จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ถึงขั้นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลต่างๆ ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นราว 33% และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 40% จากหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้ จากการเปิดเผยของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (ซีดีซี) ในวันพุธ (12 ม.ค.) ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ส่วนใหญ่แล้วยังคงเป็นผลกระทบจากตัวกลายพันธุ์เดลตา
ข้อมูลของซีดีซีพบว่า เวลานี้มีคนไข้โควิด-19 เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ 145,982 คนในวันอังคาร (11 ม.ค.) มากกว่าเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนถึง 2 เท่า และมีคนผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนักถึงขั้นเข้ารักษาตัวในห้องไอซียูอีกเกือบ 24,000 คน
ตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เคยแตะระดับสูงสุดเมื่อราวๆ 1 ปีก่อน โดยตอนนั้นมีคนนไข้โควิด-19 รักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่า 142,000 คนในวันที่ 14 มกราคม 2021 ขณะที่ระหว่างระลอกการแพร่ระบาดของตัวกลายพันธุ์เดลตาในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แตะระดับสูงสุุดเพียง 104,000 รายเท่านั้นในวันที่ 1 กันยายน 2021
แพทย์หญิงโรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการซีดีซี แถลงกับสื่อมวลชนว่า เคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งขับเคลื่อนโดยตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ที่แพร่ระบาดรวดเร็วมาก คาดหมายว่าจะแตะระดับสูงสุดในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า "การเพิ่มขึ้นมากมายขนาดนี้ ส่วนใหญ่แล้วเกี่ยวข้องกับตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งตอนนี้คิดเป็นสัดส่วนราวๆ 90% ของเคสโควิด-19 ทั้งหมดทั่วประเทศ"
จำนวนคนไข้โควิด-19 ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม ในขณะที่โอมิครอนแซงหน้าตัวกลายพันธุ์เดลตา กลายเป็นสายพันธ์หลักของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในสหรัฐฯ แม้พวกผู้เชี่ยวชาญระบุมีความเป็นไปได้ที่โอมิครอนจะมีความอันตรายถึงแก่ชีวิตน้อยกว่าตัวกลายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้
วาเลนสกี บอกว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ดูเหมือนจะเป็นผลกระทบล้าหลังของตัวกลายพันธุ์เดลตา ซึ่งโหมกระพือการแพร่ระบาดในสหรัฐฯ ก่อนหน้าที่จะถูกยึดครองโดยโอมิครอนในเดือนธันวาคม
ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเดลตาและตัวกลายพันธุ์อื่นๆ จะปรากฏออกมาตามหลังอัตราการติดเชื้อหลายสัปดาห์ "เราอาจเห็นผู้เสียชีวิตจากโอมิครอน แต่ฉันสงสัยว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่เรากำลังเห็นอยู่ในตอนนี้ยังคงเกิดจากเดลตา" วาเลนสกี ระบุ พร้อมกล่าวว่า คงต้องใช้เวลาสักพักถึงสามารถเรียนรู้ได้ว่าโอมิครอนจะส่งผลกระทบต่อเคสจำนวนผู้เสียชีวิตในภาพรวมอย่างไร
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเจนซี)