่อนหน้านั้นหนึ่งวันเพิ่งทะลุ 8,000 คนเป็นครั้งแรก แม้รัฐบาลขยายมาตรการเว้นระยะห่างสังคมอย่างเคร่งครัดก็ตาม
โอมิครอนกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในเกาหลีใต้นับจากสัปดาห์ที่แล้ว และทางการเตือนว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอาจเพิ่มขึ้นไปอีกเป็น 2-3 เท่าตัวในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
นายกรัฐมนตรีคิม บู-คยุม กล่าวในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันพุธว่า เป้าหมายสำคัญอันดับแรกคือลดจำนวนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต โดยส่วนหนึ่งได้มีความพยายามเพื่อรักษาทรัพยากรไว้สำหรับผู้ป่วยหนักด้วยการลดระยะเวลากักตัวสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วแต่มีผลตรวจโควิดเป็นบวกจาก 10 วัน เหลือ 7 วัน และขยายมาตรการกักตัวรักษาที่บ้านสำหรับผู้ไม่แสดงอาการและมีอาการไม่รุนแรง
การระบาดของโอมิครอนทำให้เกิดความกังวลว่า อาจเกิดการระบาดระลอกใหม่เนื่องจากใกล้ถึงช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ทางจันทรคติที่จะเริ่มต้นในวันเสาร์นี้ (29) ซึ่งประชาชนนับล้านทั่วประเทศจะออกเดินทางกลับไปอยู่กับครอบครัว
วันพุธ ประธานาธิบดีมุน แจอิน เรียกประชุมผู้ช่วยเพื่อตรวจตราการดำเนินการของรัฐบาล และเรียกร้องให้มีการป้องกันชุดตรวจขาดแคลน รวมถึงทำให้มั่นใจว่า มีแพทย์เพียงพอพร้อมให้คำแนะนำตามคลินิกต่างๆ
ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ถือเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโควิด โดยมีผู้ติดเชื้อสะสม 762,983 คน และเสียชีวิต 6,620 คน นอกจากนั้นประชากรวัยผู้ใหญ่กว่า 95% ยังฉีดวัคซีนครบแล้ว และ 58% ได้รับวัคซีนกระตุ้น
ทางด้านเยอรมนี มีการรายงานเมื่อวันพุธว่า ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงก่อนหน้าเพิ่มขึ้นทำสถิติที่ 164,000 คน ขณะที่สภาล่างเตรียมอภิปรายข้อเสนอเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน โดยมีทั้งข้อเสนอที่กำหนดให้ประชาชนวัยผู้ใหญ่ทั้งหมดต้องฉีดวัคซีนโควิด ต้องฉีดเฉพาะกลุ่มที่อายุ 50 ปีขึ้นไปเท่านั้น และแค่กำหนดให้ผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนเข้ารับคำปรึกษา
ทั้งนี้ ชาวเยอรมนีราว 75% ฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งโดส ซึ่งถือว่าน้อยกว่าประเทศในยุโรปตะวันตกด้วยกันอย่างฝรั่งเศส อิตาลี หรือสเปน
แม้เยอรมนีประสบความสำเร็จมากกว่าเพื่อนบ้านในการจัดการวิกฤตโควิดในระยะแรกด้วยการติดตามและกักตัวผู้ติดเชื้อ แต่นับจากฤดูร้อนที่ผ่านมากระแสข้องใจในวัคซีนและการที่ภูมิภาคต่างๆ ละเลยการร่วมมือกัน ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับพุ่งขึ้นขณะที่ประชาชนเริ่มไม่พอใจมาตรการของรัฐบาลมากขึ้น
แกนนำหลายกลุ่มเรียกร้องประชาชนออกไปชุมนุมหน้ารัฐสภาก่อนที่จะมีการอภิปรายข้อเสนอฉีดวัคซีน โดยกลุ่มผู้คัดค้านอ้างว่า การบังคับฉีดวัคซีนขัดต่อมาตราที่ 2 ของรัฐธรรมนูญที่รับประกันว่า พลเมืองมีสิทธิในร่างกายของตนเอง
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)