xs
xsm
sm
md
lg

WHO ย้ำ ‘โอมิครอน’ แพร่เร็วกว่าทุกสายพันธุ์ เป็นไปได้ลามในเกือบทุกประเทศทั่วโลกแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



WHO เตือนโอมิครอนแพร่เชื้อรวดเร็วอย่างไม่เคยพบเห็นมาก่อน และเป็นไปได้ว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้ออยู่ในประเทศส่วนใหญ่ของโลกแล้ว นอกจากนั้น ผลศึกษาเบื้องต้นยังชี้ว่า วัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ต่างมีประสิทธิภาพน้อยลงเมื่อต้องรับมือการติดเชื้อและการระบาดจากตัวกลายพันธุ์น่ากังวลล่าสุดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ตัวนี้ รวมทั้งโอมิครอนยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำด้วย

เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงเมื่อวันอังคาร (14 ธ.ค.) ว่า ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนแล้วใน 77 ประเทศ และ “บางที” ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้อาจระบาดไปยังประเทศส่วนใหญ่แล้ว ในอัตราความเร็วที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในตัวกลายพันธุ์ใดๆ ก่อนหน้านี้

สำหรับในสหรัฐฯ ข้อมูลระบุว่า เวลานี้เคสโรคโควิดราว 3% เป็นติดเชื้อตัวกลายพันธุ์โอมิครอน แต่คาดว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ

อเมริกายังคงมีฐานะเป็นชาติที่ถูกโรคระบาดใหญ่คราวนี้เล่นงานหนักหน่วงที่สุด จากตัวเลขที่รวบรวมโดยมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ แสดงว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดในสหรัฐฯ พุ่งทะลุหลัก 800,000 คนเมื่อวันอังคาร (14) ถึงแม้ข้อมูลจากการรวบรวมของแห่งอื่นๆ เช่น สำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่าได้ข้ามหลักหมายอันน่าเศร้าใจนี้มาก่อนหน้านี้ 2-3 วันแล้ว

ส่วนที่ยุโรป ในวันพุธ (15) เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียู แถลงต่อรัฐสภายุโรปว่า เดือนหน้าโอมิครอนอาจกลายเป็นสายพันธุ์หลักในการระบาดในภูมิภาค แต่ยืนยันว่า สหภาพยุโรปมีวัคซีนเพียงพอต่อสู้กับตัวกลายพันธุ์ใหม่นี้

เวลานี้ ยุโรปกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของโควิด-19 โดย 62% ของผู้ติดเชื้อใหม่ในรอบ 7 วันที่ผ่านมาอยู่ในยุโรป และ 5 ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลกล้วนอยู่ในภูมิภาคนี้

ข้ามมาทางด้านเอเชีย กัมพูชาแถลงเมื่อวันอังคารว่า พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนคนแรกเป็นหญิงชาวกัมพูชาวัย 23 ปี ที่ตั้งครรภ์ได้ 15 สัปดาห์ และเพิ่งเดินทางกลับจากกานา โดยแวะต่อเครื่องที่ดูไบและกรุงเทพฯ โดยขณะนี้หญิงสาวผู้นี้รักษาตัวในโรงพยาบาล

ถึงแม้อังกฤษแถลงในวันจันทร์ (13) ว่า พบผู้เสียชีวิตจากโอครอน กลายเป็นประเทศแรกที่ยืนยันเช่นนี้ แต่พวกผู้เชี่ยวชาญยังเห็นว่าหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ว่า ตัวกลายพันธุ์นี้ทำให้ป่วยหนัก นอกจากนั้น เมื่อวันอังคาร WHO ยังตั้งข้อสังเกตว่า แม้เวลานี้แอฟริกาซึ่งเป็นภูมิภาคที่รายงานการระบาดของโอมิครอนก่อนที่อื่นๆ ได้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่อัตราการเสียชีวิตกลับยังต่ำกว่าในการระบาดระลอกก่อนๆ

อย่างไรก็ดี บรูซ ไอล์วาร์ด ผู้เชี่ยวชาญของ WHO เตือนว่า ไม่ควรด่วนสรุปว่า โอมิครอนทำให้ผู้ติดเชื้อป่วยเล็กน้อยเท่านั้น

นอกจากนี้ ในวันพุธ (15) WHO ยังระบุในรายงานระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ว่า ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า วัคซีนโควิด-19 ที่มีกันอยู่ในขณะนี้อาจมีประสิทธิภาพลดลงในการต้านทานการติดเชื้อและการระบาดจากโอมิครอนซึ่งยังเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อซ้ำด้วย แต่ย้ำว่า ยังต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจว่า โอมิครอนมีความสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนหรือการติดเชื้อก่อนหน้าได้ดีแค่ไหน

ข้อมูลดังกล่าวพ้องกับงานศึกษาจากนักวิจัยของโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ที่ทำการทดสอบจากเลือดของผู้ได้รับวัคซีนโมเดอร์นา จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค และพบว่า วัคซีนของทั้ง 3 บริษัทที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ในอเมริกาเหล่านี้ ดูเหมือนมีประสิทธิภาพในการรับมือโอมิครอนน้อยลง แต่มีแนวโน้มว่า หากฉีดเข็มกระตุ้นจะเพิ่มประสิทธิภาพในการต้านทานไวรัสได้ดีที่สุด

งานศึกษาชิ้นนี้ซึ่งยังไม่ได้รับการพิสูจน์ยืนยันจากนักวิจัยอื่นๆ ยังบ่งชี้ว่า โอมิครอนอาจแพร่เชื้อได้มากกว่าเดลตาถึง 2 เท่า ทำให้ตัวกลายพันธุ์ใหม่นี้มีแนวโน้มกลายเป็นสายพันธุ์หลักในการระบาดในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางข่าวร้ายยังมีข่าวดีอยู่บ้าง กล่าวคือเมื่อวันอังคาร อัลเบิร์ต บูร์ลา ประธานบริหารไฟเซอร์ เปิดเผยว่า แพ็กซ์โลวิด ซึ่งเป็นยาเม็ดต้านโควิดของบริษัท สามารถลดความเสี่ยงในการป่วยหนักและเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยงได้เกือบ 90% ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงจากโอมิครอน และเขาคาดว่า แพ็กซ์โลวิดจะได้รับอนุมัติให้ใช้ในอเมริกาอย่างเร็วที่สุดภายในเดือนนี้

(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น