xs
xsm
sm
md
lg

WHO เตือนโอมิครอนยังอันตราย! แม้ผลวิจัยล่าสุดย้ำเสี่ยงอาการหนักน้อยกว่าเดลตามาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตัวกลายพันธุ์โอมิครอนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ยังคงอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 จากคำเตือนขององค์การอนามัยโลกในวันพุธ (12 ม.ค.) แม้ในขณะเดียวกันมีการเผยแพร่งานวิจัยหนึ่งในสหรัฐฯ ออกมา ซึ่งตอกย้ำผลการศึกษาต่างๆ ก่อนหน้านี้ที่ว่าโอมิครอน ก่อความเสี่ยงติดเชื้ออาการหนักน้อยกว่าตัวกลายพันธุ์เดลตา

องค์การอนามัยโลกระบุว่า เคสผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกกำลังมีตัวกลายพันธุ์โอมิครอนเป็นตัวขับเคลื่อน ในขณะที่มันแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายกว่าตัวกลายพันธุ์เดลตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักของโลกก่อนหน้านี้

ในรายงานที่ส่งมายังองค์การอนามัยโลก พบว่า มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มากกว่า 15 ล้านคนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายล้านเคสที่ไม่ถูกตรวจพบ

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหประชาชาติแห่งนี้เน้นย้ำว่า โลกไม่ควรยอมจำนนต่อตัวกลายพันธุ์โอมิครอน พร้อมปฏิเสธมุมมองที่ว่ามันอาจกลายเป็นเส้นทางที่น่ายินดีสำหรับยุติโรคระบาดใหญ่

"ในขณะที่โอมิครอนก่ออาการเจ็บป่วยรุนแรงน้อยกว่าเดลตา แต่มันยังเป็นไวรัสที่อันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน" ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าวระหว่างแถลงข่าว "เราต้องไม่ปล่อยให้ไวรัสนี้เดินทางไปไหนมาไหนโดยอิสระหรือโบกธงขาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังมีคนอีกมากมายทั่วโลกยังไม่ฉัดวัคซีน" เขากล่าว พร้อมระบุว่า คนไข้จำนวนมากที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล คือคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน

ทีโดรส เน้นย้ำว่า ในขณะที่วัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพป้องกันการเสียชีวิตและติดเชื้อโควิด-19 อาการรุนแรง แต่พวกมันไม่สามารถป้องกันการแพร่เชื้อโดยสมบูรณ์ "การแพร่ระบาดมากขึ้น หมายความว่าจะมีผู้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น มีคนตกงานมากขึ้น ในนั้นรวมถึงครูและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเสี่ยงเกิดตัวกลายพันธุ์อื่นๆ ที่อาจแพร่กระจายเชื้อง่ายกว่าและอันตรายกว่าโอมิครอน"

ในถ้อยแถลง ทีโดรส ระบุด้วยว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลก ทรงตัวอยู่ที่ราวๆ 50,000 คนต่อสัปดาห์ "การเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกับไวรัส ไม่ได้หมายความว่าเราสามารถหรือควรยอมรับตัวเลขเสียชีวิตเหล่านี้" เขากล่าว

คำเตือนของทีโดรส มีขึ้นแม้ว่าในวันอังคาร (11 ม.ค.) ได้มีการเผยแพร่ผลการศึกษาหนึ่งก่อนตีพิมพ์ ซึ่งประมาณการว่าคนไข้ที่ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์โอมิครอนจะเสี่ยงติดเชื้ออาการรุนแรง "ลดลงอย่างมาก" เมื่อเทียบกับตัวกลายพันธุ์เดลตา สอดคล้องกับผลการวิจัยก่อนหน้านี้ที่บ่งชี้ว่า โอมิครอนอาจก่ออาการเจ็บป่วยรุนแรงลดลง

ผลการศึกษาระบุว่า คนไข้ที่ติดเชื้อโอมิครอน มีความเสี่ยงติดเชื้อเข้ารักษาตัวโรงพยาบาลลดลงราว 50% และมีความเสี่ยงที่ถึงขั้นจำเป็นต้องเข้าห้องไอซียูลดลง 75% และมีความเสี่ยงเสียชีวิตน้อยลงราวๆ 90% เมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์เดลตา ซึ่งเคยเป็นสายพันธุ์หลักก่อนหน้านี้

จากคนไข้ราว 52,000 คนที่ติดเชื้อโอมิครอน ไม่มีใครต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเลย ผลการศึกษาระบุ ขณะที่ในคนไข้ตัวกลายพันธุ์เดลตา เกือบๆ 17,000 คน จำเป็นต้องใช้เครื่องหายใจถึง 11 ราย

ระยะเวลาของการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลของผูู้ติดเชื้อโอมิครอน มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่แค่ 1.5 วัน น้อยกว่าเดลตาซึ่งอยู่ที่ราวๆ 5 วัน และในผลการศึกษายังพบด้วยว่า 90% ของคนไข้โอมิครอน สามารถออกจากโรงพยาบาลได้ภายใน 3 วัน หรือสั้นกว่านั้น

การศึกษานี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบสถานพยาบาล ไกเซอร์ เพอร์มาเนนเต เซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน 2021 ถึง 1 มกราคม 2022 อันเป็นช่วงเวลาที่ตัวกลายพันธุ์ทั้ง 2 ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังแพร่ระบาดในวงกว้าง

รายงานใหม่นี้ ซึ่งยังไม่ผ่านการทบทวนของผู้ทรงคุณวุฒิ ดำเนินการโดยบรรดานักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เรีย เบิร์กลีย์ ระบบสถานพยาบาลไกเซอร์ เพอร์มาเนนเตและศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (ซีดีซี)

แพทย์หญิงโรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการซีดีซี เตือนว่า ผลลัพธ์ของการวิจัยนี้ไม่ควรนำไปสู่ความชะล่าใจ เนื่องจากการแพร่ระบาดรวดเร็วมากของโอมิครอน ยังคงก่อภาระหนักหน่วงต่อระบบสาธารณสุขของสหรัฐฯ ที่ตึงเครียดอยู่ก่อนแล้ว และกำลังทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอ่อนแรงอย่างหนัก

ปัจจุบันสหรัฐฯ  กำลังพบเห็นเคสผู้ติดเชื้อเฉลี่ยแล้วราวๆ 750,000 คนต่อวัน และคาดหมายว่าตัวเลขดังกล่าวจะพุ่งเกิน 1 ล้านคนเร็วๆ นี้ และมีคนไข้โควิด-19 รักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 150,000 คน และเสียชีวิตวันละมากกว่า 1,600 ราย

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น